ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกฉุดดัชนีหุ้นไทย - Forbes Thailand

ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกฉุดดัชนีหุ้นไทย

จับตาปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย กดดัชนีหุ้นไทยเดือนก.ย. 2565 ลดลงร้อยละ 3 จากเดือนก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายต่อวันอยู่ที่ 75,090 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25.5 ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนปรับสู่เกณฑ์ซบเซา หวังพึ่งเศรษฐกิจในประเทศ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว

ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) สะท้อนมุมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐต้องการควบคุมเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ในระดับเป้าหมายภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ให้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนเอง ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจะส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลต่อสภาพคล่องและภาวะการเงินที่ตึงตัว ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลง

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนกันยายน 2565 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปิดที่ 1,589.51 จุด ปรับลดลงร้อยละ 3 จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับลดลงไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 4.1

ในเดือนกันยายน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 75,090 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25.5 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 9 เดือนแรกปี 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 81,816 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 24,279 ล้านบาท ทำให้ใน 9 เดือนแรกปี 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 146,465 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

“หลังเฟดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบใหญ่ ๆ มักจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา ไม่ว่าจะเป็นช่วงฟองสบู่ธุรกิจดอทคอมปี 1999 หรือวิกฤตซับไพรม์ในปี 2007 รวมทั้งทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่สำหรับประเทศไทยยังมีเงินทุนไหลเข้าเป็นบวกสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้” ศรพลกล่าว

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้ตลาดทุนทั่วโลก ถูกผลกระทบจากความไม่แน่นอนนับตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาสินค้า น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางทั่วโลกจึงต้องปรับอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุม ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมาก ทั้งราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย แต่แนวโน้มรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยดีกว่าที่ผ่านมา จากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออก

“ไตรมาส 4 มองว่า ถ้าเหตุการณ์ยังไม่จบ ต้องเผชิญความผันผวนต่อไป แต่ปัญหาโควิดค่อย ๆ ลดลง ทำให้การบริโภคในประเทศจะดีขึ้น การเปิดประเทศ จะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้บางธุรกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น นักลงทุนจึงควรต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ประกอบการตัดสินใจลงทุน” ภากรกล่าว

 

ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนซบเซา

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกันยายน 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 67.83 ปรับตัวลดลงร้อยละ 41.8 จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” นักลงทุนมองว่าการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด รองลงมาคือ การไหลออกของเงินทุน และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ผลสำรวจ ณ เดือนกันยายน 2565 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนแทบทุกกลุ่มปรับลดลงโดย นักลงทุนบุคคลปรับลดลงร้อยละ 39.3 อยู่ที่ระดับ 77.33 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลดลงร้อยละ 28.6 อยู่ที่ระดับ 100 กลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลดลงร้อยละ 60.0 อยู่ที่ระดับ 40 ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 อยู่ที่ระดับ 113.33

ในช่วงเดือนกันยายน 2565 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์แรกในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก และทยอยปรับตัวลดลงหลังเผชิญแรงกดดันหลายประเด็น อาทิ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มขึ้นเกินกว่าคาดซึ่งส่งผลต่อความกังวลต่อการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด แนวโน้มการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ตามที่ธนาคารโลกได้ออกมาประกาศ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความตึงเครียดขึ้นหลังรัสเซียสั่งระดมทหารกองหนุนเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมทำสงครามกับยูเครน

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของเฟด รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไปเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังคงสูง อีกทั้งนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศที่ออกมาเพื่อบริหารจัดการความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน แนวโน้มการถดถอยของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ตึงเครียดขึ้นหลังรัสเซียรับรองพื้นที่ 4 เขตในยูเครนให้เป็นดินแดนของรัสเซีย

ส่วนปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้นของประเทศไทยหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 2 มาอยู่ในระดับร้อยละ 1 แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้แรงหนุุนจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566

TAGGED ON