ซีไอเอส เผย ราคาทองคำ ยังมีปัจจัยพื้นฐานหนุนราคาขึ้นต่อได้ในระยะยาว โดยมีเป้าหมายทางเทคนิคที่ระดับ 2,100 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ระยะสั้นระวังการเทขายเนื่องจากเข้าเขตซื้อมากเกินไป คาดราคาหลังจากนี้จะมีความผันผวนมากขึ้น
ณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุน ผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ราคาทองคำ ยังคงเดินหน้าสร้างจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ยืนเหนือ 1,920 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดเดิมในปี 2012 หากยังสามารถยืนอยู่เหนือระดับดังกล่าวได้ต่อเนื่อง มุมมองเชิงเทคนิค มีโอกาสที่ราคาทองคำจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 2,100 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ระยะสั้นอาจมีการเทขายทำกำไรจากการที่เริ่มเข้าเขตซื้อมากเกินไป (Overbought) โดยมีแนวต้านทางจิตวิทยาที่ระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นระดับที่มีนักลงทุนรอขายเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันค่า RSI ได้วิ่งขึ้นมาแตะระดับ 90 แล้ว อย่างไรก็ตามในระยะยาวยังมีปัจจัยพื้นฐานที่สามารถหนุนราคาทองคำให้ปรับตัวขึ้นต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยสภาครองเกรสได้อนุมัติแผนเยียวยาเศรษฐกิจ มูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดในประวัติศาสตร์มากกว่าเม็ดเงินช่วยเหลือสถาบันการเงินจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 และปี 2009 อย่างไรก็ตามหนี้ที่เกิดขึ้นกว่า 23.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจ่ายได้ “แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FED เพราะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% และเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเสริมสภาพคล่องอย่างไม่จำกัด ด้วยการพิมพ์เงินกว่า 125,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน เข้ามาซื้อหนี้ก้อนนี้ได้ อีกทั้ง ไม่เฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ต้องปั้มเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลทั่วโลกต่างอัดฉีดเงินนับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าไปพยุงเศรษฐกิจที่ชะงักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กล่าวได้ว่าแต่ละรัฐบาลลดมูลค่าสกุลเงินของตัวเองลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาทองคำ” นอกจากนั้น ราคาทองคำ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนพันธบัตรติดลบ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พันธบัตรรัฐบาลมีผลตอบแทนติดลบ มีมูลค่าแตะ 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผลตอบแทนที่ติดลบนี้ ทำให้เม็ดเงินนับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลออกจากกองทุนบำเหน็จบำนาญและพอร์ตของบริษัทประกันเข้าไปยังทองคำ ซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น และผลักดันราคาทองคำให้ปรับขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องจับตา คือธนาคารกลางอื่นทั่วโลกกำลังใช้ทองคำมาแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐด้วยการนำมาเก็บไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและรัสเซียที่เข้าซื้อทองคำ เพราะต้องการประกันความเสี่ยงกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ถืออยู่ โดยรัฐบาลจีน ได้เพิ่มซัพพลายของทองคำขึ้นกว่าร้อยละ 210 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่นเดียวกับรัฐบาลรัสเซีย ที่เพิ่มสัดส่วนของทองคำกว่าร้อยละ 388 ตั้งแต่ปี 2006 ทำให้กลายเป็นประเทศผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลก ประเด็นสำคัญที่ทำให้ทองคำปรับตัวพุ่งแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ พิมพ์เงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เริ่มติดลบ จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่ลดลง และประเด็นใหม่คือความตึงเครียดทางการทูตกับจีน ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลบวกต่อราคาทองคำรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ “เห็นได้ว่าจากปัจจัยมหภาค ผู้ซื้อทองคำ คือนักลงทุนสถาบันรวม และธนาคารกลางใหญ่ของโลก แม้นักลงทุนรายย่อยจะมีต้นทุนทองคำในระดับที่ต่ำ หากมีการเทขายออกมาก็อาจไม่ส่งผลต่อราคาทองคำในตลาดโลกมากนัก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องพบเจอหลังจากนี้ คือความผันผวนของราคาทองคำจะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ขอบคุณภาพจาก POSTTODAY อ่านเพิ่มเติม: Jitta Wealth เปิดตัวกองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking – U.S. Techไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine