บลจ.วี ตั้งเป้า AUM 3 ปี 1 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิด IPO กองทุน WE-GTECH ลงทุนหุ้นเทคโนโลยี - Forbes Thailand

บลจ.วี ตั้งเป้า AUM 3 ปี 1 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิด IPO กองทุน WE-GTECH ลงทุนหุ้นเทคโนโลยี

น้องใหม่ในเครือ KTBST “บลจ.วีเปิดตัวทีมผู้บริหาร ชูจุดยืนออกแบบผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ทุกกลุ่มนักลงทุน ตั้งเป้า AUM 3 ปี 1 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิดขาย IPO กองทุน WE-GTECH ลงทุนหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลก

เกศรา มัญชุศรี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (บลจ.วี) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกองทุนในไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2518 ที่ผ่านมามี บลจ.ใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ ...มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้ง บลจ. ทำให้การจัดตั้ง บลจ.ทำได้ง่ายขึ้น และมี บลจ.เกิดใหม่เพิ่มขึ้น โดยในสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทยมี บลจ.อยู่ทั้งสิ้น 23 บริษัท

ไม่เพียงจำนวนที่มากขึ้น แต่ขนาดก็ใหญ่ขึ้นด้วย โดยปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าสินทรัพย์ที่บริหารอยู่ในกองทุน หรือ AUM (Asset Under Management) อยู่ที่ 4.2 ล้านล้านบาท เติบโตกว่าเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน นอกจากนี้ พบว่าผู้สนใจลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับจำนวนผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนและเครื่องมือช่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น

มูลค่าสินทรัพย์ที่บริหารอยู่ในกองทุนไทย

เกศรา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อุตสาหกรรมกองทุนจะเติบโต แต่ปัญหาคือทำอย่างไรผู้ลงทุนจึงจะมีวิธีการลงทุนหลายประเภทแล้วให้ผลตอบแทนดี เราจึงจั้ดตั้ง บลจ.วี ขึ้นมาเพื่อเติมเต็มในการเลือกกองทุนประเภทต่างๆ ให้ลูกค้า พร้อมสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าด้วยการทีมผู้บริหารที่อยู่ในวงการการลงทุนมามากกว่า 20 ปี มีประสบการณ์ที่จะนำมาใช้ในการดูแลนักลงทุนได้

เกศรา มัญชุศรี
 

ตั้งเป้า 3 ปี AUM 1 หมื่นล้านบาท

งามนภา ธวัชโชคทวี กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บลจ.วี กล่าวว่า บลจ.วีจัดตั้งขึ้นโดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST ถือหุ้น 51% ส่วนอีก 49% ถือหุ้นโดยคณะผู้บริหาร ทั้งนี้ เรามีความมุ่งมั่นที่จะออกแบบการลงทุนให้ลูกค้า โดยเน้นไปที่การสร้างผลตอบแทนที่ดีและต่อเนื่อง

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเรามี 4 กลุ่ม คือ นักลงทุนทั่วไป กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่, นักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน และกลุ่มนักลงทุนสถาบัน โดยเรานำเสนอผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.Traditional Investment Fund เช่น กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ 2.Alternative Investment Fund เช่น Complex Return Fund, Structure Fund และ 3.กองทุน Exchange Trader Fund บนปรัชญา We design your wealth, We grow together คือการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน ให้ความมั่งคั่งของลูกค้าเติบโตไปพร้อมกับเรา

งามนภา ธวัชโชคทวี

งามนภาระบุอีกว่า บลจ.วีได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเสนอขายไปแล้ว 7 กองทุนผ่านตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน (Sell agent) คือ KTBST โดย วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บลจ.วีมี AUM อยู่ที่ 3.196 พันล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ 88.07% และกองทุนรวมต่างประเทศ 11.93% อยู่ในอันดับที่ 19 จากจำนวน 23 บลจ. ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมาย

สำหรับปีนี้บริษัทตั้งเป้าขยาย AUM ให้เติบโตสู่ 6.7 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบรรลุเป้าไปแล้ว 48% และตั้งเป้า AUM ที่ 1 หมื่นล้านบาทในปี 3 ปีข้างหน้า หรือเติบโต 20% และ 50% ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ

 

บลจ.วี ขนาดไม่ใหญ่ คล่องตัวสูง

อิศรา พุฒตาลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.วี กล่าวว่า จุดเด่นของเราที่ทำให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมได้ คือ เรายึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และมองการเติบโตไปพร้อมกับลูกค้า ซึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงต้องอาศัยประสบการณ์และวินัยในการลงทุน ซึ่งทีมงานของ บลจ.วี มีความพร้อมในส่วนนี้ เนื่องจากเราผ่านวัฏจักรตลาดทุนมาแล้วทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ การเป็น บลจ.ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากทำให้ตอบสนองต่อภาวะตลาดได้อย่างรวดเร็ว หากมีโอกาสในการลงทุนจึงสามารถออกกองทุนเพื่อจับจังหวะในการสร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้าได้ทันที

อิศรา พุฒตาลศรี
 

หันลงทุนอย่างอื่นแทนตราสารหนี้

นิตยา เลิศแสงเพชร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์และช่องทางบริการ บลจ.วี กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าของเรา 20% เป็นลูกค้าองค์กร ส่วนอีก 80% เป็นลูกค้าบุคคล (แบ่งเป็นลูกค้ากลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth : HNW) 60% ลูกค้าทั่วไป 20%) ซึ่งเรามองว่าปัจจุบันลูกค้ารายย่อยนั้นมีความรู้และมีความต้องการหาโอกาสการลงทุนมากขึ้น ดังนั้น ส่วนที่จะช่วยผลักดันให้ AUM เราเพิ่มขึ้นน่าจะมาจากลูกค้าบุคคลมากกว่า

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันเราขายกองทุนผ่านระบบ FundConnext ซึ่งรองรับช่องทางการขายได้หลายช่องทาง ทั้งด้านตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน และการเชื่อมต่อกับฟินเทค (FinTech) และนอกจากนี้ในอนาคตเราจะขายผ่าน Streaming for Fund และอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเข้าถึงการลงทุนง่ายขึ้น โดยคาดว่าสามารถเริ่มให้บริการได้ในปลายปีนี้

นิตยาระบุอีกว่า สำหรับมาตรการเก็บภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่จะมีผลวันที่ 20 สิงหาคมนี้ มองว่าในขั้นต้นไม่มีผลทำให้ AUM ปรับลดลงมากนัก เพราะถึงแม้ตราสารหนี้จะเป็นการลงทุนที่มีสัดส่วนเกือบ 50% ของ AUM ในไทย แต่นักลงทุนน่าจะหาการลงทุนอื่นทดแทนตราสารหนี้ และทำให้เราจะเห็นโปรดักต์ใหม่ๆ แทนตราสารหนี้มากขึ้น

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา บลจ.วีมีกองทุนตราสารหนี้ 2 กอง คือ Money Market ที่ผลตอบแทนอาจลดลงบ้างจากภาษีที่เพิ่มขึ้น และอีกกองทุนคือ Fixed Income ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะหันมาหาตราสารที่ยังให้ผลตอบแทนน่าจูงใจอยู่

นิตยา เลิศแสงเพชร

สำหรับ บลจ.วี ในช่วงครึ่งปีหลังมีแผนในการออกกองทุนรวมอีกประมาณ 12 กองทุน ได้แก่ กองทุนทางเลือกทดแทนกองทุนตราสารหนี้ ประเภท Term Fund, กองทุนตราสารทุน ประเภท Global Security Fund, กองทุนต่างประเทศ ที่เน้นการจัดสินทรัพย์การลงทุนประเภท Global Multi Asset Income Fund และกองทุนตราสารทุน เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการลูกค้าในการจัดสรรพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมในปีนี้

 

เปิดขาย IPO กองทุนที่ลงทุนในหุ้นเทคฯ

นิตยากล่าวอีกว่า วันนี้ - 7 สิงหาคม 2562 บริษัทเสนอขาย IPO กองทุนเปิด วี โกลบอลเทคโนโลยี (WE-GTECH) ซึ่งเป็นกองทุนที่เชื่อว่าการลงทุนในเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ผู้ลงทุนควรจัดสรรอยู่ในพอร์ตการลงทุน จากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคตามกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งธุรกิจต่าง มีการปรับตัวใช้เทคโนโลยีเติมเต็มธุรกิจเพื่อตอบสนองผู้บริโภค

ขณะเดียวกันการคัดเลือกหุ้นเทคโนโลยีจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถวิเคราะห์แนวโน้มการทำธุรกิจของหุ้นเทคฯ ว่าสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและบริหารความเสี่ยงได้ดี บลจ.วี จึงคัดเลือก POLAR CAPITAL ASSET MANAGEMENT ซึ่งเป็นผู้นำด้านการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีที่ในยุโรปเป็นผู้บริหารกองทุนดังกล่าว ซึ่งเน้นการลงทุนในต่างประเทศในหุ้นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตของรายได้และกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ

  อ่านเพิ่มเติม     รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine