กรุงศรี ออก "พันธบัตรเพื่อผู้ประกอบการหญิง" ปูทางสู่บริบทเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม - Forbes Thailand

กรุงศรี ออก "พันธบัตรเพื่อผู้ประกอบการหญิง" ปูทางสู่บริบทเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันเทรนด์การลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกนั้นนอกจากจะสนใจข้อมูลเรื่องผลตอบแทนแล้ว นักลงทุนยังให้ความสำคัญกับข้อมูลด้าน ESG หรือ Environment, Social และ Governance หรือการที่องค์กรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม, สังคม และธรรมาภิบาล และนำ ESG เข้ามาประเมินเพื่อตัดสินใจลงทุน

นักลงทุนเชื่อว่าการมี ESG ที่ดีนั้นหมายถึงองค์กรนั้นมีการดำเนินงานอย่างประหยัดต้นทุน, มีการบริหารความเสี่ยง ทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าให้องค์กร ซึ่งจะทำให้องค์กรมีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยบริษัทจดทะเบียนชั้นนำระดับโลกหลายแห่งได้นำ ESG มาเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติด้วย

เหตุดังกล่าวทำให้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ กรุงศรี ที่มีพันธกิจคือมุ่งสู่การเป็นสถาบันการชั้นนำระดับอาเซียน ด้วยการเติบโตที่ยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคมและความต้องการของลูกค้า เพิ่มบริบทการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญกับ ESG ซึ่งล่าสุดได้ออก พันธบัตรเพื่อผู้ประกอบการหญิง (Women Entrepreneurs Bonds) เพื่อนำเงินระดมทุนมาเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจ SMEs และผู้ประกอบการหญิง

พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากปี 2016 ที่สหประชาชาติได้ออกหลักเกณฑ์แนะนำการลงทุนอย่างยั่งยืน ที่ระบุว่านอกจากผลตอบแทนทางการเงิน นักลงทุนควรคำนึงถึงผลตอบแทนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้บริษัทชั้นนำหลายแห่งรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ โดยปัจจุบันมีบริษัทที่รับหลักเกณฑ์ของ UN มาใช้แล้วราว 2,000 องค์กร นอกจากนี้ยังมีกองทุนที่รับหลักการดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 400 กองทุนในปัจจุบัน มีมูลค่าทรัพย์สินในกองทุนรวมกว่า 80 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

การเติบโตของการลงทุนที่ผ่านการประเมินมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ระหว่างปี 2006-2018

พันธบัตร (bond) ที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตอย่างยั่งยืนมี 2 ประเภท คือ Green Bond ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ แม้ปัจจุบัน Green Bond จะมีสัดส่วนเพียง 3-4% ของพันธบัตรที่ออกทั่วโลก แต่ก็ถือว่ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดคือ ในปี 2018 มีมูลค่าการออก Green Bond สูงถึง 1.65 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปี 2012 ที่อยู่ที่ 2-3 พันล้านเหรียญ

ขณะที่พันธบัตรอีกประเภทคือ Social & Sustainability Bond ซึ่งยอดรวมการออกบอนด์ประเภทนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1 ของปี 2019 มีการออกบอนด์ประเภทนี้มาแล้วคิดเป็นมูลค่ารวม 1.5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งพันธบัตรเพื่อผู้ประกอบการหญิงของเรานั้นเป็นพันธบัตรที่คำนึงถึงเพศสภาพ (Gender Bond) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Social & Sustain Bond”

พูนสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ กรุงศรี เลือกออกบอนด์นี้ก็เพื่อให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาสามารถบรรลุพันธกิจที่ตั้งไว้ได้ นอกจากนี้เรายังเห็นว่า SMEs เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยมีบริษัทจดทะเบียนเป็น SMEs กว่า 3 ล้านราย ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 12 ล้านตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของ SMEs คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยสถิติจากทั่วโลกพบว่าผู้ประกอบการหญิงมีโอกาาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อยกว่าผู้ชาย จึงทำให้เราอยากเพิ่มความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นการสนับสนุนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเราเป็นองค์กรธุรกิจแรกของเอเชียแปซิฟิกและประเทศแรกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียที่ออก Gender Bond”

พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

สำหรับพันธบัตรเพื่อผู้ประกอบการหญิงรอบนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ขายให้กับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation หรือ IFC) ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกกลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) และ DEG  (Deutsche Investitions und Entwicklungsgesellschaft) ในจำนวนไม่เกิน 150 ล้านเหรียญ และจำนวนไม่เกิน 70 ล้านเหรียญตามลำดับ (รวมแล้ว 220 ล้านเหรียญ หรือราว 7,000 ล้านบาท) โดยธนาคารได้รับเงินจากการขายแล้วเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวมีอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยราว 3%

ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อ SMEs ของธนาคารมีมูลค่ารวม 2.7 แสนล้านบาท และเป็นสินเชื่อส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายย่อย (SME-BB) ที่มีวงเงินให้สินเชื่อที่เป็นบุคคลไม่เกิน 15 ล้านบาท และนิติบุคคลไม่เกิน 20 ล้านบาท อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่จำนวนลูกค้า SMEs ของธนาคารมีอยู่ 26,000 ราย เป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการเป็นผู้หญิง 40% โดยธนาคารคาดว่าภายใน 3 ปี จะสามารถให้สินเชื่อแก่ SMEs ที่มีผู้ประกอบการเป็นผู้หญิงภายใต้วงเงินของพันธบัตรดังกล่าวได้ราว 350 ราย

พูนสิทธิ์ ระบุว่า สำหรับกิจกรรมต้องห้ามในธุรกิจที่ต้องการขอสินเชื่อ ได้แก่ การผลิตหรือการค้าผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายไทยและสากล, การค้าอาวุธ, การค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ยกเว้นไวน์และเบียร์), การค้าบุหรี่, ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพนัน สื่อลามกอนาจาร การค้าประเวณี, ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสิ่งปฏิกูล, ธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหิน, การใช้แรงงานเด็ก, การตัดไม้จากป่าเชิงพาณิชย์ เป็นต้น

กิจกรรมต้องห้ามทำให้ธนาคารต้องมีการประเมินลูกค้าว่าจะไม่ทำสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับธนาคาร แต่ข้อดีคือธนาคารที่เป็นตัวกลางทางการเงินได้ส่งเสริมให้ลูกค้าตระหนักถึงเรื่อง ESG มากขึ้น ซึ่งจะขับเคลื่อนให้ลูกค้ามีการดำเนินงานเพื่อสังคมมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังอยู่ระหว่างศึกษาการออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond เพื่อเป็นการตอกย้ำการเป็นธนาคารที่ให้ความสำคัญกับ ESG และเพื่อให้บรรลุพันธกิจของธนาคารที่ต้องเป็นสถาบันการเงินชั้นนำที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสังคมและความต้องการของลูกค้า

การที่เราหันมาผลักดันการออกพันธบัตรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็เพื่อให้เราเข้าใจถึงกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ และกระบวนการของการออกพันธบัตร เพื่อนำความเข้าใจนี้มาให้ข้อมูลและแนะนำแก่ลูกค้า เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุนของลูกค้า และทำให้องค์กรของลูกค้ามีการเติบโตอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมพูนสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

  อ่านเพิ่มเติม
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine