บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (Amata B.Grimm Power) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ บี.กริม เพาเวอร์ ได้ร่วมลงนามกับบริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด (Amata Water) ในการพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Floating Solar Farm) ขนาดใหญ่ เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยจะเริ่มพัฒนาเฟสแรก ขนาด 19.5 เมกะวัตต์
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มลุกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อเสริมศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้กับกลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม
พร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เพิ่มการกักเก็บพลังงานสะอาด ก้าวสู่เป้าหมายสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คาดเฟสแรกจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2567
“การร่วมลงนามกับบริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด (Amata Water) ครั้งนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญของกลยุทธ์การขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของ บี.กริม เพาเวอร์ เป็นการเพิ่มฐานลูกค้าและพันธมิตรในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions)” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 58 โครงการ ทั้งจากโครงการที่ก่อสร้างใหม่และการเข้าซื้อกิจการตั้งอยู่ในหลากหลายประเทศ โดยตั้งเป้ามีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 พร้อมก้าวสู่บริษัทผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก โดยมีเป้าหมายระยะยาว คือก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปี พ.ศ. 2593)
วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด (AMATA WATER) กล่าวว่า ความร่วมมือ Amata B.Grimm Power ที่จะร่วมกันพัฒนาพลังงานสะอาดภายในนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทที่จะพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ที่ปัจจุบันได้ขับเคลื่อนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเตรียมการด้านสาธารณูปโภคที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ในแนวทางการพัฒนา Smart Energy ที่มีการนำที่อ่างเก็บน้ำบางส่วน มาทำโครงการ Floating Solar Farm ระยะแรกขนาดประมาณ 19.5 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการด้านพลังงาน รวมถึงการลดการสูญเสียปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ จากการระเหย ทำให้อมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นนิคมฯที่มีศักยภาพในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จากการพัฒนาโครงการร่วมกันครั้งนี้ จะนำไปสู่การศึกษาความเป็นไปได้ ของศักยภาพการทำโครงการ เพื่อขยายผลเพิ่มแหล่งจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดภายในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อเป็นแนวทางของการสนับสนุน Smart Energy เพื่อให้สอดรับกับการใช้พลังงานแห่งอนาคตที่มุ่งไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน ตามเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2040
อ่านเพิ่มเติม : FTREIT เปิดงบ 9 เดือนแรก คว้ารายได้กว่า 2,800 ล้านบาท โต 3.1% พร้อมประกาศจ่ายปันผลอัตรา 0.1870 บาท/หน่วย
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine