ลุ้นเงินลงทุนจากต่างชาติฟื้นเศรษฐกิจ - Forbes Thailand

ลุ้นเงินลงทุนจากต่างชาติฟื้นเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 แม้จะมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่เศรษฐกิจยังดูซึมๆ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจีนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ต้องลุ้นมาตรการฟรีวีซ่าที่จะเริ่มใช้วันที่ 25 ก.ย. ขณะที่นายกฯเศรษฐาเร่งเรียกเชื่อมั่นหวังเม็ดเงินลงทุนต่างชาติช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จับตาเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ผลประชุมกนง. 27 ก.ย.นี้ 

    

    หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย เร่งเครื่องทำงานทันที โดยเฉพาะในจุดที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างภาคการท่องเที่ยว โดยประกาศเปิดฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ เพื่อให้ทันวันหยุดสำคัญของจีน ได้แก่ วันชาติจีน 1 ต.ค. กับเทศกาลตรุษจีนในเดือนก.พ. 2567 คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นอีก 5 -7 แสนคน

    นอกจากนี้ ยังประกาศลดค่าครองชีพด้านราคาพลังงาน ค่าน้ำมันและค่าไฟ เพื่อกระตุ้นบรรยากาศและกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่ปัญหาสำคัญ คือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการส่งออก และการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่ชะลอตัวหลังการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อกว่า 3 เดือน นายกรัฐมนตรีจึงเร่งเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ระหว่างวันที่ 18 - 24 ก.ย. 2566

    เศรษฐาให้สัมภาษณ์หลังการพบกับนักลงทุนรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาทั้งกูเกิล ไมโครซอฟต์ เทสล่า ซิตี้แบงก์ เจพี มอร์แกน ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ให้ความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนราว 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และก่อนหน้านี้บางรายก็เข้ามาลงทุนแล้วในรูปแบบต่างๆ สิ่งที่นายเศรษฐา ย้ำคือขณะที่ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพร้อมเปิดรับนักลงทุนอย่างเต็มที่ และพร้อมจะอำนวยความสะดวกในทุกๆ ด้าน ซึ่งต้องรอดูว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลด้านจิตวิทยาอย่างไร

    ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จํากัด กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้มองภาพเศรษฐกิจผ่านเฟซบุ๊ค “Paiboon Nalinthrangkurn” ว่า ผ่านมาเกือบ 1 เดือนหลังจัดตั้งรัฐบาล แต่ทำไม SET Index ยังไม่ขยับขึ้น เป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่คาดมาก โดยไตรมาสสองที่ผ่านมาขยายตัวเพียง 1.8% ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่ตรงเป้า เพราะเน้นไปที่การบริโภค ทั้งที่ภาคที่มีปัญหา คือส่งออก การลงทุน และเกษตร

    “คงไม่มีใครเถียงว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันทีอย่างแน่นอน เพราะเป็นการฉีดเงินเข้าระบบสูงถึง 560,000 ล้านบาท เท่ากับ 3% ของ GDP ภายใน 6 เดือน แต่ที่นักลงทุนเป็นห่วงคืออาจทำให้รัฐบาลต้องจำกัดงบประมาณด้านอื่นที่มีความจำเป็นกว่า และอาจสร้างแรงกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น”

    อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย และอยู่ในช่วงสร้างฐานรอรับการปรับขึ้นรอบใหม่ โดยปี 2567 เชื่อว่าวงจรดอกเบี้ยจะเข้าสู่ขาลง ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐลดลง เศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น เศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวสูงเกิน 5% เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนจะกลับมาขยายตัว 15% ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นที่สนใจของกองทุนต่างประเทศได้

    

เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

    

    อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยยังคงลดลงต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่าเงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 36 บาท อยู่ที่ 36.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือน ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งจากผลประชุมเฟด ทำให้มุมมองของเจ้าหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปใน dot plot บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอาจทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน และมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้

    นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทในระหว่างสัปดาห์ยังสอดคล้องกับแรงขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการออกพันธบัตรของรัฐบาลไทยที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในปีงบประมาณหน้า โดยพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ระหว่างวันที่ 18 - 22 ก.ย. 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 6,606 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 5,701 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 5,208 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 493 ล้านบาท)

    สัปดาห์ถัดไป (25-29 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (27 ก.ย.) และตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนส.ค. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และค่าเงินหยวน ส่วนดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,505 และ 1,485 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,550 และ 1,560 จุด ตามลำดับ

    วชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะคงดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาด แต่ก็ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งในปีนี้ และในปีหน้าจะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเร็ว และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น สำหรับในระยะต่อไป ประเมินว่า Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps ภายในปีนี้ เนื่องจาก 1) ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นเร็ว ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อจะกลับมาสูงขึ้น 2) ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง ทำให้รับมือกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ และ 3) ตลาดการเงินน่าจะไม่ผันผวนมากนัก เนื่องจากนักลงทุนมองว่ามีโอกาสสูงกว่า 50% ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก

    สำหรับเงินบาทอ่อนค่าลงเร็วถึง 3% ในเดือนนี้ เป็นผลจากทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ คือ 1) เศรษฐกิจโลกที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวดีกว่าคาด ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและจีนอ่อนแอกว่าคาด ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะในพันธบัตรรัฐบาล (US Treasury) ระยะสั้น กดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง 2) ราคาน้ำมันโลกที่ปรับสูงขึ้นเร็วส่งผลดีต่อสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ โดยทำให้ดุลการค้าที่ปรับดีขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลง เงินดอลลาร์จึงแข็งค่า

    นอกจากนี้ ไทยซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิจะได้รับผลกระทบทางลบจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มลดลง และ 3) ความกังวลเรื่องการขาดดุลทางการคลังของไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลวางแผนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ นักลงทุนบางส่วนจึงเริ่มกังวลว่าไทยมีโอกาสถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง (Credit rating downgrade) จึงทำให้ความเชื่อมั่นลดลง เงินทุนไหลออก

    สำหรับในช่วงปลายปี วชิรวัฒน์ มองว่า เงินบาทยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อย จาก 1) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มลดลง จากราคาน้ำมันที่จะเริ่มทรงตัว และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าจะชะลอลงตามการใช้จ่ายผู้บริโภค เงินออมของครัวเรือนที่ลดลง และภาระหนี้ที่สูงขึ้น 2) นโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของไทยจะช่วยสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดได้ และแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่อาจเข้ามามากขึ้นหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจปรับแข็งค่าได้ไม่มากนัก จากราคาน้ำมันที่สูงกว่าคาดและเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ โดยมองค่าเงินบาท ณ สิ้นปี อาจอยู่ที่กรอบราว 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

    

    อ่านเพิ่มเติม : "กนกกมล เลาหบูรณะกิจ" ซีอีโอหญิงไทยคนแรกของฟูจิตสึ

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine