ผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ระบุแนวโน้มตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวขาขึ้นในกรอบ 1,453-1,669จุด เล็งเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 1,618 จุด แนะลงทุนรายหุ้นที่ปัจจัยหนุนเฉพาะตัว ปรับพอร์ตลดตราสารหนี้ 5%
สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน หรือ
IAA เผยผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ 53.57% มองตลาดหุ้นไทยปีนี้แกว่งตัวในทิศทางขาขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยสิ้นปีมีดัชนีเป้าหมายที่ 1,618 จุด จุดสูงสุดเฉลี่ย 1,669 จุด และจุดต่ำสุดเฉลี่ย 1,453 จุด
สำหรับปัจจัยบวกที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ จำนวนประมาณ 83% รองลงมาคือ การเมืองและการเลือกตั้งในประเทศ ประมาณ 66% รวมถึงผลประกอบการของ บริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรกปี 2560 จำนวน 66%
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบ 3 อันดับแรกที่นักลงทุนต้องจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่ นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์เรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าและการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการเงินการคลังจำนวน 59% เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ 38% และความเช่ือมั่นทางเครดิตรวมถึงปัญหาหนี้เสีย 38%
ภรณี ทองเย็น, CISA อุปนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนกล่าวเพิ่มเติมว่า “นักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันยังมองตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวขึ้น แต่ Upside เริ่มจำกัด ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนควรเน้นเป็นรายหุ้นที่ปัจจัยหนุนเฉพาะตัว"
นอกจากนั้น ผลสำรวจแนวโน้มตลาดทองคำพบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ 48.15% มองว่าราคาทองคำจะปรับขึ้นจากปัจจัยบวก ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรปปัญหาของยุโรป นโยบายของโดนัลด์ทรัมป์และปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ปัจจัยลบมาจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น การขึ้นดอกเบี้ย เป็นต้น โดยมีนักวิเคราะห์เพียง 14.81% มองว่าราคาทองจะเป็นขาลง
ส่วนตลาดตราสารหนี้โดย
รัชกฤษณ์พงศ์ เอกรังสรรค์ เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการ เปิดเผยผลสำรวจว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ 50% มอง BondYield มีแนวโน้มทยอยปรับขึ้น โดยนักวิเคราะห์ยังเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P) ระยะ 1 วันจะคงอยู่ที่ 1.50% ซึ่งปัจจับลบต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ได้แก่ นโยบายการเงินโลกดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้
รัชกฤษณ์พงศ์ กล่าวถึงคำแนะนำการลงทุนจากผลสำรวจในปีนี้เพิ่มเติมว่า การลงทุนในปีนี้มีความเสี่ยงในสินทรัพย์ทุกประเภท และนักลงทุนจำเป็นต้องกระจายสินทรัพย์การลงทุน โดยควรลดระยะเวลา (Duration) ของตราสารหนี้ และลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ลง 5% เพื่อเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นในประเทศแทน