กสิกรไทยคาด GDP ไทยปี 2561 โต 3.9% วิเคราะห์ค่าเงินบาทอ่อนลงช่วงกลางปี - Forbes Thailand

กสิกรไทยคาด GDP ไทยปี 2561 โต 3.9% วิเคราะห์ค่าเงินบาทอ่อนลงช่วงกลางปี

กสิกรไทยวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 2561 เชื่อเครื่องยนต์ภาคส่งออก-ภาคการท่องเที่ยวชะลอลง ภาครัฐเร่งลงทุนตอบรับการเลือกตั้ง บริโภคภายในประเทศดีขึ้นจากนโยบายกระตุ้นของรัฐ เชื่อ GDP ไทยโต 3.9% ใกล้เคียงปีก่อน ด้านค่าเงินบาทแข็งค่าเนื่องจากเงินทุนไหลเข้า-นโยบาย Trump คาดการณ์ยังแข็งค่าต่อเนื่องจนถึงกลางปี

กสิกรไทยจัดงานสัมมนา “ทิศทางเศรษฐกิจและหุ้นเด่นปีจอ” นำเสนอบทวิเคราะห์เศรษฐกิจและทิศทางค่าเงิน หลังจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างน่าจับตามองโดยเฉพาะในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดย พีรพรรณ สุวรรณรัตน์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2560 เติบโต 3.8% และคาดว่าสรุปจนถึงสิ้นปี 2560 จะเติบโตได้ 3.9% ซึ่งมากกว่าการเติบโตของ GDP ไทยปี 2559 ที่เติบโตขึ้น 3.2% อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปอาจยังไม่รู้สึกถึงเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นวงกว้าง เนื่องจากถ้าหากเจาะลงในรายละเอียด จะเห็นว่าเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมาจากภาคการนำเข้า-ส่งออกและภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยการนำเข้า 3 ไตรมาสแรกปีก่อนเติบโตสูง 7% และการส่งออกเติบโต 5.4% ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นแบบกระจุกตัว ในขณะที่เครื่องยนต์สำคัญอย่างการบริโภคภายในประเทศ 3 ไตรมาสแรกเติบโต 3.1% เทียบกับตลอดปี 2559 ที่เติบโต 3.1% จึงเติบโตเพิ่มขึ้นไม่มาก รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ปี 2559 เคยลงทุนเพิ่มสูง 9.9% ช่วง 3 ไตรมาสแรกปีก่อนนั้นไม่มีการเติบโตเลย  

ปี 2561 สัญญาณการบริโภคภายในประเทศเป็นขาขึ้น

สำหรับปี 2561 ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์ภาพรวม GDP ไทยเติบโตได้ 3.9% เท่ากันกับปีก่อน เนื่องจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยวจะเริ่มชะลอตัวลง เพราะดีมานด์การบริโภคของตลาดโลกเติบโตไม่สูง อยู่ที่ 3.7% เทียบปี 2560 ที่เติบโต 3.6% เนื่องจากทั้งตลาดจีน ญี่ปุ่น และยุโรปมีความต้องการบริโภคลดลง มีเพียงตลาดสหรัฐอเมริกาที่เชื่อว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต้องการเข้ามาเที่ยวและใช้จ่ายในไทยมาก แต่ไทยยังคงมีปัญหาด้านการรองรับโดยเฉพาะท่าอากาศยาน ซึ่งสนามบินนานาชาติทั้งสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ ล้วนรองรับปริมาณผู้โดยสารเกินกว่าความสามารถอยู่แล้วทั้งหมด ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวน่าจะถึงจุดอิ่มตัวหากยังไม่มีวิธีอื่นในการนำนักท่องเที่ยวเข้ามาภายในประเทศ ในทางกลับกัน ภาคการลงทุนของรัฐน่าจะกลับมาเติบโตได้ดี หลังจากรัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งซึ่งเชื่อว่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า จะทำให้รัฐบาลเร่งการลงทุนตามแผนให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อนหมดวาระ เช่นเดียวกับการบริโภคภายในประเทศ ถึงแม้ว่าการจ้างงานตลอดปี 2560 ลดลง -0.6% ซึ่งทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยลดลง แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับปรับเพิ่มขึ้น มีความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ และท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความต้องการลงทุนเพิ่ม ความเชื่อมั่นเหล่านี้เชื่อว่าเกิดจากรัฐบาลออกนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช็อปช่วยชาติ และต้นปีนี้เตรียมจะบังคับใช้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกที่ดีในการใช้จ่าย ดังนั้น ในภาพรวมแม้ว่าการเติบโต GDP จะไม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากนัก แต่เป็นการเติบโตที่กระจายตัวมากยิ่งขึ้น  

เงินบาทอาจอ่อนค่าลงช่วงกลางปี

ด้าน วรัณธร ภู่ทอง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย รายงานในประเด็นค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่า โดยปรับลดมาจนถึงปัจจุบัน 31.9 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เกิดจากปริมาณเงินทุนไหลเข้าในพันธบัตรไทยสูงมาก จากอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ปรับขึ้น และอัตราเงินเฟ้อต่ำเพียง 0.8% ประกอบกับปัจจัยฝั่งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง คาดเกิดจากนักลงทุนไม่มั่นใจในการดำเนินงานของประธานาธิบดี Donald Trump กสิกรไทยคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่าไปจนถึงช่วงเดือนเมษายน โดยต่ำสุดที่ 31.2 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และจะปรับขึ้นตามฤดูกาลเมื่อบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มจ่ายเงินปันผลในเดือนพฤษภาคม จากนั้นเชื่อว่าค่าเงินบาทจะฟื้นตัวเป็นลำดับจนถึง 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุเกิดจากอัตราเงินเฟ้อปีนี้น่าจะเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2-3 ของปี และแนวโน้มราคาน้ำมันที่เป็นขาขึ้น รวมถึงกฎหมายการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ได้รับการอนุมัติแล้ว น่าจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าและค่าเงินบาทอ่อนลงได้ อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่ต้องระมัดระวังความผันผวนของค่าเงินคือ เงินทุนไหลเข้าในพันธบัตรส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้น (Short Term) แสดงให้เห็นการเก็งกำไรซึ่งจะทำให้ค่าเงินผันผวนได้ง่าย