ปวิณ ภิรมย์ภักดี ประกาศแผนตั้งเป้าดันยอดขายรวมเครือบางกอกกล๊าส เติบโตสองเท่าเป็น 3 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี
บางกอกกล๊าสประกาศแผนการเติบโต ตั้งเป้าดันยอดขายรวมของทั้งเครือเติบโตสองเท่าเป็น 3 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี ตั้งงบลงทุน 3 ปี 7 พันล้านสูงสุดในรอบ 40 ปี เน้นซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ เตรียมเทกโอเวอร์ผู้ผลิตแผ่นยิปซัมบอร์ด ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจก่อสร้างที่เพิ่งลงทุนไป 5 พันล้าน เปิดสายการผลิตกระจกแผ่นผงาดขึ้นเป็นรายที่สามของประเทศ เตรียมยื่นไฟลิ่งนำธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมษายนนี้
ปวิณ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มบางกอกกล๊าสหรือ BG ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย กำลังเดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ๆ อาทิ พลังงานทดแทน วัสดุก่อสร้าง และบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นๆ เพื่อเดินตามนโยบายกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ที่หันมาเน้นการเจริญเติบโต และการพัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยง
“ถ้าไม่กระจายความเสี่ยงคงจะเป็นการยากที่จะเติบโต ตามนโยบายบริษัทแม่ (บุญรอดบริวเวอรี่) ที่ต้องการให้มีการขยายให้ครอบคลุมภาพรวมมากขึ้น แทนที่จะเน้นในธุรกิจหลักที่มีอยู่ในปัจจุบัน”
BG ตั้งเป้ายอดขายรวมทั้งกลุ่มในปีนี้ 1.6 หมื่นล้านบาท เติบโตไม่น้อยกว่า 10% จากปี 2560 และอัตรากำไรสุทธิ (net profit margin) 4-5% โดยปัจจุบันธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วที่ดำเนินการภายใต้ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (BGC) ยังทำรายได้หลักให้มีสัดส่วนประมาณ 75-80% ของทั้งเครือ
ปวิณกล่าวว่าจากที่ผลประกอบการค่อนข้างจะทรงตัวในปีทีผ่านมา BG เล็งเห็นการเติบโตในระดับสองหลักในปีนี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากภาวะตลาดที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะธุรกิจบรรจุภัณฑ์ซึ่งตลาดเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเครื่องดื่มทั้งที่มีแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร
ในส่วนของธุรกิจกระจกแผ่นซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ได้ลงทุนไป 5 พันล้านบาท ได้เปิดสายการผลิตและเริ่มจำหน่าย 2-3 เดือนที่ผ่านมาคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งธุรกิจกระจกแผ่นเป็นการเปิดทางเข้าสู่ธุรกิจวัสดุก่อสร้างที่บริษัทสนใจเข้าไปทำอาทิ วัสดุพื้น ผนัง และเพดาน ซึ่งรวมถึงแผ่นยิมซั่มบอร์ดที่กำลังมองโอกาสในการเทกโอเวอร์ หรือเข้าร่วมลงทุนกับผู้ผลิตในปัจจุบัน
“การลงทุนใหม่แบบกรีนฟิลด์สำหรับเราถือว่าเพียงพอแล้ว ถือว่าเป็นการเสียโอกาสในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากมีโอกาสที่จะเทกโอเวอร์หรือ joint venture เราก็จะทำ”
ในส่วนของแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ BGC จะยื่นไฟลิ่งเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงจากแผนเดิมในปี 2514 ที่จะนำ BG ทั้งกรุ๊ปเข้าตลาด เนื่องจากนักลงทุนให้ความสนใจใน BGC ซึ่งมีลูกค้าชัดเจนคือกลุ่มบุญรอด หรือสิงห์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 62% ในบริษัทบางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) ที่ปัจจุบันถือหุ้น 100% ใน BGC โดยบุญรอดซื้อขวดแก้วและบรรจุภัณฑ์ต่างๆคิดเป็น 45% ของยอดขายรวม BCG
ในส่วนของพลังงานทดแทนนั้นเริ่มต้นจากโครงการที่ใช้ภายในกลุ่มบริษัท อาทิ โซลาร์รูฟ และ waste-heat energy ที่เอาพลังความร้อนจากเตาผลิตแก้วของบริษัทมาผลิตเป็นไอน้ำและพลังงานประเภทอื่น จะมีการขยายการลงทุนผ่านการซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศซึ่งน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีนี้
“ยุคนี้มีแค่ 2 อย่าง ถ้าไม่ยึดติดกับธุรกิจหลักก็ต้องขยายธุรกิจในกลุ่ม แต่สายธุรกิจเราโดนจำกัด อย่างแอลกอฮอล์ อาหาร อสังหาฯ โลจิสติกส์ ที่เครือมีทำอยู่แล้วเราก็ไม่สามารถเข้าไปได้” ปวิณกล่าวทิ้งท้าย