กูรูแบงก์ใหญ่ชี้น้ำมันหนุนเงินเฟ้อ - Forbes Thailand

กูรูแบงก์ใหญ่ชี้น้ำมันหนุนเงินเฟ้อ

ศูนย์วิจัยธนาคารเล็งเงินเฟ้อต้นปีปรับตัวเพิ่มตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ภายใต้การจับตาของ กนง.ที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อรอสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงปรับตัวสูงขึ้นหลังผ่านจุดสูงสุดในรอบ 2 ปีมาแล้วที่ 1.13% ในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและผลของราคาน้ำมันต่ำในช่วงปลายปี 2558 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (Brent) ปรับตัวสูงขึ้นถึง 43% ปีต่อปี ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศเดือนธันวาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 ครั้ง ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนที่ผ่านมาและปีที่ผ่านมาทั้งปีทรงตัวที่ 0.74% ปีต่อปี ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) สะท้อนภาพการบริโภคที่อ่อนแรง ทั้งจากการใช้จ่ายของชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้ปรับราคาสินค้าขึ้นมากนัก รวมถึงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะเพิ่มขึ้นที่ 2.3% ปีต่อปี จากทิศทางราคาน้ำมันดิบที่จะสูงขึ้นตามข้อตกลงของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกราคาน้ำมันว่าจะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ (Brent) เฉลี่ยทั้งปีปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 54 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้จะเร่งตัวขึ้นไปที่ 1.0%ปีต่อปี จาก 0.74% โดยกำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับครัวเรือนบางส่วนจะหมดภาระรายจ่ายการผ่อนชำระค่ารถยนต์หลังหมดโครงการรถคันแรก และภาระการจ่ายภาษีที่ลดลงจากระบบใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงกดดันการบริโภคหลายประการทั้งจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และสภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตช้าและไม่แน่นอน EIC มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำมากและยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 2.5% ± 1.5% และยังต้องคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อไป ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย ให้น้ำหนักปัจจัยราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อเช่นกัน โดยคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่เฉลี่ย 1.8% ต่อปี และจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะส่งผ่านต้นทุนการผลิตมายังสินค้าและบริการอื่นๆ ให้สูงขึ้นตาม ซึ่งจะมีผลต่อเงินเฟ้อพื้นฐานให้ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยที่ 1.2% ต่อปี สำหรับเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจะมีนัยต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังจำกัด รวมถึงนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังถูกจำกัด ด้วยหนี้ครัวเรือน ซึ่งอยู่ในระดับสูงประกอบกับรายได้ครัวเรือนที่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่สะท้อนถึงค่าครองชีพของผู้บริโภคที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภาคครัวเรือนในปีนี้ แม้การปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายเฉลี่ยทั้งปี 2.5% ± 1.5% แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีขึ้นอีกราว 2 ครั้งในปีนี้จะเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินของไทยผ่านการไหลออกของเงินทุนรวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ที่ 1.50% ต่อปี เพื่อรอประเมินสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นระยะ