ธปท. แนะกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน ถมหลุมรายได้คนไทย - Forbes Thailand

ธปท. แนะกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน ถมหลุมรายได้คนไทย

ผู้ว่าแบงก์ชาติ มองเศรษฐกิจไทยกระทบหนัก เกิดหลุมรายได้ขนาด 2.6 ล้านล้านบาท ว่างงานกว่า 3.4 ล้านคน ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาค และไม่เท่าเทียม เหตุฉีดวัคซีนล่าช้า แนะกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท แก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว เน้นตรงจุด เร่งคุยสถาบันการเงินจูงใจปรับโครงสร้างหนี้

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงกว่าที่คาด และแสดงอาการที่น่ากังวล 4 ด้าน อาการแรก คือรายได้ครัวเรือนที่หายไป เกิด “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย โดยประเมินว่าระหว่างปี 2563 – 2565 หลุมรายได้ที่เกิดขึ้นอาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท เป็นรายได้จากการจ้างงานในปี 2563 – 2564 รวม 1.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7 แสนล้านบาท และรายได้จากการจ้างงานในปี 2565 อีก 8 แสนล้านบาท อาการที่สอง การจ้างานถูกกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกิจการในภาคบริการ ข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีผู้ว่างงาน หรือเสมือนว่างงาน (ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมง/วัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคนในสิ้นปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 1 ล้านคน สะท้อนถึงการจ้างงานที่มีปัญหา นอกจากนี้ยังมีผู้ว่างงานระยะยาวเพิ่มขึ้น 1.7 แสนคน (ว่างงานเกิน 1 ปี) เพิ่มขึ้นจากก่อนโควิด 3 เท่า กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ว่างงาน 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้น 8.5 หมื่นคนจากช่วงก่อนโควิด และมีกลุ่มแรงงานที่ย้ายกลับถิ่นฐานอีก 1.6 ล้านคน ซึ่งแม้จะมีงานทำ แต่มีรายได้ลดลง อาการที่สาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง เป็นแบบ K-shaped อย่างภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวสูงกว่าช่วงโควิด ซึ่ง ธปท.คาดว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 17 แต่มีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานน้อยมาก คิดเป็นร้อยละ 8 เทียบกับแรงงานในภาคบริการที่ยังไม่ฟื้นตัคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ทำให้สถานการณ์ของครัวเรือนไทยยังเปราะบาง อาการที่สี่ ไทยได้รับผลกระทบจากโควิด 19 หนักกว่าและฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวถึงร้อยละ 11-12 ของจีดีพี และเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการฟื้นตัวถึง 3 ปีที่จะกลับไปสู่ช่วงก่อนโควิด ขณะที่ประเทศไทยในเอเชียใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี ซึ่งไตรมาสแรกของปีนี้หลายประเทศจีดีพีฟื้นตัวสูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว ขณะที่ไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าโควิดถึงร้อยละ 4.6 ฉีดวัคซีนล่าช้าต้นตอปัญหา ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นจากโควิด 19 เป็นปัญหาของระบบสาธารณสุข โดยมีวัคซีนเป็นพระเอก ประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำมากอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเพียงร้อยละ 7 ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ มีอัตราการฉีดวัคซีน 2 เข็มสูงกว่าไทย เช่น มาเลเซีย ร้อยละ 31 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 11 อินโดนีเซีย ร้อยละ 10 “ปัญหา คือ เชื้อโรค ต้องแก้ด้วยวัคซีน วัคซีนเป็นพระเอก อย่างอื่นทำให้ตายก็ไม่จบ ไทยฉีดวัคซีนต่ำกว่าที่อื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วเข้าใจได้ แต่เทียบกับเพื่อนบ้านของเราก็ยังต่ำมาก ในฐานะที่เราต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวและบริการ ยิ่งจำเป็นต้องฉีดให้สูง มาตรการอื่น ๆ ทำได้แค่ซื้อเวลา การฉีดวัคซีนสำคัญที่สุด” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์หนักกว่าที่คาดไว้ จากเดิมในไตรมาสแรกของปีนี้ คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวร้อยละ 3 ซึ่งขณะนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2.9 หมื่นราย ช่วงกลางปี เจอระลอกสาม มีผู้ติดเชื้อ 4 - 5,000 ราย ได้ปรับลดจีดีพีลงเหลือขยายตัวร้อยละ 1.8 ปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อเกิน 2 หมื่นรายต่อวัน และมีมาตรการล็อกดาวน์ จึงได้ปรับจีดีพีเหลือขยายตัวร้อยละ 0.7 ซึ่งคาดว่าเป็นตัวเลขที่เป็นไปได้ เนื่องจากยังมีภาคการส่งออกเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ให้ยังเติบโตได้

กู้เพิ่ม 1 ล้านล้านแก้ปัญหาตรงจุด

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดในตอนนี้ คือการใช้มาตรการการคลัง เข้าไปพยุงเรื่องรายได้ของครัวเรือน เช่น โครงการคนละครึ่ง หรือการค้ำประกันสินเชื่อ ถือเป็นมาตรการที่ตรงจุด มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง และเพิ่มแบบทวีคูณ เป็นมาตรการที่ตรงจุดกว่ามาตรการเยียวยา และต้องออกมาตรการให้เร็ว ซึ่งจากการประเมินว่าหลุมรายได้ที่หายไปมีขนาด 2.6 ล้านล้านบาท ภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มเม็ดเงินกระตุ้นทางการคลังเพื่อเพิ่มรายได้ของประชาชนอีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อจีดีพีร้อยละ 7 “การกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท จะทำให้เพดานหนี้สาธารณต่อจีดีพีเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ในปี 2567 ซึ่งมองว่ากู้เพิ่มวันนี้ดีกว่ากู้ภายหลัง การกู้เงินเพิ่มเติมในวันนี้จะทำให้จีดีพีกลับมาโตได้เร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะยาวจะลดลงได้เร็วกว่าไม่กู้ ถือว่าสมเหตุสมผล และที่ต้องทำคือการเพิ่มฐานภาษี อย่างภาษีมูลค่าเพิ่มปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7 เก็บเพิ่มทุก 1 เปอร์เซนต์ จะมีรายได้เข้ารัฐกว่า 6 หมื่นล้านบาท” ดร.เศรษฐพุฒิระบุ สำหรับมาตรการการเงินของ ธปท.ที่ผ่านมา เน้นการช่วยเหลือปูพรมเป็นวงกว้าง แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น การฟื้นตัวอย่างไม่เท่าเทียมในแต่ละอุตสาหกรรม ทำให้ต้องปรับมาตรการใหม่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และใช้เวลานานกว่าที่คาด โดยต้องใช้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แทนการพักหนี้ ซึ่งธปท.อยู่ระหว่างพูดคุยกับสถาบันการเงินในการสร้างแรงจูงใจให้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในอนาคต “มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะออกมา ต้องมี 5 ลักษณะ คือ เป็นมาตรการยาว ตรงจุด เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย ขยายในแนวกว้างมากขึ้น เน้นรอดไปด้วยกัน ที่สำคัญมาตรการต้องไม่สร้างแรงจูงใจผิดๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เรามีบทเรียนแล้วจากวิกฤตปี 40 ถ้าเราให้ยาไม่ตรงจุด จะเกิดอาการข้างเคียง สร้างปัญหาอีกสารพัด อยากเห็นการแก้ไขปัญหา ที่ทุกคนช่วยกันออกแรง จะให้ภาครัฐออกแรงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน ภาครัฐ เอกชน ประชาชน ทุกฝ่ายมีส่วนจริง ๆ ในการแก้ปัญหาครั้งนี้” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: กระทบหนัก! ธุรกิจอสังหาฯ รับพิษโควิด ขอจัดสรรวูบ -46%
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine