ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ลุ้นให้การเมืองจบภายในส.ค.นี้ พลิกสถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย แต่หากไม่จบ ขณะนี้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว 5-8 หมื่นล้านบาท เล็งปรับจีดีพีสิ้นเดือนส.ค. บล.ทิสโก้คาดจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ หุ้นปรับตัว 1,580-1,600 จุด
สถานการณ์การเมืองอยู่ในช่วงวัดใจ หลังจากพรรคเพื่อไทย เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว และเริ่มเห็นหน้าตารัฐบาลชัดเจนขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลยังคงนั่งกระทรวงเดิม ขณะที่พรรคเพื่อไทยพร้อมเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจอย่างเต็มตัว ปัจจุบันความเสี่ยงจึงอยู่ที่การชุมนุมทางการเมือง จะรุนแรงหรือไม่ เพียงใด
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุด ณ สิ้นเดือนก.ค. 2566 ดัชนีเชื่อมั่นปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ซึ่งเป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งแนวโน้มในเดือนส.ค. สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่ด้วยตัวเลขดัชนีที่เกินกว่า 50 จุด สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคและนักธุรกิจมีความเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยเดินหน้าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ช่วงนี้จึงเป็นช่วง “wait and see” เพื่อรอดูสถานการณ์
“ดัชนีความเชื่อมั่นตกลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่มิ.ย. 65 กลุ่มตัวอย่างตอบชัดว่าปัจจัยลบสำคัญมาจากการเมือง คนไม่มั่นใจว่ารัฐบาลใหม่จะจัดตั้งได้เมื่อไหร่ ไม่ชัดเจน และสับสน และรัฐบาลจะมีเสถียรภาพเป็นอย่างไร าการนี้เกิดตั้งแต่มิ.ย.-ก.ค. สังเกตได้จากตลาดหุ้นปรับตัวลดลง จากนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจน ดัชนีการซื้อรถ บ้านปรับตัวลดลง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์เริ่มมีสัญญาณลดลง แต่วันนี้เริ่มคลี่คลาย” ดร.ธนวรรธน์กล่าว
กระทบเศรษฐกิจ 5-8 หมื่นล้าน
ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันซึมลง ความเชื่อมั่นในอนาคตซึมลง เพราะคนกังวลในสถานการณ์การเมืองที่ไม่นิ่ง รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นจะมีเสถียรภาพหรือไม่ ประกอบกับการส่งออกที่ไม่โดดเด่น คาดว่าจะติดลบอย่างน้อย 2% จากเดิมคาดการณ์ที่ 1% ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้กำลังซื้อหายไป เม็ดเงินในระบบหายไปประมาณ 50,000 – 80,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำอะไรได้ หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 3.5% อยู่ที่ 3-3.3%
“จุดเปลี่ยนสำคัญจึงอยู่ที่การจัดตั้งรัฐบาล หากการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำสำเร็จภายในเดือนส.ค. และประกาศรายชื่อรัฐมนตรีได้ในช่วงปลายเดือนส.ค. ถ้ามีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ มีหน้าตาคณะรัฐมนตรี ทีทีมเศรษฐกิจที่ชัดเจน จะเห็นถึงความเชื่อมั่นว่าจะกลับมาได้หรือไม่ คึกคักไหม”
จากสมมติฐานที่เกิดขึ้น การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จภายในเดือนส.ค. และรัฐบาลแถลงนโยบายในเดือนก.ย. จะเริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในเดือนมี.ค.-เม.ย. 2567 ถ้าเป็นเช่นนี้ มุมมองของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ 3.5%
“จากการสำรวจที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นเป็นขาขึ้นได้ ฟื้นมาต่อเนื่อง 13 เดือน เพิ่งมาลดลง ถ้าการเมืองคลี่คลาย ความเชื่อมั่นปรับขึ้นได้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะกลับมาโดดเด่นในปลายปีถึงต้นปีหน้า” ดร.ธนวรรธน์กล่าว
ทิสโก้คาดดัชนี 1,580-1,600 จุด หากการเมืองคลี่คลาย
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล CISA, ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า บล.ทิสโก้ มองการเมืองไทย กำลังเดินทางมาถึงจุดไคลแม็กซ์ คาดว่า การโหวตเลือกนายกฯ จะจบได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศอย่างเร็วในช่วงต้นเดือนกันยายนจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทย
โดยในกรณีฐาน บล.ทิสโก้ ประเมินพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว (เพื่อให้การโหวตเลือกนายกฯ ประสบความสำเร็จ) คาดจะกระตุ้น ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ตอบสนองในทางบวกด้วยการปรับตัวขึ้น แต่โอกาสปรับขึ้น (Upside) น่าจะจำกัดที่บริเวณ 1,580-1,600 จุด เนื่องจากจะมีความเสี่ยง การชุมนุมทางการเมือง
“ในอดีตการชุมนุมทางการเมือง มักกดดันตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะกระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพัฒนาการของการชุมนุมว่าจะยืดเยื้อและบานปลายเพียงใด จากการศึกษาความเคลื่อนไหว SET Index ในอดีต ช่วงที่มีม็อบ 4 ครั้งล่าสุด (ม็อบพันธมิตร, ม็อบนปช., ม็อบกปปส. และแฟลชม็อบ) มักจะปรับตัวลงเฉลี่ยประมาณ -4% ซึ่งแย่กว่าตลาดหุ้นโลกในช่วงเวลาเดียวกันที่เฉลี่ยเคลื่อนไหวทรงตัว +0.1%” อภิชาติกล่าว
อย่างไรก็ตาม บล.ทิสโก้ ตั้งข้อสังเกตว่าการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันอาจไม่มีน้ำหนักกดดันตลาดเหมือนในอดีต เกิดจาก 3 ปัจจัย คือ 1. ม็อบในปัจจุบันขาดแกนนำ เพราะแกนนำม็อบในอดีตหลายท่านกลายมาเป็น ส.ส.ของพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน 2. การชุมนุมในระยะหลัง ภายหลังการทำรัฐประหารในยุค คสช. เป็นต้นมา ส่วนใหญ่ เป็นการรวมกลุ่มในสถานที่หนึ่งแบบฉับพลัน หรือที่เรียกว่า "แฟลชม็อบ" มีการรวมตัวกันเป็นระยะ เป็นจุดๆ ไม่ยืดเยื้อ และ 3. ราคาหุ้นปัจจุบันได้ซึมซับความไม่แน่นอนของปัจจัยการเมืองไปแล้วในระดับหนึ่ง สะท้อนจาก SET Index หลังผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 2 เดือนเศษยังต่ำกว่าช่วงก่อนเลือกตั้งอีก และต่างชาติขายหุ้นสุทธิมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท
สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี SET ปิดตลาดวันศุกร์ 11 ส.ค. 2566 ที่ระดับ 1,535.16 จุด เพิ่มขึ้น 0.31% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 51,448.87 ล้านบาท ลดลง 0.62% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.33% มาปิดที่ระดับ 459.80 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-18 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,520 และ 1,505 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1560 และ1,580 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม
ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 25-26 ก.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
อ่านเพิ่มเติม :SYMPHONY เปิดตัวบริการใหม่ “ไซเบอร์ซิเคียวริตี้สำหรับลูกค้าองค์กร” เน้นตรวจจับภัยคุกคามก่อนเกิดเหตุ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine