สถานการณ์การเมืองในประเทศ เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทย นักลงทุนลุ้นปิดดีลการเมืองจบ โหวตนายกฯ 4 ส.ค.นี้ เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้ เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ หวั่นยืดเยื้อกระทบหนัก จับตาประชุมกนง. 2 ส.ค.นี้ แบงก์ชาติส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ หอการค้าห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง รอรัฐบาลใหม่แก้ไข
สถานการณ์การเมืองในประเทศสัปดาห์นี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร วันมูหะมัดนอร์ มะทา นัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังเพื่อไทยพลิกมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางกระแสการเมืองเข้มข้นมีดีลลับ ดีลรั่ว ดีลลวง และการกลับมาของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับคำยืนยันจาก แพรทองทา ชินวัตร บุตรสาว ว่าจะกลับวันที่ 10 ส.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เรียบร้อย ขณะที่ จตุพร พรหมพันธ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน ยังไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น และการจัดตั้งรัฐบาลจะยืดเยื้อต่อไป
เร่งตั้งรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
เกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ภายในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งหากล่าช้าออกไปจะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เช่น กรณีการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนที่มียอดลดลงไปมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศ
ทั้งนี้ ส.อ.ท. รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. 2566 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.5 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวลดลงจาก 104.3 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง และความไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ภาคการส่งออกชะลอตัวลง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศษฐกิจจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญยังอ่อนแอ และความกังวลต่อวิกฤตภัยแล้งที่เกิดจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า และเป็นโจทย์ใหญ่ที่รอรัฐบาลใหม่มาแก้ไข
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนส.ค. ไม่เกินเดือนก.ย.นี้ เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ 3.5% แต่หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในก.ย.นี้ จะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ การจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่ต้องล่าช้าออกไป เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าและเข้าสู่ความเสี่ยง
“ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีโอกาสขยายตัว 3-4% แต่ก็ต้องขึ้นกับว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่เกินเดือน ก.ย.นี้หรือไม่ เพราะถ้าล่าช้าไปมากกว่านี้ การจัดทำงบประมาณจะยิ่งลำบาก เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าขึ้น และเข้าสู่โหมดความเสี่ยง ซึ่งอาจจะได้เห็นจีดีพีโตใกล้ปีนี้ 3.1-3.5% หรืออาจโตต่ำกว่านี้ได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าการเมืองมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน” ดร.ธนวรรธน์กล่าว
จับตาประชุมกนง.ขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ขณะที่วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐใกล้จะถึงจุดสิ้นสุด หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 5.15-5.50% ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงสุดในรอบ 22 ปี ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันพุธนี้ คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานที่ทรงตัวในระดับสูงที่ 2.0%
โดย กนง. ได้ให้มุมมองในการประชุมครั้งก่อนว่า อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงจากแรงหนุนด้านอุปสงค์ตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะข้างหน้า อีกทั้งเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านสูงเช่นกัน
ด้านฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินว่า กนง.มีโอกาสชะลอขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ เนื่องจากเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง และต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธปท.ที่ 1-3% สะท้อนได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ระยะสั้น อายุ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ใกล้เคียงหรือน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ทำให้ดัชนีหุ้นไทย มีแนวต้านพื้นฐานที่ 1,542 จุด
“วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐ เข้าใกล้ปลายทางมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งระยะถัดไปอาจเป็นเฟดคงดอกเบี้ยไว้ระยะหนึ่ง เป็นปัจจัยให้เม็ดเงินไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ส่วนในไทยต้องรอลุ้นผลการประชุมกนง.วันที่ 2 ส.ค.นี้”
ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่าดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีแนวรับที่ 1,520 และ 1,500 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,570 จุด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (2 ส.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศและผลประกอบการไตรมาส 2/66 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย
อ่านเพิ่มเติม :
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine