ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ "ผู้ว่า ธปท." ชี้ เศรษฐกิจไทยไม่ resilient แนะ 7 ทางรอด เร่งสร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้มีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ฟื้นตัวหลังโควิด ห่วงสังคมเหลื้อมล้ำสูง แผลเป็นทางเศรษฐกิจลึก
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 หัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย” (BOT Symposium 2021 : Buiding a resilient Thailand) โดยระบุว่า ปี 2564 เป็นปีที่ท้าทายอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 แต่ไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งพัฒนาด้านเทคโนโลยี การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
“หากประเทศไทยจะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ซึ่งผมขอใช้ทับศัพท์ว่า มี resiliency เราจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกัน” ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุ
อย่างไรก็ตาม หากสังคมไทยจะ resilient ได้ จำเป็นต้องมีลักษะสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) ความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือ ability to avoid shocks (2) ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือ ability to withstand shocks และ (3) ความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว หรือ ability to recover from shocks ซึ่งไทยมีขีดจำกัดในทุกด้าน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ resilient ต่อความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น
เหลื่อมล้ำสูง แผลเป็นทางเศรษฐกิจลึก
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงได้จำกัด เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ไม่มีการกระจายความเสี่ยง พึ่งพาต่างประเทศสูงในทุกมิติ ทั้งการส่งออก ท่องเที่ยว และเทคโนโลยี รวมถึงการพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
และปัญหาสำคัญที่เรากำลังเผชิญ คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่รุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งจะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคเกษตร ที่เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบถึงความมั่นคงด้านอาหารของไทย
ขณะนี้ประเทศพัฒนาแล้ว ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานสินค้า นโยบายการลงทุน และนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เช่น การออกแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยุโรป (European Green Deal) รวมถึงการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกสินค้าของไทยอย่างรวดเร็ว อย่างมาตรการ CBAM จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2023 นี้แล้ว
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัดในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งมีปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และความสามารถในการปรับตัว ทั้งการปรับเปลี่ยนอาชีพ และการปรับเปลี่ยนการผลิตและการตลาด
“ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีเศรษฐกิจนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มเปราะบางจะพึ่งพาเศรษฐกิจนอกระบบ ทั้งครัวเรือนยากจน แรงงานอิสระ และเอสเอ็มอี” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว
รวมทั้งความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงยังมีปัจจัยด้านสังคม โดยเฉพาะเรื่องความสมานฉันท์ ในระดับชุมชน เครือข่ายทางสังคมมีบทบาทในการช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ทั้งด้านเงินทุน แรงงาน และถ่ายทอดเทคโนโลยี
ในระดับประเทศความสามารถในการประนีประนอม จะช่วยสร้างฉันทามติในการดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อเยียวยาปัญหาสังคมและเศรษฐกิจไทย แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความแตกต่างทางความคิดนำไปสู่ความขัดแย้งที่ฝังลึก และมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งบั่นทอนกลไกในการสร้าง resilient ของสังคมไทย
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ประการสุดท้าย เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบที่จำกัด วิกฤตที่เกิดขึ้นจึงสร้างแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ลึก ทำให้ครัวเรือนไทยใช้เวลานาน เหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งขนาดของสินทรัพย์ครัวเรือนและธุรกิจที่ลดลง ทักษะแรงงานที่ลดลง และหนี้สินที่พอกพูนจนเกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้ความสามารถในการบริโภคและลงทุนต่ำ
“การที่กลุ่มเปราะบางได้รับกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำที่สูง ทำให้ความร้าวฉานในสังคมให้ลึกลงไปอีก ไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากการฟื้นตัวไม่เท่าเทียม มีความเสี่ยงที่ความตึงเครียดทางสังคมที่สูงขึ้นในอนาคต”
แนะ 7 ทางรอดสังคมไทย
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า การจะทำให้เศรษฐกิจไทย resilient ต่อความท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องเพิ่มความสามารถ 3 ด้านข้างต้น คือ 1 เพิ่มความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบ 2 เพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ และ 3 เพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบ ซึ่งขอเสนอแนวทาง 7 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.ต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี บูรณาการข้อมูล และองค์ความรู้ มีการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (scenario analysis) โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมมือกันให้ความรู้ ข้อมูลอย่างครบถ้วน หรือจัดหาแพลตฟอร์มในการดำเนินการ
2.ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต เช่น การเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยี สังคมสูงวัย และภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป โดยภาครัฐมีบทบาทในการออกนโยบายเพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ความยั่งยืน
3.ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพื้นที่ ลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป เพิ่มการกระจายไปสู่ภูมิภาค โดยภาครัฐมีบทบาทจูงใจให้เอกชนลงทุนในกิจกรรมและพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
4.ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้กิจกรรมนอกระบบมาอยู่ในระบบมากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ ให้ทุกธุรกิจและแรงงานได้รับความช่วยเหลือทันท่วงทีในยามวิกฤต โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานและธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ
5.ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในเชิงโอกาส การเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา อาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสำคัญทั้งในการกำกับดูแล ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงไม่สร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม
6.สร้างโครงข่ายความคุ้มครองในทุกระดับ ทั้งเครือข่ายการผลิต ภาคการเงิน เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดในยามวิกฤต เน้นบทบาทของภาคเอกชนในการดำเนินการเพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบ
7.ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว การฝึกทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง การปรับโครงสร้างหนี้ ไกลเกลี่ยหนี้ และล้มละลายที่เป็นธรรม
“แนวทางดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่ง ธปท.มีบทบาทในการส่งเสริมให้สังคมไทย resilient ต่อความท้าทายต่างๆ โดยการดำเนินนโยบายที่รักษาเสถียรภาพการเงินและระบบสถาบันการเงิน ส่งเสริมความเข้าใจทางการเงินให้ครัวเรือนและธุรกิจไทย ให้เข้าถึงทางการเงินได้มากขึ้น เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างระบบนิเวศให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวทิ้งท้าย
อ่านเพิ่มเติม: เอพี ไทยแลนด์ เปิดตัว NEIGHBOR SERVICE มาร์เก็ตเพลสสร้างรายได้รูปแบบใหม่
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine