บอนด์ต่างประเทศ :ลงทุนรับความเสี่ยงโลก
กูรูด้านการลงทุนแนะตราสารหนี้ต่างประเทศ ทางเลือกบาลานซ์พอร์ตลงทุนยุคเศรษฐกิจโลกผันผวน พร้อมรับผลตอบแทนความเสี่ยงต่ำรับทิศทางเฟดขาขึ้น
“อย่าใส่ไข่ในตะกร้าใบเดียว” ประโยคสุดคลาสสิคในโลกแห่งการลงทุนที่ไม่จำกัดเฉพาะในประเทศหรือตราสารใดตราสารหนึ่งเท่านั้น นอกจากโอกาสการลงทุนในหุ้นทั่วโลกแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนไทยยังแนะนำทางเลือกการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและสามารถคาดการณ์อัตราผลตอบแทนล่วงหน้าได้
วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ แนะนำการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพระดับน่าลงทุน (Investment Grade) ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับตราสารหนี้คุณภาพระดับต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (High Yield) ของสหรัฐอเมริกา และยุโรป เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนในภาวะการเมืองและเศรษฐกิจโลกผันผวน รวมถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปของธนาคารสหรัฐฯ (FED) ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่เช่นกัน
"การลงทุนในตราสารหนี้ นอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนแล้ว ยังเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคงที่ และสม่ำเสมอ ซึ่งหากว่าผู้ลงทุนถือครองตราสารหนี้ ตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ผลตอบแทนล่วงหน้าได้" พอล โฮเดส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการลงทุนบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กล่าว
นอกจากนั้น การลงทุนในตราสารหนี้ เป็นการลงทุนที่ปลอดภัย และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนอื่นๆ เช่น การลงทุนในหุ้นที่ได้ผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท และการลงทุนในตราสารหนี้ยังมีอัตราเงินปันผลที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในปัจจุบัน
ขณะที่ ชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกช่วงอายุตามแรงขายทำกำไร จากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม และจีดีพีไตรมาส 3 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ตลอดจนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลฝั่งยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นและแนวโน้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มีความชัดเจนมากขึ้น
“สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้จะเป็นแนวโน้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลก แนวโน้มราคาน้ำมัน ผลกระทบของ Brexit ต่อ EU และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ"
ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคม แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ