ปัจจุบันสหรัฐฯ เข้าสู่ในวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2009 ธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายโดยการลดอัตราดอกเบี้ยและเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ตลาดทุน หลังจากนั้นเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ดี เงินเฟ้อค่อยๆ เร่งตัวขึ้นเข้าสู่เป้าหมาย ประกอบกับตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น ทำให้ธนาคารไม่มีความจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน และมีความจำเป็นที่จะต้องค่อยๆ เข้มงวดนโยบายเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรงเกินไป
ช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นการเข้มงวดนโยบายจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เริ่มลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ตั้งแต่ช่วงปี 2013 ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกปลายปี 2015 และเริ่มทยอยลดขนาดของงบดุลตั้งแต่ไตรมาส 4/2017 จากนั้น Fed ทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนถึงการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนนี้ (13 มิ.ย.) Fed ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วทั้งสิ้น 7 ครั้ง สู่ระดับ 1.75-2.00% พร้อมกับส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปี 2018 และ 3 ครั้งในปี 2019 เนื่องจาก Fed มีมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น โดย Fed ได้ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 2018 จาก 2.7% เป็น 2.8% ปรับลดอัตราว่างงานลงจาก 3.8% เป็น 3.6%รวมถึงปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อ (PCE Inflation) จาก 1.9% เป็น 2.1%
ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน แต่สำหรับญี่ปุ่นมองว่าเป็นประเทศขนาดใหญ่แห่งเดียวที่จะยังใช้นโยบายผ่อนคลายต่อไป
กลุ่มประเทศ Emerging Country
นอกจากสหรัฐฯ ที่เริ่มเข้มงวดนโยบายแล้ว เราเริ่มเห็นธนาคารกลางของประเทศที่พัฒนาแล้ว เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2017 ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และธนาคารกลางแคนนาดา (BoC) สำหรับประเทศเกิดใหม่ (Emerging Country) หลายๆ ประเทศ ที่เศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ฟื้นตัวเด่นชัดเท่าสหรัฐฯ แต่เผชิญกับเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเร็วตั้งแต่ต้นปี 2018 จากราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง และยังกดดันจากเงินทุนไหลออก ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ธนาคารกลางของประเทศเกิดใหม่หลายๆ แห่ง เริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้แก่ ตุรกี อินเดีย อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา เกาหลี เป็นต้น โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาธนาคารกลางของประเทศเกิดใหม่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมกันถึง 33 ครั้ง
สำหรับประเทศไทย ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม ที่เพิ่มขึ้น 1.49% YoY จากปัจจัยราคาพลังงาน ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.89% อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าปัจจัยหนุนด้านราคาพลังงานที่จะปรับตัวเพิ่มในระยะถัดไปยังค่อนข้างจำกัด ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังเคลื่อนไหวในกรอบล่างของเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นจึงยังมองได้ว่าตลอดปี 2018 ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม
กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
สำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่ยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินอยู่ได้แก่ ยุโรปและญี่ปุ่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบที่ -0.4% และยังมีนโยบายการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) อยู่ แต่จากการประชุมในเดือนนี้ ECB ได้ส่งสัญญาณลดการปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 จากเดือนละ 3 หมื่นล้านยูโร เป็น 1.5 หมื่นล้านยูโร และจะสิ้นสุดการทำ QE ในเดือนธันวาคม 2018 สำหรับดอกเบี้ยนโยบาย ECB จะคงนโยบายดอกเบี้ยติดลดจนถึงช่วงกลางปี 2019
ในส่วนของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ก็ใช้ดอกเบี้ยนโยบายติดลบเช่นเดียวกัน โดยมีดอกเบี้นโยบายอยู่ที่ -0.1% และมีนโยบาย Yield Curve Control เพื่อควมคุมให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 0% โดยเรามองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศเดียวที่ยังใช้นโยบายผ่อนคลายอยู่ เนื่องจากเงินเฟ้อญี่ปุ่นยังไม่เข้าใกล้เป้าหมาย
การลงทุนในช่วงอัตราเงินเฟ้อขาขึ้นตลาดหุ้นยังคงน่าสนใจ
ในช่วงอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะปรับตัวเพิ่มขึ้นย่อมสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หากอิงข้อมูลในอดีตระหว่างอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และ ผลตอบแทนในตลาดหุ้น S&P500 นับตั้งแต่ปี 1872 จะพบว่าหากอัตราเงินเฟ้อไม่สูงไปกว่า 5% การลงทุนในตลาดหุ้น S&P500 อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 8.2% ซึ่งถือว่ายังน่าสนใจ อย่างไรก็ดี หากอัตราเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นไปอีกจะพบว่าผลตอบแทนที่ได้เริ่มที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
กราฟ: ผลตอบแทนเฉลี่ยของ S&P 500 ตั้งแต่ปีค.ศ. 1872
Source: LGT
บทความโดย สาริศา พจนสุวรรณชัย
Wealth Manager บลจ.ทิสโก้