ธุรกิจกัญชงส่อแววร่วง ตลาดฯ เตือนนักลงทุนดูงบ EE - Forbes Thailand

ธุรกิจกัญชงส่อแววร่วง ตลาดฯ เตือนนักลงทุนดูงบ EE

กัญชง พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เกิดขึ้น หลังจากรัฐบาลชุดที่แล้วปลดล็อกให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของรัฐบาลเพื่อไทยไม่สนับสนุนธุรกิจจากพืชชนิดนี้ จากดาวรุ่ง กลายเป็นดาวร่วง


    ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้งเตือนให้นักลงทุนศึกษางบการเงินบริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ EE ผู้ลงทุนในธุรกิจกัญชงอย่างเดียว และมีผลขาดทุนแล้ว 160 ล้านบาท
ย้อนกลับไปช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กัญชง นับเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลังรัฐบาลชุดที่แล้วประกาศปลดล็อกให้สามารถ “ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง” กลายปลดล็อกดังกล่าว ทำให้ธุรกิจกัญชงมีโอกาสทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะ 5 อุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหาร ยาและอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล โดยวิจัยกรุงศรี คาดว่ามูลค่าธุรกิจกัญชงในช่วง 5 ปี (64 - 68) จะมีมูลค่าสูงถึง 15,770 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 126%

    ด้วยความเชื่อมั่นในโอกาสธุรกิจกัญชง บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ EE ได้ลงทุนในบริษัท แคนนาบิซเวย์ จำกัด (CW) และบริษัท ซีบีดี ไบโอไซเอนซ์ จำกัด (CBDB) ซึ่งเป็นฟาร์มกัญชงขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และลำพูน โดยผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้ 17,800 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 164 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน ฐานะการเงิน และสภาพคล่องของบริษัทอย่างมีนัยยะสำคัญ


ตลาดฯ แจ้งเตือนนักลงทุน

    ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ EE ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เกี่ยวกับการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าของค่าความนิยมและเงินลงทุน รวมทั้งบันทึกค่าเผื่อการปรับลดมูลค่าสินค้าในธุรกิจค้าและผลิตกัญชง รวม 94 ล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจหลักเพียงธุรกิจเดียวของ EE ในขณะที่คู่สัญญาไม่ต่อสัญญาการปลูกกัญชง

    นอกจากนี้ ยังมีผลขาดทุนจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนในตราสารทุนที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (Unrealized Loss) อีก 66 ล้านบาท รวม 160 ล้านบาท ทำให้งวด 6 เดือน ปี 2566 มีผลขาดทุนสุทธิ 164 ล้านบาท กระทบต่อผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน และสภาพคล่อง ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

    EE เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ที่ลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจค้าและผลิตกัญชง โดยงวด 6 เดือน ปี 2566 มีรายได้ 17,800 บาท โดยไตรมาส 2 มีการบันทึกรายการผลขาดทุนจากการด้อยข่าของค่าความนิยมและเงินลงทุนในบริษัท ซีบีดี ไบโอไซเอนซ์ จำกัด (CBDB) โดยคู่สัญญาไม่ต่อสัญญาการปลูกกัญชง รวมถึงผลขาดทุนจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนในตราสารทุนเป็นเป็นบริษัทจดทะเบียน (Unrealized Loss)

    ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ปี 2566 ผู้สอบบัญชีเริ่มมีข้อสังเกตกรณี EE ต้องบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของค่าความนิยมและเงินลงทุนใน CBDB โดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ เคยให้ความเห็นว่า ราคาซื้อหุ้น CBDB 620 ล้านบาท ไม่เหมาะสม เนื่องจากสูงกว่าราคาประเมิน 22% - 86% ซึ่งผู้ถือหุ้นไม่ควรอนุมัติลงทุน ขณะที่คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่าราคาเสนอซื้อเหมาะสม คาดว่าจะสร้างรายได้และกำไรสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ซื้อมา ดังนั้นการลงทุนใน CBDB สมเหตุสมผลและคุ้มค่ากับเงินลงทุน

    นอกจากนี้ คู่สัญญาไม่ต่อสัญญาการปลูกกัญชงกับ CBDB และบริษัทย่อยอีกแห่งที่ประกอบธุรกิจเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่ปรากฏการบันทึกด้อยค่าของค่าความนิยมและเงินลงทุนในบริษัทย่อยดังกล่าว

    ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงข้อมูลผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหลักและผลการดำเนินงานของบริษัท ความเพียงพอของการบันทึกการด้อยค่าของค่าความนิยมและเงินลงทุนในบริษัทย่อยทั้งสองบริษัท นโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวข้างต้นว่าได้พิจารณา อย่างระมัดระวังเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน สภาพคล่อง และฐานะการเงินของบริษัท และเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 และขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงิน EE และติดตามคำชี้แจงของบริษัทฯต่อไป



สมาคมพืชกัญชงเข้าพบรมว.สาธารณสุข

    ความไม่ชัดเจนของนโยบายในการสนับสนุนพืชเศรษฐกิจกัญชงของรัฐบาลใหม่ ทำให้สมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา ที่มีสมาชิกจำนวน 21 บริษัท นำโดย ทศพร นิลกำแหง นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการเข้าพบ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เพื่อขอความชัดเจนของรัฐบาล

    ทศพร กล่าวว่า ด้วยความไม่ชัดเจนของนโยบายภาครัฐ รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับพืชกัญชงและกัญชาในปัจจุบันทำให้ภาคอุตสาหกรรมหยุดนิ่ง โดยสมาคมฯ ซึ่งประกอบด้วยบริษัทฯ ที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทั้งธุรกิจในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงความเชื่อของประชาชนบางกลุ่มที่ยังมองว่าพืชกัญชงและกัญชามีโทษมากกว่าประโยชน์ แต่ความจริงแล้วพืชกัญชง คือ พืชเศรษฐกิจสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น เมล็ด นำไปทำเป็นน้ำมันเพื่อเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง อาหารเสริม ส่วนลำต้นสามารถนำเส้นใยไปทำเป็นเสื้อผ้า รองเท้า และส่วนสำคัญคือ ช่อดอก สามารถนำไปสกัดเพื่อให้ได้สาร CBD ซึ่งมีคุณประโยชน์มากมายต่อสุขภาพอีกทั้งยังสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ

    ปัจจุบันในระบบของคณะกรรมการอาหารและยาของไทย (อย.) มีผู้ขอใบอนุญาตและได้รับอนุมัติแล้วเป็นจำนวนมาก ทั้งใบอนุญาตเพาะปลูกในระบบส่วนกลางและแอพพลิเคชั่นปลูกกัญ ซึ่งมีจำนวนรวม 38,144 ราย ใบอนุญาตสกัดทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวม 48 ราย และใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชงทั้งเครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมกว่า 1,500 ราย

    “สมาคมฯ ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบาย และกฎหมายของพืชกัญชงและกัญชาที่ชัดเจน แยกระหว่างพืชกัญชงและพืชกัญชาออกจากกัน โดยออกกฎหมาย ประกาศ หรือ พรบ. ให้ชัดเจน ให้พืชกัญชง ยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพและความงาม ส่วนพืชกัญชาใช้ในทางการแพทย์ มีมาตรการควบคุมการจำหน่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการในธุรกิจภาคอุตสาหกรรมได้รับรู้ถึงทิศทางในการดำเนินธุรกิจ” ทศพรกล่าว

    ปัจจุบัน บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกัญชง มีเป็นจำนวนมาก ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท หากรัฐบาลมีนโยบายไม่ชัดเจน อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทจำนวนมาก EE เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างที่เริ่มเห็นผลกระทบ



อ่านเพิ่มเติม : บีโอไออนุมัติ 6 โครงการลงทุน มูลค่ากว่า 4.1 หมื่นล้านบาท

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine