การเมืองฉุด "ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน" - Forbes Thailand

การเมืองฉุด "ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน"

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผย ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน เดือนสิงหาคมลด ห่วงกังวลปัจจัยการเมืองกระทบเศรษฐกิจไทย เตรียมเสนอ รมว.คลังคนใหม่ เพิ่มศักยภาพตลาดทุนไทย ชงแก้กฎหมายขยายโอกาสการลงทุน ชูสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจูงใจลงทุนระยะยาว

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2563 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 85.26 ลดลง 16% แต่ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเหมือนเดือนก่อน โดยปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ปัจจัยรองลงมา คือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ขณะที่นักลงทุนยังคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นปัจจัยสนับสนุนมากที่สุด ประกอบกับรัฐบาลมีทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่มี ปรีดี ดาวฉาย เป็นนักการเงินที่มีความรู้ ความเข้าใจตลาดเงิน ตลาดทุน เข้ามาเป็นรัฐมนตรีคลัง เชื่อว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ออกมา รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และนโยบายภาครัฐ รวมถึงความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 “ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนในเดือนสิงหาคมที่ลดลดง มาจากปัจจัยด้านการเมืองเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยลบเดียวที่เข้ามาในตลาดขณะนี้ ขณะที่สถานการณ์โดยรวมทั้งเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาโควิด ไทยทำได้ดี แต่ถามว่ามีผลมากไหม มองว่าไม่มาก จนถึงขั้นทำให้คนไม่กล้าลงทุน” ไพบูลย์กล่าว ทั้งนี้ ปัจจัยด้านการเมืองสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทุกกลุ่มในการสำรวจครั้งนี้ ทั้งกลุ่มนักลงทุนรายบุคคล โบรกเกอร์ สถาบันในประเทศและสถาบันต่างประเทศ และเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศต่างๆ เช่น ตลาดเกิดใหม่ ตลาดหุ้นไทยยังคงติดลบ โดยเดือนกรฎาคมติดลบร้อยละ 0.8 ตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 และตั้งแต่ต้นปีตลาดหุ้นไทยติดลบร้อยละ 15.9 ขณะที่ตลาดในประเทศต่างๆ เริ่มฟื้นตัว เช่น ตลาดเกิดใหม่ติดลบร้อยละ 3.5 จีนขยายตัวร้อยละ 8.9 ขณะที่ไทยสามารถจัดการปัญหาโควิดได้ดี ดังนั้นปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยมาจากปัจจัยด้านการเมือง และโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ มองว่า ในอีกด้านหนึ่งผลประกอบการของตลาดหุ้นไทยที่ยังไม่ค่อยดีนัก ความเสี่ยงที่จะลดลงอีกมีไม่มาก หากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีตลาดหุ้นมีโอกาสอยู่ในช่วงขาขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับว่าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลจะมีนโยบายใหม่ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น ชง รมว.คลังเพิ่มศักยภาพตลาดทุน ไพบูลย์ กล่าวว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทย จะเข้าพบและหารือกับรัฐมนตรีคลังคนใหม่ เพื่อหารือในประเด็นเศรษฐกิจเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไข ได้แก่ การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเร่งการจ้างงานโดยเร็วจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ขณะที่มีมาตรการระยะกลางและระยะยาว ที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนเพื่อยกระดับตลาดทุนไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ สำหรับเรื่องแรก คือการยกระดับตลาดทุนไทยให้เป็นแหล่งออมเงินระยะยาวให้กับประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีการออมเงินน้อยมาก โดยจะเสนอมาตรการ ดังนี้ - ต่ออายุกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSFX) แบบพิเศษ ออกไปอีก 10 ปี - การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ลงทุนระยะยาว เช่น โมเดลของจีน ถ้าเป็นนักลงทุนระยะสั้น เก็บภาษีเต็มที่ หากลงทุนตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 1 ปี จะลดอัตราการเก็บภาษีลง และหากเป็นการลงทุน 1 ปีขึ้นไป จะยกเว้นภาษี เป็นต้น - เปิดให้มีการลงทุนตั้งแต่ระดับเยาวชน ผ่านพ่อ-แม่ โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี - เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ปลดล็อกให้สมาคมการค้าสามารถลงทุนในหุ้น และกองทุนต่างๆ ได้ ไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องที่สองที่จะหารือกับ รมว.คลัง คือการยกสถานะตลาดหุ้นไทยให้ทัดเทียมสากล เปิดโอกาสให้มีการลงทุนที่หลากหลายผลิตภัณฑ์ มีนักลงทุนหลากหลายประเภทเช่นเดียวกับต่างประเทศ เช่น เฮดจ์ฟันต่างๆ โดยการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาวางแผนเป็นนโยบายระดับประเทศ เหมือนอีอีซี เชื่อว่าจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ “รัฐบาลต้องสร้างความเข้มแข็งให้ระบบตลาดทุนในประเทศ อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันสัดส่วนหนี้ในประเทศเพิ่มขึ้นมาก หากรัฐบาลไม่มีแหล่งระดมทุนใหม่ๆ สำหรับภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐเอง จะทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ วันนี้ตลาดหุ้นไทยมีต้นทุนต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง แต่ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสำหรับนักลงทุน ถ้าหากปลดล็อกเรื่องเหล่านี้ได้ เชื่อว่าจะได้ผลคุ้มค่า และสร้าง Growth Engine ใหม่ให้กับประเทศได้” ไพบูลย์กล่าว สำหรับเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา SET Index ปิดที่ 1,328.53 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน โดยดัชนีอยู่ในกรอบแคบๆ ระหว่าง 1,315—1,377 จุด หลังจากภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาสสองของภาคธนาคารซึ่งดีกว่าคาดการณ์ การรายงานข่าวความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนรักษาโควิด-19 โดยมีปัจจัยฉุดในบางช่วงจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม ได้แก่ การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งของไทยและทั่วโลกที่อาจแย่กว่าคาดการณ์  การประกาศ GDP ไตรมาสที่ 2/2563 ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมถึงการระบาดรอบสองของโควิด-19ในหลายๆ ประเทศ โดยปัจจัยในประเทศที่น่าติดตามได้แก่ ความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกกระทรวงการคลังสหรัฐขึ้นบัญชีดำประเทศที่ต้องจับตาเรื่องการแทรกแซงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมากำลังทยอยหมดลง และผลจากการผ่อนคลายธุรกิจระยะที่ 6 ที่จะเริ่มเปิดให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มเข้าประเทศไทยได้ เป็นต้น อ่านเพิ่มเติม: อินโดรามา เวนเจอร์ส ประกาศงบ Q2/63 กำไร 82 ล้านเหรียญ
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine