นอกจาก "ของสะสมล้ำค่า" จะเป็น การลงทุนทางเลือกทางแล้ว ยังเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ซึ่งสร้างทั้งความพอใจและความสุขในการลงทุนให้แก่เจ้าของ โดย Credit Suisse 2565 Collectibles Report พบว่ากระเป๋าหรูให้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยง (Risk-Reward proposition) ดีที่สุด
Credit Suisse Research Institute ร่วมกับ Deloitte ตีพิมพ์ 2565 Collectibles Report ซึ่งเน้นแนวโน้มหลักสำหรับ ของสะสมล้ำค่า ในหมวดหมู่ที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงพัฒนาการอย่างรวดเร็วของ Non-Fungible Token (NFT) ซึ่งเป็น Digital collectibles รายงานนี้ยังได้เสนอแนวโน้มผลตอบแทนของของสะสมล้ำค่าและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงศักยภาพการเติบโตในสภาพแวดล้อมหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ของสะสมล้ำค่า นั้นไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ด้านการลงทุนดั่งเดิมอย่างตราสารทุนหรือพันธบัตร อย่างไรก็ตาม ในช่วงสภาวะความไม่แน่นอน อันเนื่องมาจากสงครามหรือภาวะเงินเฟ้อของสะสมล้ำค่าก็ยังสามารถเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเองสำหรับนักลงทุน โดยมูลค่านั้นอยู่บนพื้นฐานของราคาที่ขึ้นลงตามความหายากและมูลค่าทางสังคม หลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักในปี 2563 ของสะสมล้ำค่า มีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่แข็งแกร่งในปี 2564 ทั้งจากราคาขายและผลตอบแทน อันเป็นผลมาจากการเปิดเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งและความต้องการซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างของสะสมล้ำค่าที่อยู่ในหมวดหมู่ที่ต่างกัน หรือแม้แต่ภายในหมวดหมู่เดียวกันก็ตาม ของสะสมล้ำค่าแต่ละประเภทก็มีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แตกต่างกันในสถานการณ์ต่างๆ กระเป๋าถือยี่ห้อชาเนล งานศิลปะแบบจีนโบราณ และนาฬิกาข้อมือ เป็นของสะสมล้ำค่าที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในภาวะเงินเฟ้อสูง ในขณะที่ไวน์ชั้นดี ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัย ตลอดจนศิลปะอเมริกันและลาตินอเมริกันมักทำให้บรรดานักลงทุนต้องขาดทุนในช่วงภาวะเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไม่เป็นอุปสรรคมากนักสำหรับของสะสมล้ำค่าที่อยู่ในหมวด Fine art ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ เครดิต สวิส ได้ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ร้อยละ 6.5 ในปี 2565 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกและในสหรัฐฯ จะเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 3.8 ในปี 2566 หากธนาคารกลางประสบผลสำเร็จในการลดอัตราเงินเฟ้อสู่ระดับที่ต่ำลงด้วยนโยบายการเงินแบบหดตัว ของสะสมล้ำค่าบางประเภท เช่น กระเป๋าถือยี่ห้อชาเนล คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าทองคำ ซึ่งมักจะลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูง แผนภูมิที่ 1: แสดงถึงการให้ผลตอบแทนของของสะสมล้ำค่าประเภทต่างๆ ในภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงและปกติ Nannette Hechler-Fayd’herbe Head of Global Economics and Research ของเครดิต สวิส กล่าวว่า “แม้ว่าทุกอย่างจะไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจมหภาคและภูมิศาสตร์การเมือง แต่ในปี 2565 ของสะสมล้ำค่าเริ่มมีจุดยืนที่แข็งแกร่งด้วยยอดขายที่ทำลายสถิติหลายครั้งทั้งในหมวดหมู่ Fine art และ Classic cars ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เราจึงไม่อาจคาดหวังว่าผลกระทบในเชิงบวกต่อความมั่งคั่ง (Wealth Effect) ที่เกิดขึ้นในปี 2564 จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2565 คาดว่าผลตอบแทนโดยรวมจะลดลงในปี 2565 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา” อย่างไรก็ตามของสะสมล้ำค่ายังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเอง นาฬิกา เครื่องประดับ และกระเป๋าถือ (โดยเฉพาะกระเป๋าถือยี่ห้อชาเนล) มีความน่าสนใจและมีความผันผวนต่ำ (ระหว่างร้อยละ 2.5 กับร้อยละ 5 ต่อปี) และมีค่า Drawdown (ขาดทุนสะสม) ต่ำ แต่นาฬิกาข้อมือเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากมีผลตอบแทนร้อยละ 4.5 ถึงร้อยละ 6.5 ต่อปี โดยมีความสามารถในการสร้างผลตอบแทน หรือ Information Ratio (โดยผลตอบแทนสัมพันธ์กับความผันผวนและสะท้อนถึงอัตรา Risk Reward Ratio) ที่น่าสนใจด้วยมูลค่าเกินร้อยละ 100 อัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่มากกว่าช่วงของความผันผวน นาฬิกายี่ห้อโรเล็กซ์และกระเป๋าถือยี่ห้อชาเนลเป็นของสะสมล้ำค่าที่น่าจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากมี Information Ratio ที่แข็งแกร่งมากที่ร้อยละ 200 หรือสูงกว่า อย่างเช่นผลตอบแทนโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี สำหรับนาฬิกาโรเล็กซ์สูงเป็นสองเท่าของช่วงความผันผวนปกติที่ร้อยละ 5 เป็นต้น ตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตลาดของสะสมล้ำค่า การประมูลในสถานที่จริงถูกยกเลิกไปในปี 2563 ซึ่งเปิดทางไปสู่การประมูลผ่านตลาดออนไลน์แทน โดยการซื้อขายที่บริษัทประมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ขยายตัวและเติบโตมากกว่าร้อยละ 700 จาก 168.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2562 เป็น 1.35 พันล้านเหรียญในปี 2564 เพราะเหตุนี้ จึงส่งผลให้มีนักสะสมหน้าใหม่ที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้น นักสะสมชาวเอเชียสามารถเข้าถึงและมีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตลาดอื่นๆ อาทิ ช่วงราคาของสินค้าที่จำหน่าย เป็นต้น ตามข้อมูลของ Sotheby’s การประมูลจากภูมิภาคเอเชียเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ตั้งแต่ปี 2562 นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับโลกตะวันออกอย่างต่อเนื่อง โดยมีศูนย์กลางตลาดศิลปะแห่งใหม่นั้นเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นกรุงโซล หรือประเทศญี่ปุ่น Nannette กล่าวเสริมว่า “เรายังได้เห็นความใส่ใจในเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้นสำหรับของสะสมล้ำค่าหลายประเภท ตั้งแต่งานศิลปะ ไวน์ชั้นดี ไปจนถึงเครื่องประดับ ศิลปินจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังดึงความสนใจของผู้คนไปยังปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น จิตรกรไม่เพียงแต่ใช้อุปกรณ์ศิลปะที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังเต็มใจที่จะส่งเสริมทัศนคติที่ดีของผู้คนต่อสิ่งแวดล้อมด้วย สำหรับประเภทเครื่องประดับ ผู้บริโภคต้องการให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และมีความรับผิดชอบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเน้นไปที่ผลกระทบทางสังคม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยและดูดกลับ (Carbon Footprints) ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากข้อขัดแย้ง (Conflict-Free Supply Chain)” แนวโน้มสำคัญอื่นๆ ในปี 2565 รวมถึงการเพิ่มขึ้นของศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่และศิลปินชาวแอฟริกัน อิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของนักสะสมชาวเอเชียและคนรุ่นใหม่ ตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบดิจิทัล (Digitalization) อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยมีแอปพลิเคชันค้นหา Non-Fungible Token (NFT) ใน Collectibles ทุกหมวดหมู่ และการซื้อสินค้าผ่านเมตาเวิร์สและช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ในปี 2564 การนำเครื่องมาทางดิจิทัลมาปรับใช้ในโลกธุรกิจยังได้เข้ามามีบทบาทตลาดรถคลาสสิก โดยมี Bring a Trailer (BaT) ซึ่งเป็นบริษัทประมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา การพัฒนาแพลตฟอร์มธุรกรรมดิจิทัล “Instant Classic” เช่น รถยนต์ที่เพิ่งออกใหม่ที่มีมูลค่าในหมู่นักสะสมเนื่องจากมีจำนวนการผลิตจำกัด ก็ได้กลายมาเป็นเทรนด์ใหม่ในหมู่นักสะสมด้วย อ่านเพิ่มเติม: 50 Best Restaurants สุดยอดร้านอาหารประจำปี 2022ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine