บีโอไอ เคาะลงทุนกว่า 4 หมื่นล้าน พร้อมหนุนอุตสาหกรรมเกษตรหมุนเวียน BCG - Forbes Thailand

บีโอไอ เคาะลงทุนกว่า 4 หมื่นล้าน พร้อมหนุนอุตสาหกรรมเกษตรหมุนเวียน BCG

บอร์ด บีโอไอ ไฟเขียวโครงการลงทุนขนาดใหญ่กว่า 4 หมื่นล้านบาท ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เม็ดพลาสติกชีวภาพ และบางกอก อารีน่า หอประชุมขนาดใหญ่ หนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดประชุม พร้อมอนุมัติกิจการใหม่ “โรงงานผลิตพืช” ยกระดับภาคเกษตรตามแนวทาง BCG ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 41,834 ล้านบาท ได้แก่ โครงการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles-BEV) ของ กลุ่มบริษัท สามมิตร เงินลงทุน 5,500 ล้านบาท มีกำลังผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปีละประมาณ 30,000 คัน โครงการผลิตไฟฟ้าจากกากน้ำมัน (PITCH) ขนาด 250 เมกะวัตต์ ของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เงินลงทุนรวม 24,113 ล้านบาท โครงการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด PET (FOOD GRADE) ของ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 2,476 ล้านบาท โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติของ บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนหอประชุมขนาดใหญ่ของ บริษัท บางกอก อารีน่า จำกัด เงินลงทุน 3,745 ล้านบาท เพื่อช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว และส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรม MICE ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ที่ถนนบางนา-ตราด กรุงเทพมหานคร “ในช่วง 4 - 5 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยและทั่วโลก ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แต่ยังมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีการยื่นคำขอรับการส่งเสริมเข้ามาจำนวนมาก ทั้งในแง่จำนวนโครงการ และมีมูลค่าการลงทุนสูง เฉพาะเดือนพ.ค.เดือนเดียว มียอดคำขอรับการส่งเสริมเท่ากับ 3 เดือนแรกรวมกัน” ดวงใจกล่าว ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สมาร์ท อิเล็กทรอนิกส์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้ง่การส่งเสริมบริษัทคนไทยในประเทศด้วย ซึ่งจากการสอบถามกับบริษัทผู้ผลิตมียอดคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับกลยุทธ์ด้านซัพพลายเชนของผู้ผลิตทั่วโลกในการโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งไทยมีความแข็งแกร่งด้านซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังได้เห็นชอบให้มีการปรับสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรตามแนวคิด BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมเกษตร โดยบีโอไอได้ปรับปรุงประเภทกิจการ เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ ดังนี้ 1.เพิ่มประเภทกิจการด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ กิจการโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ที่มีการเพาะปลูกโดยมีระบบควบคุมสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ชีวภาพ ในโรงเรือนแบบปิด และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งกิจการนี้จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทยให้ทันสมัย เพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพและสามารถนำไปต่อยอดได้ 2.การปรับปรุงประเภทกิจการที่มีอยู่เดิม ซึ่งบีโอไอให้การส่งเสริมอยู่ประมาณ 30 ประเภท โดยได้ปรับปรุงบางกิจการให้สอดคล้องกับการยกระดับการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น กิจการผลิตอาหารสัตว์ ส่วนผสมอาหารสัตว์ โดยปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น และต้องยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร หรือ ฟู้ดเซฟตี้ กิจการคัดคุณภาพพืช ผัก และผลไม้ ช่วยยกระดับผู้ประกอบการเดิม รวมถึงกิจการห้องเย็น ที่กำหนดให้ต้องใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อ่านเพิ่มเติม: "โกลเบล็ก" มองดัชนีหุ้นไทยผันผวนตามตลาดโลก แนะลงทุนหุ้นคำนวณดัชนี FTSE-SET50-SET100