สรุปภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนพ.ค. ยังคงร้อนแรง ยอดซื้อ-ขายเฉลี่ยแสนล้านบาทต่อวัน ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนแนวโน้มดีต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แผนการฉีดวัคซีน สภาธุรกิจตลาดทุนไทยแนะรัฐเร่งมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปข้อมูลสำคัญตลาดหลักทรัพย์ไทย เดือนพฤษภาคม 2564 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยอยู่ที่ 1593.59 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2563 สูงว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียน โดยกลุ่มที่การฟื้นตัว ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 109,446 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 โดยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 98,859 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่มียอดระดมทุนจากหุ้น IPO รวม 14 ราย กว่า 4 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค และอันดับ 8 ของโลก สำหรับผู้ลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยเดือนพฤษภาคม มียอดขายสุทธิ 34,054 ล้านบาท รวมยอด 5 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 66,870 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 101,236 ล้านบาท โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 นักลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายสูงสุดอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าซื้อขายรวม ทั้งนี้ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวเพิ่มเติม “ยอดระดมทุนกว่า 4 แสนล้านบาท ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนถึงตลาดหุ้นไทยเป็นแหล่งระดมทุนที่มีสภาพคล่องสูงมาก นักลงทุนมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้การระดมทุนแอคทีฟ นักธุรกิจจึงมองเป็นโอกาสในการระดมทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องและขยายกิจการ” ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนร้อนแรงต่อ ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) เดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 126.40 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากเดือนก่อน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ต่อเนื่อง โดยนักลงทุนคาดหวังกับแผนการฉีดวัคซีนเป็นปัจจัยสนับสนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้าของเงินทุน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิดระลอกสามในไทย “แผนการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จำนวนผู้ฉีดวัคซีน เป็นตัวเลขสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะในหลายประเทศเห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อฉีดวัคซีนได้ระดับหนึ่ง จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง หลายประเทศเริ่มกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้จะยังมีการติดเชื้อ ดังนั้นแผนการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ให้ได้ 100 ล้านโดสในสิ้นปีนี้ ถือเป็นความคาดหวังสูงมากสำหรับนักลงทุนในประเทศไทย” ไพบูลย์กล่าว ทั้งนี้ ผลประกอบการของตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงความคาดหวังในเรื่องแผนการฉีดวัคซีน และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งแนวโน้มครึ่งปีหลังดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยจะสะท้อนจากการปฎิบัติต่างๆ ตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ หากรัฐบาลสามารถทำได้ดี ตลาดหลักทรัพย์ไทยจะขยายตัวได้มากขึ้น โดยคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,600 – 1,650 จุด และจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในปี 2565 ไพบูลย์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จากการผ่าน พรก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่างๆ เช่น คูปอง E-Vocher หรือ ช้อปดีมีคืน ที่ใช้เงินงบประมาณไม่สูง แต่ได้ผลในการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มคนระดับกลางที่ยังมีกำลังซื้อ ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการเยียวยา ที่สำคัญแผนการกระจายวัคซีนต้องดำเนินการให้ได้จริงตามเป้าหมาย ด้านดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว ว่า กนง. จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี คาดการณ์ว่า ณ สิ้นไตรมาส 2 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงนักจากวันที่ทำการสำรวจ (21 พ.ค. 64) โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นที่คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปีอาจไม่เปลี่ยนแปลงถึงแม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น และการออก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการระบาดโควิด 9 และความไม่แน่นอนของการฉีดวัคซีนที่อาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลงได้เช่นกัน อื่นเพิ่มเติม: “แลนดี้ โฮม" เปิดยอดขายก่อนปิดไตรมาส 2 รวมมูลค่า 900 ล้านไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine