ธุรกิจค้าปลีกโตต่อเนื่อง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของการบริโภค - Forbes Thailand

ธุรกิจค้าปลีกโตต่อเนื่อง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของการบริโภค

ธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 คาดว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตราว 10% จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของการบริโภค โดยคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท โดยกลุ่ม Store-base retailing จะกลับมามีมูลค่าเท่าก่อนช่วงโรคระบาดในปี 2567 ส่วน Non-store retailing ยังคงเติบโตต่อเนื่อง


    ครึ่งแรกของปี 2566 ธุรกิจค้าปลีกสามารถเพิ่มยอดขายจากนโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาในประเทศมากขึ้นในครึ่งหลังของปี 2566 อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่ยังต้องระวัง เช่น ราคาสินค้าและหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีความเปราะบาง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนด้านการเงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีระดับการกู้ยืมสูง การอ่อนค่าของเงินบาทที่กระทบกลุ่มสินค้านำเข้า

    การเติบโตของ E-commerce ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยังมีแนวโน้มแข่งขันรุนแรง แม้จะมีการชะลอตัวลงหลังจากผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับก่อนช่วงโรคระบาด อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกสบาย โดยเฉพาะกลุ่ม Marketplace retailers ที่มีสินค้าที่หลากหลายจากผู้ขายหลายราย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาและบริการของแต่ละร้านค้า 

    Buy Now Pay Later (BNPL) ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง เข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะในกลุ่มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว อาจนำ BNPL มาเป็นอีกหนึ่งช่องทางการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้า หนุนให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขายของร้านค้าแต่ยังต้องมีความระมัดระวังเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน

    ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญประเด็น ESG โดยมุ่งเน้นไปที่ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดการปล่อย GHG ขณะที่ในด้านสังคม ผู้ประกอบการมุ่งเน้นการสร้างอาชีพ ท่ามกลางการให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ในส่วนของผู้บริโภค โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว เช่น คนที่เกิดในยุค Millennial ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อ Sustainable products

    กลุ่มค้าปลีกที่ฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นหมวดร้านค้าสินค้าจำเป็น เช่น CVS และ Supermarket (โดยมูลค่าตลาด CVS และ Supermarket ฟื้นกลับมาในระดับก่อน COVID-19 แล้วในปี 2566) รวมถึงมีการขยายสาขาเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น กลุ่มธุรกิจ Health & Beauty ได้รับอานิสงส์จากกระแสรักษาสุขภาพเชิงป้องกัน และ Home & Garden ที่เติบโต โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการ Renovate ที่อยู่อาศัย/ร้านค้า/ร้านอาหาร และ Department store ที่มีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยว 

    กลุ่มที่ฟื้นตัวแต่ยังมีข้อจำกัด เช่น Hypermarket เนื่องจากเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง รวมถึงลูกค้าหลักเป็นที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางลงมาซึ่งมีข้อจำกัดด้านกำลังซื้อที่อาจฟื้นตัวได้ช้า กลุ่มที่ฟื้นตัวช้า ได้แก่ สินค้าแฟชั่น เนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และเผชิญปัญหาด้านความยั่งยืน

    กลุ่ม Modern grocery : CVS, และ Supermarket จะมียอดขายเติบโตมากกว่าช่วง Pre-covid ในปี 2565 ส่วนกลุ่ม Hypermarket อาจกลับมาสู่ภาวะปกติท้ายปี 2567-ต้นปี 2568 ทั้งนี้ยอดขายที่เติบโตขึ้นของกลุ่ม Supermarket มีปัจจัยสนับสนุนจากกำลังซื้อของผู้มีรายได้ปานกลาง-สูง ในขณะที่ Hypermarket มีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางลงมา ซึ่งอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่า เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคยังมีกำลังซื้อที่เปราะบางและอ่อนไหวต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจ

    กลุ่ม Department store : ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการกลับมาทำกิจกรรมนอกบ้านของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ Traffic ในร้านค้า Department store ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของยอดขาย โดยเฉพาะกลุ่ม ASEAN และนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายในสินค้าไม่จำเป็นมากขึ้น

    กลุ่ม Health & Beauty : ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น ทั้งการสร้างภูมิต้านทาน การดูแลโภชนาการ การฟื้นฟูความเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ยอดขายสินค้าหมวด Health เติบโตขึ้น โดยเฉพาะวิตามินและอาหารเสริม ขณะที่การกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าหมวด Beauty ให้กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

    กลุ่ม Home & Garden : เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่อยู่บ้านมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโรคระบาด ทำให้มีความต้องการ Renovate ที่อยู่อาศัย ผนวกกับแรงหนุนจากการโอนที่อยู่อาศัยราคาสูงที่ยังเติบโตได้ รวมถึงการปรับปรุงร้านค้าเพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

    กลุ่ม Apparel & Footwear : สินค้าแฟชั่นฟื้นตัวอย่างช้า ๆ สถานการณ์โรคระบาด ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้มีความต้องการสินค้าแฟชั่นตามสมัยนิยม และเน้นความสบายและนำกลับมาใส่ใหม่ได้หลายครั้ง อีกทั้ง ในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคจึงชะลอการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย

    ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยตั้งเป้าหมายการดำเนินการด้าน ESG โดยเฉพาะในเรื่องของ Environment และการลดการปล่อย GHG ในด้านสังคม ผู้ประกอบการมุ่งเน้นการสร้างอาชีพ และให้ความสำคัญกับความโปร่งใส อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังเผชิญกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการซื้อสินค้าที่ยั่งยืน (Sustainable products) เช่น

       ปัจจัยด้านราคา : ผู้บริโภคมองว่าการซื้อสินค้าอย่างยั่งยืนนั้น มีราคาที่สูงเกินไป ทำให้ไม่สามารถที่จะสนับสนุนความยั่งยืนในการค้าปลีกได้

       ปัจจัยด้านทางเลือก : ผู้บริโภคมองว่าสินค้าที่มีความยั่งยืนนั้นมีให้เลือกน้อย อีกทั้ง สินค้าบางชนิดที่ผู้บริโภคต้องการซื้อก็ไม่ได้มีสินค้าที่ Sustainable เป็นอีกตัวเลือก

       ปัจจัยด้านข้อมูลและความน่าเชื่อถือ : ผู้บริโภคอาจรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ Sustainability น้อยเกินไป รวมไปถึงไม่มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ผู้ค้าปลีกให้ข้อมูล

       ปัจจัยด้านความสะดวก : การหาซื้อสินค้าที่ยั่งยืนบางครั้งไม่ได้มีวางจำหน่ายทั่วไป ทำให้ต้องเสียเวลาในการหาซื้อ

       คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ : ผู้บริโภคมองว่าสินค้าที่วางขายอาจมีบางขั้นตอนที่ไม่ได้ผลิตหรือจำหน่ายอย่างยั่งยืน ทำให้ชะลอการซื้อสินค้าดังกล่าว

    

    บทวิเคราะห์โดย : ชญานิศ สมสุข นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)


    อ่านเพิ่มเติม : บี.กริม เดินหน้าส่งเสริมความรู้ด้าน STEM แก่นักเรียน 400,000 คน ภายในปี 2573

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine