มาตรการรัฐ ทุบดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน - Forbes Thailand

มาตรการรัฐ ทุบดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน FETCO Investor Confidence Index 3 เดือนข้างหน้าวูบ 20.6% ต่างชาติเทขายสุทธิ 9 เดือน กว่า 1.5 แสนล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์เร่งแก้เกม เสนอ 3 แนวทางดึงดูดนักลงทุน


    สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกันยายน 2566 (สำรวจระหว่างวันที่ 20–30 กันยายน 2566) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.14 ปรับลง 20.6% จากเดือนก่อนหน้ากลับมาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” โดยปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การไหลออกของเงินทุน รองลงมา คือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศและสถานการณ์การเมืองในประเทศ

    ผลสำรวจ ณ เดือนกันยายน 2566 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลง โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 27.3% อยู่ที่ระดับ 120.00 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 1.2% อยู่ที่ระดับ 111.11 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 0.6% อยู่ที่ระดับ 146.15 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับลด 20.0% อยู่ที่ระดับ 100.00



นักลงทุนกังวลมาตรการภาครัฐ

    กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า SET Index ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนกันยายน 2566 จากความกังวลสถานการณ์เงินเฟ้อท่ามกลางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังกลุ่มโอเปคและรัสเซียประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงกว่าคาดจนส่งผลให้ กนง. ปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี

    อีกทั้งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทอ่อน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้านการลดค่าไฟและน้ำมันดีเซล ส่งผลให้หลักทรัพย์ในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคปรับตัวลดลง โดย SET Index ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 หลุดกรอบ 1,500 จุดมาปิดที่ 1,471.43 ปรับตัวลดลง 6% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 56,218 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องกว่า 22,436 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมกว่า 155,372 ล้านบาท

    “มาตรการและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่หลายภาคส่วน มองว่าอาจสร้างแรงกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น เนื่องจากไม่ได้เป็นนโยบายที่ทำให้เกิดการลงทุนในระยะยาวรวมถึงงบประมาณที่มีจำกัด อาทิ ความชัดเจนของโครงการ digital wallet 10,000 บาท มาตรการลดค่าไฟ ลดราคาพลังงาน พักหนี้เกษตรกร นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวเป็นอีกปัจจัยที่น่าติดตามหลังรัฐบาลประกาศฟรีวีซ่าจีนและคาซัคสถาน และการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดทุนไทยหลังกระทรวงการคลังประกาศไม่มีนโยบายเก็บภาษีจากการซื้อขายหลักทรัพย์และภาษีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์” กอบศักดิ์กล่าว

    สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการทางการเงินของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลัก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงกว่าเป้าหมาย มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของธนาคารกลางจีน และทิศทางการไหลออกของเงินทุนจากตลาดเกิดใหม่กลับไปสู่ตลาดพัฒนาแล้ว

    ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุน หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์สนใจหมวดธนาคาร หมวดพาณิชย์ อาหารและเครื่องดื่ม ส่วนนักลงทุนต่างชาติสนใจหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์


ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชง 3 ข้อดึงลงทุน

    ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เสนอ 3 แนวทางเพื่อดึงดูดนักลงทุน 1. การปรับวิธีการทำงานและกระบวนการให้ข้อมูลอย่างละเอียดและรวดเร็วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน 2. ยกระดับการจัดการบริษัทจดทะเบียนไทย รวมถึงทำให้การระดมทุนรวดเร็วขึ้น และ3. ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไปชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ ผลักดันความน่าสนใจของตลาดทุนไทย และการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานสะอาด

    สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนกันยายน 2566 ผู้ลงทุนมีความสนใจในหุ้นลดลง หลังจากมีการปรับฐานครั้งใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยี สาเหตุหลักมาจากการปรับขึ้นของบอนด์ ยีลด์สหรัฐฯ หลังจากประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) ล่าสุดมีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวนานกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า

    สถิติที่สำคัญของ SET Index ในเดือนกันยายน 2566 พบว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 SET Index ปิดที่ 1,471.43 จุด ปรับลดลง 6.0% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีหลักทรัพย์อื่น ๆ ในภูมิภาค และปรับลดลง 11.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการเงิน กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มบริการ

    ในเดือนกันยายน 2566 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 49,462 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 34.1% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 9 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 56,218 ล้านบาท ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิเป็นเดือนที่แปด โดยในเดือนกันยายน 2566 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 22,436 ล้านบาท รวม 9 เดือน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมกว่า 155,372 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17



อ่านเพิ่มเติม : แบงก์พาณิชย์ขานรับนโยบายหลังกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็น 2.5%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine