'ตลาดเงิน-ตลาดทุน' ปี 2562 ส่งสัญญาณลบ สภาพคล่องฝืด 'ตลาดหุ้น' ชะลอตัว - Forbes Thailand

'ตลาดเงิน-ตลาดทุน' ปี 2562 ส่งสัญญาณลบ สภาพคล่องฝืด 'ตลาดหุ้น' ชะลอตัว

KTBST ประเมินสภาวะตลาดเงิน-ตลาดทุนปี 2562 ปีแห่งความท้าทาย ด้วยสภาพคล่องตลาดเงินฝืดจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย จีดีพีเติบโตชะลอตัว แนะลงทุนจัดพอร์ตลงทุน ตลาดหุ้น ‘conservative’

ชาตรี โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST รายงานมุมมองตลาดเงิน-ตลาดทุนระดับโลกและประเทศไทยในปี 2562 ภาพรวมเป็นปีที่มีปัจจัยลบสูง อยู่ในช่วงพ้นจุดสูงสุดของเศรษฐกิจ โดยมีสภาวะที่ส่งผลต่อการเงิน การลงทุนทั่วโลก ดังนี้

ความกดดันทางการค้า

มองว่า Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หลังจากเสียสภาล่างจากการเลือกตั้งกลางเทอมที่ผ่านมา น่าจะทำให้ Trump ดำเนินนโยบายผ่อนปรนการเจรจาการค้ามากขึ้น โดยเริ่มเห็นท่าทีที่ผ่อนปรนดังกล่าวแล้ว แต่ต้องติดตามความคืบหน้าว่าจะสามารถเจรจาการค้ากับจีนได้สำเร็จก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2562 หรือไม่

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีแนวโน้มความกดดันการค้าโลกที่ลดลง แต่เนื่องจากผลของการเจรจาจะเริ่มส่งผลจริงในตลาดในอีก 1-2 ไตรมาสหลังทำข้อตกลง จึงมองว่า สภาพตลาดการค้าโลกจะฟื้นตัวได้ราวไตรมาส 3/62 เป็นต้นไป

สินค้าโภคภัณฑ์

ราคามีแนวโน้มลดต่ำลงตามราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงราคา West Texas ปัจจุบันอยู่ที่ราว 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และไม่น่าจะกลับขึ้นมาได้เร็ว เนื่องจากเป็นราคาสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตจริง ด้วยการเพิ่มกำลังผลิตของสหรัฐฯ เป็นปีละ 1 ล้านบาร์เรล ทำให้ราคาลดต่ำ

ขณะที่ OPEC เริ่มแตกความสามัคคีในการลดกำลังผลิตเพื่อกำหนดราคาน้ำมันโลก เนื่องจากกาตาร์ไม่เชื่อมั่นในแนวทางลดกำลังผลิตน้ำมันอีกต่อไป สภาวะราคาน้ำมันตกต่ำมีผลทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ราคาต่ำลงตามโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นหนึ่งในสินค้าหลักของไทย และจะหมุนเป็นวัฏจักรทำให้กำลังซื้อเกษตรกรลดลงด้วย

สภาพคล่องตลาดเงินลดลง

จากการขึ้นดอกเบี้ยของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และจะเริ่มปรับ balance sheet ในปีหน้าซึ่งเป็นการดึงเงินกลับจากในระบบ

นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) น่าจะดำเนินนโยบายเดียวกันในปีหน้า หากประธานอีซีบีคนใหม่มีแนวโน้มการตัดสินใจในลักษณะ conservative

ประเทศไทยเอง เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 3 ครั้ง ในปีนี้ 1 ครั้ง และปี 2562 อีก 2 ครั้ง เพื่อสกัดเงินทุนไหลออกหลังจากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย (คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% แล้ววันนี้ นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปี - Forbes Thailand)

สภาพคล่องของเงินที่ลดลงจะทำให้โครงการการลงทุนใหม่ๆ ที่ต้องพึ่งพิงแหล่งเงินส่วนนี้จะผลักดันยากยิ่งขึ้น

ค่าเงิน

คาดว่าจะมีความผันผวนติดต่อกันเป็นปีที่สอง โดยเฉพาะประเทศแถบทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ ยุโรปตะวันออก ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจยากลำบากมากขึ้น สำหรับค่าเงินบาทไทย KTBST มองว่าจะค่อนข้างอ่อนค่า เนื่องจากแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตช้าลงแต่โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังคงเข้มแข็งกว่าไทย

ตลาดหุ้น

ความหวังที่จะไต่ระดับขึ้นไปสูงน่าจะเป็นไปไม่ได้ในปีหน้า หุ้นที่มีการขึ้นลงของราคาสามารถทำกำไรเท่าตัวไม่น่าเป็นไปได้ในปี 2562 ทำให้เป็นปีที่การเทรดหุ้นควรเป็นไปแบบ conservative ยืนระยะทำกำไรที่ 10-20% เท่านั้น

 

จีดีพีเติบโตช้าลงเกือบทุกตลาดในโลก

ชาตรีกล่าวต่อว่า สำหรับการเติบโตของจีดีพีแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของโลก น่าจะตกลงทุกตลาด ยกเว้นอินเดีย

โดยประเมินว่า ปี 2562 การเติบโตของจีดีพีสหรัฐฯ จะลดลงเหลือ 2.6% จากปีนี้โต 2.9% สหภาพยุโรป เติบโต 2.0% จากปีนี้โต 1.6% ญี่ปุ่นเติบโตลดลงเล็กน้อยเหลือ 0.9-0.95% จากปีนี้โต 1.05% จีนเติบโต 6.6% จากปีนี้โต 6.7% เหลือเพียงอินเดียที่คาดว่าจะเติบโตมากขึ้นเล็กน้อยที่ 7.4% จากปีนี้โต 7.3% สำหรับประเทศไทยนั้น ประเมินว่าจะเติบโตที่ 3.9% จากปีนี้ที่จีดีพีไทยโตราว 4.3%

 

แนะเลือกหุ้นโครงสร้างพื้นฐาน เน้นพอร์ต conservative

นี่เป็นสถานการณ์ที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย กับสภาพคล่องเงินในตลาดที่หดตัวชาตรีกล่าว

เขามองว่า ภาพรวม ตลาดหุ้น ปีหน้า หากมองแยกตลาดแต่ละประเทศเชื่อว่าที่น่าจับตาจะเป็นประเทศญี่ปุ่นและจีน เนื่องจากตลาดหุ้นตกลงมาแล้วถึง 20% ยังมีโอกาสรีบาวด์กลับขึ้นไปจากประโยชน์ที่จะได้รับจากการเจรจาการค้าที่กล่าวไปข้างต้น

ส่วนกลุ่มที่การเติบโตอยู่ในระดับทรงตัวคือยุโรปและอเมริกา แต่ถ้าหากอีซีบีมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย KTBST จะพิจารณาปรับน้ำหนักของตลาดยุโรปในพอร์ตลง

ในทวีปเอเชีย ตลาดอินเดียที่ถึงแม้จะมีแนวโน้มการเติบโตของจีดีพี แต่ต้องระมัดระวังสัญญาณอันตรายที่รัฐบาลอินเดียต้องการนำเงินคงคลังจ่ายหนี้เพื่อกู้ยืมเพิ่มรอบใหม่ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินผันผวน

ขณะที่ประเทศไทย ชาตรีมองว่าดัชนีตลาดหุ้นอาจปรับขึ้นมาที่ 1700-1750 จุดในช่วงใกล้เลือกตั้ง เป็นการตอบรับของตลาดต่อนโยบายในช่วงหาเสียง อย่างไรก็ตามเป็นการปรับขึ้นเพียง 6% จากปัจจุบันจึงไม่ได้หวือหวามากนัก

ชาตรี โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST

การจัดพอร์ตลงทุนหุ้นไทยในปีหน้า KTBST ประเมินว่าควรเน้นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ซึ่งถึงแม้จะได้ผลตอบแทนไม่สูงประมาณ​ 5-6% เท่านั้น แต่เป็นหุ้นที่มีเสถียรภาพ เช่น โรงไฟฟ้า ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้จะมีกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ เช่น สุขภาพ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ที่เติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงธุรกิจการบิน น่าจะได้ผลบวกจากราคาน้ำมันที่ลดลงดังกล่าว ทำให้ผลประกอบการดีแม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะชะลอตัว

ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ควรปรับลดสัดส่วนในพอร์ต เช่น ธุรกิจสื่อและโฆษณา แม้ว่าเม็ดเงินโฆษณาในตลาดคาดว่าจะเติบโต 7% แต่มีการแข่งขันรุนแรง และธุรกิจท่องเที่ยว จากปัญหาการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจไอที-โทรคมนาคม ซึ่งอยู่ในช่วงการลงทุนและมีการแข่งขันรุนแรงกดดันผลประกอบการ

สำหรับหุ้นเด่นจาก KTBST ติดตามได้จากตารางด้านล่าง ทั้งนี้ การประเมินหุ้นทั้งหมดเป็นการวิเคราะห์จนถึงไตรมาส 1/62 เท่านั้น จากนั้นอาจมีปัจจัยอื่นในการประเมินอีกครั้ง