บีโอไอ ชี้แนวโน้มการลงทุนปี 64 อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG รุ่ง ทั้งเทคโนโลยีชีวภาพ เกษตรและเกษตรแปรรูป รวมทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เผยยอดคำขอลงทุนปี 2563 มูลค่า 4.8 แสนล้านบาท ลดลง 7% ออกมาตรการส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเพิ่ม
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในปี 2564 บีโอไอยังคงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมในกลุ่ม BCG ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามนโยบายรัฐบาล กระจายอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ เกษตรและแปรรูปอาหาร รวมถึงบางกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ ทั้งนี้ ปี 2563 อุตสาหกรรมในกลุ่ม BCG มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ มีมูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 233% อุตสาหกรรมการแพทย์ มีมูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 165% และอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มีมูลค่า 4.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปี 2562 “บีโอไอจะมุ่งส่งเสริมธุรกิจที่มีเทคโนโลยี ธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแนวทาง BCG ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล โดยจะพิจารณาแก้ไข ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กิจการที่เกี่ยวข้อง เช่น กิจการผลิตอาหารสัตว์ กิจการที่นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตสินค้า รวมทั้งมุ่งยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการผ่านการให้สิทธิประโยชน์ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต” ดวงใจกล่าว สำหรับมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือมีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยบีโอไอยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนปีนี้ เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในภาพรวม ตัวเลขลงทุนปี 63 ลดลง 7% เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า ตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2563 มีมูลค่ารวม 4.8 แสนล้านบาท ลดลง 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ไม่นับรวมโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง ที่ยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2562 มูลค่ากว่าแสนล้านบาท ส่วนจำนวนโครงการที่ยื่นคำขอมี 1,171 โครงการ เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2562 มีจำนวน 1,523 โครงการ เป็นคำขอลงทุนในพื้นที่อีอีซี 453 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท อยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 17 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริม SMEs 67 โครงการ เพิ่มขึ้น 20% ส่วนใหญ่เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องด้านการแพทย์ เช่น การผลิตหน้ากากอนามัย ถุงมือยาง เป็นต้น สำหรับตัวเลขคำขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็นสัดส่วน 44% จากมูลค่าคำขอโดยรวม โดยญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าคำขอ 7.6 หมื่นล้านบาท รองลงมา คือ จีน 3 หมื่นล้านบาท รวมฮ่องกง 1.6 หมื่นล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ยานยนต์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามการค้า ที่ทำให้มีการย้ายฐานผลิตจากจีนมาไทยมากขึ้น เพิ่มสิทธิประโยชน์บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ดวงใจ กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ดบีโอไอวันที่10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 100% ของวงเงินลงทุน เพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการไทย เสริมสร้างความเข้มแข็งในตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นคำขอได้ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565 ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวได้สิ้นสุดไปเมื่อปีที่ผ่านมา แต่มีผู้ประกอบการสนใจไม่มากนัก มีผู้มายื่นคำขอ อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนพลาสติก อาหาร โครงสร้างโลหะ อุปกรณ์ก่อสร้าง กิจการเดินเรือ ผลิตเครื่องจักร เป็นต้น ส่วนใหญ่จะจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอ อ่านเพิ่มเติม: วอลล์สตรีท อิงลิช พลิกวิฤกตโควิด19 ปรับหมวดธุรกิจ สู่ 3 แพลตฟอร์มใหม่ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพบีโอไอชี้แนวโน้มลงทุนกลุ่ม BCG รุ่งจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine