ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจเดือนมีนาคม – เมษายน เห็นสัญญาณการบริโภคที่ชะลอตัวลง หลังค่าครองชีพสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ขณะที่การส่งออกเริ่มแผ่วจากปัญหาสงครามรัสเซีย – ยูเครนส่งผลต่อต้นทุนการผลิต
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2565 พบว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม ชะลอตัวลงเล็กน้อย จากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงทั้งการบริโภคและการลงทุน สอดคล้องกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนสูงขึ้นจากสถานการณ์ในสงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และค่าครองชีพสูงขึ้นตาม สำหรับการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยหมวดสินค้าที่มีการชะลอตัวลง เช่น ยอดจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สินค้ากึ่งคงทน ปริมาณการใช้น้ำมันลดลง รวมถึงการเดินทางที่ลดลง เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดือนกุมภาพันธ์ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ หมวดก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากราคาวัสดุที่เพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ในต่างประเทศที่ขยายตัว โดยการส่งออกเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 หักการส่งออกทองคำเหลือขยายตัวร้อยละ 8.9 โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ สินค้าเกษตร โลหะ ยานยนต์ อิเลกทรอนิกส์ ซึ่งการส่งออกช่วยพยุงการผลิตในภาคอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้ดัชนีการผลิตมีแนวโน้มลดลงจากการขาดแคลนสินค้าในหมวดชิ้นส่วน และแผงวงจรไฟฟ้า กิจกรรมภาคบริการปรับตัวลดลงจากภาคการค้าที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่ภาคโรงแรมและร้านอาหารกระเตื้องขึ้น สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเดือนมีนาคมจำนวนนักท่องเที่ยวสูงกว่าเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ประมาณ 2.1 แสนคน ภาคบริการดีขึ้น ทำให้กลุ่มอาชีพอิสระมีความเชื่อมั่นดีขึ้น แต่สถานการณ์ด้านแรงงานยังคงเปราะบางอยู่ เนื่องจากจำนวนแรงงานในระบบประกันสังคมหายไปค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด “แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวดีขึ้น จากไตรมาส 4 ของปี 2565 การส่งออกและ ท่องเที่ยวดีขึ้น แต่การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลง จากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนเม.ย.จะปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการผ่อนคลายจำกัดการเดินทาง แต่สิ่งที่เข้ามากระทบ คือค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยที่ต้องติดตาม คือสถานการณ์การระบาดของโควิด-19ในจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผู้ค้าสำคัญของไทย” สักกะภพกล่าววิจัยกรุงศรีห่วงกำลังซื้อในประเทศ
วิจัยกรุงศรี มองว่า เศรษฐกิจเดือนมีนาคมได้แรงหนุนจากภาคส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศซบเซา โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเติบโตเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับสูง และภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน โดยขยายตัวร้อยละ 1.9 ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่เข้มแข็ง และยังต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ยังคงเติบโตต่อเนื่องแม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน และแรงกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ยังพอมีปัจจัยบวกจากมาตรการรัฐเพื่อช่วยพยุงกำลังซื้อ และการเติบโตของภาคส่งออกและท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ แต่คาดว่าเศรษฐกิจอาจได้รับผลเชิงบวกไม่เต็มที่ เนื่องจากปัจจัยลบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอลง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศถูกปรับขึ้นเป็น 32 บาทต่อลิตร และอาจมีการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันไดจนถึงกรอบเพดานที่ 35 บาทต่อลิตร จึงอาจสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตและบั่นทอนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แม้ภาครัฐจะทยอยออกมาตรการเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพในบางกลุ่มเพิ่มเติม อ่านเพิ่มเติม: Alibaba.com เผยเมกะเทรนด์ สินค้าออนไลน์ทั่วโลก ปี 2565ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine