กสิกรไทยยกระดับเป็นธนาคารท้องถิ่นในจีน เชื่อมต่อนักลงทุนต่างชาติสู่เออีซี - Forbes Thailand

กสิกรไทยยกระดับเป็นธนาคารท้องถิ่นในจีน เชื่อมต่อนักลงทุนต่างชาติสู่เออีซี

กสิกรไทยยกระดับจากสาขาต่างประเทศสู่ธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน ตั้งเป้าเป็นกุญแจสำคัญเร่งยอดสินเชื่อต่างประเทศขึ้น 30% และธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศโต 40% ต่อยอดดึงนักลงทุนจับคู่ธุรกิจในเออีซีผ่านเครือข่ายธนาคาร เร่งขอใบอนุญาตบริการลูกค้ารายบุคคลภายใน 2 ปี

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคารของจีน (CBRC) ให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียน (LII) เต็มรูปแบบ ในชื่อ "ไค่ไท่หยินหาง (จงกั๋ว)" หรือ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) จำกัด โดยมีสำนักงานใหญ่ ณ เมือง Shenzhen ประเทศจีน โดยการจดทะเบียนนี้เป็นการยกระดับจากเดิมที่เป็นสาขาต่างประเทศ เป็นธนาคารท้องถิ่นที่ทำธุรกรรมได้เสมือนธนาคารของจีนทำให้การบริการลูกค้าครบวงจรยิ่งขึ้น และอนาคตสามารถก้าวจากธนาคารบริการลูกค้าบริษัทรายใหญ่สู่การบริการลูกค้าบุคคลได้อีกด้วย หลังจากการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในจีน ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าปริมาณธุรกิจสาขาต่างประเทศของธนาคารในปี 2561 มียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 30% คิดเป็นมูลค่า 2.9 แสนล้านบาท และปริมาณธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 40% เป็น 1.5 แสนล้านบาท นอกจากสำนักงานใหญ่ เมือง Shenzhen แล้ว กสิกรไทยยังมีสาขาใน Chengdu, Shanghai และฮ่องกง รวมทั้งสำนักงานผู้แทนที่ Beijing และ Kunming และธนาคารยังได้รับการอนุมัติให้เปิดสาขาเพิ่มได้ที่เขต Pudong เมือง Shanghai เป็นสาขาที่ 3 ของเมืองซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจการค้าเสรีที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางการเงินของประเทศจีน ในบริเวณดังกล่าวมีธุรกรรมการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียนสูง โดยปี 2559 มียอดธุรกรรมถึง 9.22 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 21% ของธุรกรรมการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนทั้งหมด "ยุทธศาสตร์เออีซี+3 คือเป้าหมายใหญ่ของ Kbank เราต้องการเป็นธนาคารท้องถิ่นในจีนเพราะจะมีนัยยะขอบเขตว่าการทำธุรกรรมเราทำได้มากแค่ไหน และจีนคือฐานของเทคโนโลยีที่ทันสมัยและบุคลากร สำหรับประเทศอื่นๆ ในเออีซี อาจจะไม่ถึงกับต้องเป็นธนาคารท้องถิ่น แต่เราต้องมีพันธมิตร เพื่อให้เราพูดกับลูกค้าได้ว่าทำธุรกรรมกับกสิกรไทยจะไปทำการค้าที่ประเทศไหนก็ได้ ซึ่งอนาคตเราอาจไม่จำเป็นต้องมีสาขาทุกประเทศในอาเซียนเพราะยุคอนาคตแค่เพียงมีเทคโนโลยีก็ทำธุรกรรมได้" บัณฑูรกล่าว ทั้งนี้ กสิกรไทยมีเครือข่ายบริการที่ทำให้บริการให้คำปรึกษาทางการลงทุนและการจับคู่ธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสาขาในเออีซี+3 และประเทศอื่นๆ 17 แห่ง แบ่งเป็นธนาคารท้องถิ่นใน 2 ประเทศ คือ Shenzhen และ Vientiane สาขาต่างประเทศ 7 แห่งใน Shanghai, Chengdu, ฮ่องกง, สาขาย่อย Longgang ใน Shenzhen, Phnom Penh, สาขาย่อยบ้านโพนสีนวนในลาว และสาขา Cayman islands รวมถึงสำนักงานผู้แทน 8 แห่ง ได้แก่ Beijing, Kunming, Yangon, Hanoi, Ho Chi Minh, Jakarta, Tokyo และ Los Angeles วงศ์พัฒน์ พันธุ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสาขาในจีนของกสิกรไทยทำธุรกิจเฉพาะลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ประมาณ 100 ราย โดยเป็นลูกค้าไทยที่เข้ามาลงทุนในจีน 30% ลูกค้าจีนที่เข้าลงทุนในไทย 60% และบริษัทประเทศอื่นๆ ที่เข้าไปลงทุนในไทย เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อีกราว 10% มีขนาดเงินฝากหลักพันล้านหยวน และขนาดสินเชื่อราว 1-1.5 หมื่นล้านบาท หลังได้รับอนุมัติเป็นธนาคารท้องถิ่น กสิกรไทยประจำประเทศจีนจะมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจ 2 ด้าน คือ 1.เครือข่ายการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน-เออีซี ตามนโยบาย One Belt, One Road ของจีนทำให้ภูมิภาคเออีซีคือส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าการลงทุนที่สำคัญ ซึ่งกสิกรไทยจะเข้าไปเป็นสะพานเชื่อมต่อแห่งหนึ่งผ่านการจับคู่ธุรกิจและสร้างสัมพันธ์ 2.พัฒนาระบบดิจิทัล บริษัทเป็นพันธมิตรกับ Alipay ในเครือ Alibaba และ WeChat ในเครือ Tencent และจะมีพันธมิตรรายอื่นเพิ่มขึ้นในอนาคต วงศ์พัฒน์ กล่าวปิดท้ายว่า แผนการในอนาคตหลังได้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารท้องถิ่นแล้ว ขั้นต่อไปจะขอใบอนุญาตให้บริการลูกค้าบุคคลภายใน 2 ปี เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้ารายกลางและรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มคนจีนชั้นกลางราว 300-400 ล้านคนที่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 700 ล้านคนในเร็วๆ นี้  ลูกค้าเหล่านี้มีศักยภาพเพราะนิยมเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในไทยและมีกำลังซื้อ ซึ่งธนาคารสามารถเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ในอนาคต