คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ร่วมกับ International Monetary Fund (IMF) วิเคราะห์ผลจากวิกฤติโควิด-19 ภาวะสงคราม นโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว ในช่วงสามปีที่ผ่านมาส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินโลก และมีแนวโน้มจะเกิด Trade tension และการกีดกันทางการค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว แนะภาครัฐเร่งลงทุน ในด้านระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ขณะเงินบาทอ่อนค่าในรอบ 2 เดือน
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ร่วมกับ International Monetary Fund (IMF) จัดเสวนาเรื่อง “External rebalancing in turbulent time” โดย ผศ. ดร. รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น เลขานุการภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ external imbalance ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ Global current account balances ได้มีการขยายออกมากขึ้นในช่วงปี 2020-2022 จากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การฟื้นตัวที่แตกต่างของกลุ่มประเทศต่างๆ ภายหลังการระบาดของโรค COVID-19 และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มข้นของการดำเนินนโยบายทางการเงินของสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ของ IMF พบว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดส่วนเกิน (Excess global current account balances) จะนำมาสู่แรงกดดันทางการค้าระหว่างประเทศ การกีดกันทางการค้า และการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงิน US dollar ได้ส่งผลเชิงลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
เจียเชียน เฉิน รองหัวหน้าฝ่ายวิจัย (Mr. Jiaqian Chen, Deputy Division Chief Research Department IMF) กล่าวว่า “การมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น และการใช้นโยบายที่ตรึงอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์อย่างเหมาะสมจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบดังกล่าวได้ พร้อมแนะประเทศกำลังพัฒนาที่ได้ประโยชน์จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ควรเร่งการลงทุนของภาครัฐเพื่อฉวยโอกาส และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนเองไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน การลงทุนในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล หรือการลงทุนเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ”
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวว่า การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ external imbalance ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่สำคัญทางวิชาการ ที่จะช่วยให้ผู้วางนโยบายสามารถประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าเงิน US dollar และบทบาทที่ท้าทายของสกุลเงิน US dollar ในอนาคต ขณะที่ภาครัฐ และธนาคารกลางสามารถดำเนินนโยบายทางการเงิน และนโยบายทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรอดพ้นจากภัยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากพลวัตดังกล่าวได้
จับตาแนวโน้มเงินบาทไทย
ขณะที่แนวโน้มความเคลื่อนไหวของเงินบาทไทย สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 เดือน อยู่ที่ 35.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับภาพรวมสกุลเงินในภูมิภาคและเงินหยวน ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าที่คาด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาททยอยอ่อนค่าลงสอดคล้องกับการปรับตัวของราคาทองคำในตลาดโลก การอ่อนค่าของเงินหยวนและสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับมีแรงกดดันต่อเนื่องจากสถานะการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแรงหนุนจากบอนด์ยีลด์ระยะสั้นของสหรัฐที่ขยับขึ้น และการที่ตลาดกลับมาทบทวนมุมมองที่มีต่อโอกาสความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องอีกในการประชุม FOMC ในรอบที่เหลือของปีนี้ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าที่คาด ทั้งดัชนี ISM ภาคบริการในเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ในวันศุกร์ที่ 8 ก.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 ก.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 4-8 ก.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,733 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 7,871 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 7,371 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 500 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (11-15 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.20-35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ สัปดาห์ที่ผ่านมา ปิดที่ระดับ 1,547.17 จุด ลดลง 0.92% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 44,248.84 ล้านบาท ลดลง 26.91% จากสัปดาห์ก่อน
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-15 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,540 และ 1,530 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,565 และ 1,580 จุด ตามลำดับ โดยต้องติดตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่จะมีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11 ก.ย.นี้ รวมทั้งทิศทางเงินลงทุนจากต่างชาติ
อ่านเพิ่มเติม : Promotion Optimization อาวุธใหม่ของกลุ่มค้าปลีกไทย
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine