"แบงก์ชาติ" ประเมินโควิดระลอก 3 กระทบหนักกว่าระลอก 2 แต่น้อยกว่าระลอกแรก กลุ่มโรงแรม ร้านอาหารซีมยาว หวั่นจ้างงานมีปัญหาระยะยาว ลุ้นฉีดวัคซีนเร็ว ฟื้นเศรษฐกิจ เร่งออกมาตรการช่วยรายย่อย 4 กลุ่มสินเชื่อ เริ่ม 17 พฤษภาคม นี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ หลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอก 3 ในประเทศไทย ที่แม้การระบาดจะมีความรุนแรงกว่าสองระลอกที่ผ่านมา แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจมีน้อยกว่า เนื่องจากภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าออกไป ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 13 ระลอก 3 มีความรุนแรงมากกว่าระลอกที่ผ่านมา ทั้งจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากกว่า อัตราการแพร่เชื้อที่กระจายอย่างรวดเร็ว รวมถึงจำนวนผู้ป่วยหนักที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่รุนแรงเท่าระลอกแรก เพราะบางกลุ่มสามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยเฉพาะการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว “สถานการณ์ล่าสุด การระบาดของโรคมีความไม่แน่นอนสูง ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสูง เดิมช่วงปลายเดือนเม.ย. เราประมาณการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยรายวันจะสูงกว่านี้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันจำนวนผู้ที่รักษาหายเพิ่มขึ้นด้วย สะท้อนให้เห็นว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการเตียงทรงตัว ระบบสาธารณสุขยืดหยุ่นได้ ไม่ร้ายแรงมากนัก” ชญาวดี กล่าว อย่างไรก็ตาม จากการติดตามข้อมูลเร็ว โดย Google mobility report พบว่า การระบาดระลอก 3 ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผลสำรวจผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม พบว่ายอดจองห้องพักหลังสงกรานต์ถูกยกเลิกกว่าครึ่ง อัตราการเข้าพักเหลือไม่ถึงร้อยละ 18 ขณะที่ผลสำรวจล่าสุดในเดือนพฤษภาคม อัตราการเข้าพักเหลือไม่ถึงร้อยละ 10 ทั้งนี้ ธปท.ประเมินว่าการระบาดระลอก 3 ส่งผลต่อการใช้จ่ายในประเทศ (%GDP) อยู่ที่ร้อยละ 1.4 – 1.7 สูงกว่าระลอกสอง อยู่ที่ร้อยละ 1.2 แต่น้อยกว่าระลอกแรก ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ท่องเที่ยวกระทบต่อเนื่อง ชญาวดี กล่าวว่า การระบาดในระลอก 3 ผลกระทบในเชิงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไม่รุนแรงเท่าระลอกแรก แต่ในมิติด้านการท่องเที่ยว การระบาดระลอกนี้ที่รวดเร็วและรุนแรงกว่าสองระลอกที่ผ่านมา ทำให้การเปิดประเทศช้าออกไป กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งธปท.ประเมินผลกระทบเป็น 3 ฉากทัศน์ (Scenario) ขึ้นอยู่กับการกระจายและฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น กรณีแรก หากมีการจัดหาวัคซีนได้ 100 ล้านโดสภายในปี 2564 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายใจไตรมาสแรกของปี 2565 คาดว่าจะสามารถเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวได้ในไตรมาส 3 ของปี 2565 จะทำให้จีดีพีขยายตัวร้อยละ 2 ในปี 2564 และร้อยละ 4.7 ในปี 2565 กรณีที่สอง ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ประเมินไว้ครั้งแรก คือหากจัดหาวัคซีนได้ 64 ล้านโดสภายในปี 2564 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในไตรมาสสามของปี 2565 คาดว่าจะสามารถเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวได้ในไตรมาส 4 ของปี 2565 จะทำให้จีดีพีขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2564 และร้อยละ 2.8 ในปี 2565 กรณีที่สาม หากการจัดหาและกระจายวัคซีนได้น้อยกว่าแผนที่วางไว้ จะทำให้การฟื้นตัวยิ่งล่าช้าออกไป “สิ่งที่กังวล คือแรงงานในภาคบริการ ที่ว่างงานในระยะเวลานานขึ้น จะส่งผลให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป เพราะแรงงานที่ว่างงานยาวขึ้น ในที่สุดอาจต้องออกจากตลาดแรงงาน เพราะขาดทักษะต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมา” ชญาวดี กล่าว ทั้งนี้ ธปท.ประเมินว่าสถานการณ์ระบาดที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ผันผวน ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและธุรกิจไม่เท่ากัน โดยกลุ่มอุตสาหกรรม ผลกระทบไม่มากนัก โดยเฉพาะบริษัทส่งออก ช่วงที่ผ่านมา ได้มีการปรับตัวโดยใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน ซึ่งอาจมีผลต่อตลาดแรงงานในระยะยาว สำหรับภาคค้าปลีกและภาคบริการ มียอดขายลดลงในทุกสาขา มีการปรับตัวโดยใช้โปรโมชั่น การช่วยเหลือผู้เช่า ส่วนกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร การขนส่งมวลชน ได้รับผลกระทบมาก มีการปรับรูปแบบการทำงาน การจ้างงานที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวระยะต่อไป “เรามองว่าสถานการณ์ระบาดยังผันผวน รุนแรง อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับสูงได้ ตัวแปรสำคัญ คือวัคซีน ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน รวมทั้งภาคประชาชนด้วย ต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาได้เร็ว” ชญาวดีกล่าว ออกมาตรการระยะสามช่วยรายย่อย สำหรับในระยะสั้นกลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร รวมทั้งแรงงานในภาคบริการได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องหลายรอบ นอกจากการว่างงานแล้ว ยังทำให้ฐานะการเงินแย่ลงเรื่อยๆ ธปท.จึงเร่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมในระยะ 3 ซึ่งจะให้มีผลในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมเปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาว หรือลดค่างวด กรณีที่ขยายเวลาเกิน 48 งวด ขอความร่วมมือสถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน MRR หรือประมาณร้อยละ 6 และให้สามารถรวมกับหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้และสินเชื่อรายย่อยอื่นๆได้ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้ลดค่างวด กรณีลูกหนี้ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้พิจารณาพักชำระค่างวด หรือคืนรถ สำหรับลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ รวมทั้งให้รวมกับหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้และสินเชื่อรายย่อยอื่นๆได้ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ ให้ลดค่างวด หรือขยายเวลา กรณีลูกหนี้ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้พิจารณาพักชำระค่างวด หรือคืนรถ สำหรับลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ รวมทั้งให้รวมกับหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้และสินเชื่อรายย่อยอื่นๆได้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ให้บรรเทาภาระหนี้ โดยลดค่างวด หรือพักเงินต้น พิจารณาจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน หรือพักเงินต้น พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย หรือพักชำระค่างวด แนวทางที่สองให้ทยอยคืนเป็นขั้นบันได ตามความสามารถของลูกหนี้ หลังลดค่างวดหรือพักชำระหนี้ และให้รวมหนี้กับสินเชื่ออื่นๆ ได้ อ่านเพิ่มเติม: TVI อัพนวัตกรรมย้ำ Insurtech คาดดันเบี้ยรับรวมแตะ 6.5 พันล้านบาทในปี 64ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine