เงินเฟ้อสหรัฐไม่น่ากลัวเท่าเงินฝืดจีน - Forbes Thailand

เงินเฟ้อสหรัฐไม่น่ากลัวเท่าเงินฝืดจีน

“เศรษฐกิจจีนเสี่ยงภาวะเงินฝืด” เป็นความกังวลเกี่ยวกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ที่เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่พึ่งพาจีนเป็นหลัก โดยการส่งออกจากไทยไปจีนเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ ดังนั้นผู้ส่งออกไทยควรมองหาตลาดใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น 


    ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกของไทย หนึ่งในนั้นคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจเติบโตไม่ถึง 5% โดยเฉพาะตัวเลขไตรมาส 2 ที่ออกมา เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตร้อยละ 7 ซึ่งเกิดจากการจับจ่ายในประเทศที่มีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง 



    ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้กำลังซื้อของภายในประเทศจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์โควิดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีคนจีนตกงานเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานสูง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จีนที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี อัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 21.3 ซึ่งกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ คิดเป็นร้อยละ 20 ของคนจีน ส่งผ่านไปถึงอัตราการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกที่ลดลงต่อเนื่อง 3 ไตรมาส อัตราการบริโภคอยูที่ร้อยละ 38 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

    นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของจีน มีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขไตรมาส 2 ปีนี้ต่ำกว่าร้อยละ 50 และต่ำกว่าปี 2565 รวมถึงการส่งออกของจีนที่หดตัวลงร้อยละ 12.4

     “จีน เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 12 มูลค่าประมาณ 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และเติบโตไม่ได้ตามเป้า จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย ดังนั้น ไทยควรกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่น ที่ยังมีการส่งออกต่ำกว่าร้อยละ 5 เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา บราซิล รัสเซีย เอเชียกลาง และอินเดีย ซึ่งผมขอแนะนำอินเดีย เพราะมีไซส์ตลาดใกล้เคียงกับจีน เป็นโจทย์รัฐบาลใหม่ไปแก้ไขต่อไป” ดร.อัทธ์กล่าว

    ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงในขณะนี้ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ในระยะสั้น การฟื้นตัวของเศรษฐจีนมาจากภาคบริการเป็นหลัก ขณะที่ภาคผลิต จีนได้ลดพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ และผลิตเองมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ สินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีน ทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบมาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    “ภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้ สถานการณ์ในประเทศจีนไม่ค่อยดี ช่วงหลังเศรษฐกิจแผ่วลงเยอะ ภาคอสังหาฯ การบริโภคในประเทศ และการส่งออกได้รับผลกระทบ ตอนนี้ข่าวจากอเมริกาดีขึ้น นักวิเคราะห์ให้น้ำหนักน้อยลง ทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อ ขณะที่ไทย คาดว่าการส่งออกจะไม่โต แต่จีดีพีไทยยังเป็นไปตามที่คาดไว้” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

    ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์อัตราการเติบตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ที่ร้อยละ 3.6 โดยครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 2.9 และครึ่งปีหลังขยายตัวร้อยละ 4.2 หัวใจสำคัญมาจากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 29 ล้านคน

    

กสิกรไทยชี้จีนเสี่ยงภาวะเงินฝืด

    

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2566 เติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง รวมถึงสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เติบโตได้ที่ 5.5% ปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปี มาจากภาคบริการเป็นหลัก โดยครึ่งปีแรกภาคบริการเติบโตที่ 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของจีน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 สามารถเติบโตได้ที่ 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้การลงทุนในอุตสาหกรรม High tech เติบโตได้ถึง 12% ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจจีนยังสามารถเติบโตได้อยู่ที่ 5.5%

    สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2566 หลังปัจจัยเรื่องฐานต่ำหมดลง เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี โดยทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังเผชิญความท้าทายทั้งในเรื่องความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ความไม่ชัดเจนและข้อจำกัดด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคทั้งการคลังและการเงิน รวมถึงสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในปี 2566 นี้ เศรษฐกิจจีนจะยังสามารถเติบโตได้ที่ 5.2% ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายของภาครัฐที่ 5% โดยมองว่าจีนจะมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรการที่เข้ามาฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคการบริโภคและภาคธุรกิจ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม หรือการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) รวมถึงมาตรการในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ติดตามแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนได้ในการประชุม Politburo ในเดือนก.ค. 2566 นี้

    ความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดนั้น มีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ จากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ออกมา โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ของปีนี้ เพราะนอกจากจะขยายตัวได้ 6.3% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 7.3% ในเดือนมิถุนายน 2566 ราคาผู้ผลิตของจีนยังลดลง 5.4% เมื่อเทียบกับมิถุนายน 2565 และลดลง 0.8% จากเดือนพฤษภาคม ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และถือเป็นการลดลงเป็นครั้งที่ 9 ติดต่อกัน และต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558

    “ผมคิดว่าเรากำลังใกล้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ถึงเวลาแล้วที่จะต้องดำเนินการเพื่อสกัดกั้นแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด” Hong Hao หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Grow Investment Group กล่าว
นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีน ทั้ง ซิตี้ กรุ๊ป มอร์แกน สแตนเลย์ และเจพี มอร์แกน ที่คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะอยู่ที่ 5% ขณะที่บาร์เคลย์ ธนาคารชั้นนำของอังกฤษ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจจีนจาก 5.3% เหลือ 4.9%
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคาร (18 ก.ค. 2566) ที่ผ่านมา Jin Xiandong นักเศรษฐศาสตร์ ของคณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission: NDRC) เปิดเผยว่า จีนได้กำหนดนโยบาย “ฟื้นฟูและเพิ่มการบริโภค” (restore and expand) เพื่อฟื้นฟูการบริโภคที่อ่อนแอของประชาชนจีน โดยเฉพาะการช่วยเหลือการจ้างงานของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในจีน ซึ่งทำสถิติใหม่ในเดือนมิถุนายน ที่มีอัตราการว่างงานสูงถึง 21.3%

    สำหรับชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา จะมุ่งเน้นในภาคอสังหาฯ ของจีน ได้แก่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนองบ้าน สนับสนุนเงินทุนให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การลดอัตราส่วนเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้านมือสอง เป็นต้น ซึ่งต้องรอดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาจะมีส่วนช่วยฟื้นกำลังซื้อของจีนได้มากน้อยเพียงใด

    

    อ่านเพิ่มเติม : เคทีซี จัดแคมเปญพิเศษรับไฮซีซั่น หนุนการท่องเที่ยวหลังอุตสาหกรรมรถเช่าโต

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine