ดีลอยท์ ประเทศไทยเผย กลุ่ม เจนซี และ มิลเลนเนียลกังวลเรื่องค่าครองชีพมากที่สุด - Forbes Thailand

ดีลอยท์ ประเทศไทยเผย กลุ่ม เจนซี และ มิลเลนเนียลกังวลเรื่องค่าครองชีพมากที่สุด

ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Global 2023 Gen Z and Millennial Survey ซึ่งเป็นผลการศึกษา สะท้อนมุมมองของเจนซี และมิลเลนเนียลในประเทศไทยที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในปีเดียวกันของคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก


    Deloitte Global 2023 Gen Z and Millennial Survey จัดทำขึ้นโดยดีลอยท์ ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 12 ทำการสำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนในเจนซี และมิลเลนเนียล มากกว่า 22,000 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดและมุมมองต่าง ๆ ของกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียลที่เป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานทั่วโลก ในผลสำรวจฉบับนี้ เจนซีหมายถึง ผู้ที่มีอายุ 19-28 ปี และมิลเลนเนียลหมายถึงผู้ที่มีอายุระหว่าง 29-40 ปี สำหรับประเทศไทยนั้น ดีลอยท์ได้ทำการสำรวจเจนซี 200 คน และมิลเลนเนียล 100 คน ในประเทศไทย โดยพบว่าผลการสำรวจสะท้อนมุมมองเชิงลึกคนในเจเนอเรชั่นดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

    

ด้านเศรษฐกิจ

    

    จากผลสำรวจพบว่า คนในเจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทยพึงพอใจกับการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) และความหลากหลาย ความเสมอภาคและการมีส่วนร่วม (Diversity, Equity and Inclusion : DEI) สูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก โดยร้อยละ 51 และร้อยละ 41 ของเจนซี และมิลเลนเนียล พอใจมากกับการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) สูงกว่าคนในวัยเดียวกันทั่วโลกที่ร้อยละ 34 และร้อยละ 31 ของคนในเจนซีและมิลเลนเนียลทั่วโลกตามลำดับ และร้อยละ 45 ของเจนซี และร้อยละ 24 ของมิลเลนเนียลในไทยพอใจกับการที่องค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลาย ความเสมอภาคและการมีส่วนร่วม (Diversity, Equity, and Inclusion) สูงกว่าคนในช่วงวัยเดียวกันทั่วโลกที่ร้อยละ 33 และร้อยละ 28 ตามลำดับเช่นกัน

    ประเด็นที่คนไทยรุ่นใหม่ทั้งสองเจเนอเรชั่นกังวลมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1) ค่าครองชีพสูง 2) การว่างงาน และ 3) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่ความกังวลในการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล โดยเจนซี ร้อยละ 67 และมิลเลนเนียล ร้อยละ 62 บอกว่ามีการบริหารจัดการเงินแบบเดือนชนเดือน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลกที่ร้อยละ 51 และร้อยละ 52 ตามลำดับ

    จากข้อกังวลดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย ร้อยละ 66 และมิลเลนเนียล ร้อยละ 71 ตามลำดับ ต้องทำงานเสริมเพื่อให้มีแหล่งรายได้ที่สอง โดยเจนซีนิยมทำงานเป็นกะ เช่น การเป็นพนักงานส่งอาหาร และการเป็น Social Media Influencer และContent Creator มากที่สุด ในขณะที่กลุ่มมิลเลนเนียลส่วนใหญ่นิยมขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์

    แม้ว่าจะต้องเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 86 ของเจนซี และ ร้อยละ 65 ของมิลเลนเนียลในไทย มีแนวโน้มจะเปลี่ยนงานใหม่ หากบริษัทผู้ว่าจ้างต้องการให้พนักงานกลับไปทำงานเต็มเวลาที่ออฟฟิศ และเกือบร้อย 70 ของทั้งคนไทยรุ่นใหม่ทั้งสองเจเนอเรชั่น มีแนวโน้มที่จะขอให้บริษัทมีนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น ที่มุ่งส่งเสริมแนวคิดการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) มีทางเลือกในการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น 2) ควรหาวิธีทำให้พนักงานพาร์ทไทม์ (part-time) มีโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพ และ 3) เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น

    ทั้งนี้รูปแบบการทำงานที่ไม่สามารถสร้างสมดุลให้กับชีวิตส่วนตัวและการทำงานนั้นยังเป็นสิ่งที่เจนซีและมิลเลนเนียลในไทยกังวลอย่างมาก จากผลสำรวจ ร้อยละ 40 ของมิลเลนเนียล ต้องตอบข้อความ หรืออีเมลล์นอกเวลางานทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 32 ของเจนซีต้องตอบข้อความหรืออีเมลล์ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่งผลให้คนในทั้งสองเจเนอเรชั่นเกิดความเครียดจากการทำงานหนัก และร้อยละ 72 ของเจนซีและร้อยละ 63 ของมิลเลนเนียลรู้สึกเบื่อ อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) จากปริมาณงานและความต้องการด้านอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) การเงินในอนาคต 2) การเงินในชีวิตประจำวัน และ3) สุขภาพและความเป็นอยู่ของครอบครัว ทำให้มากกว่าร้อยละ 90 ของทั้งเจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย สนใจร่วมงานกับองค์กรที่มีนโยบายใส่ใจและส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีของพนักงาน ซึ่งสูงกว่าคนในช่วงวัยเดียวกันทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 80

    

ด้านสังคม

    

    เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลด้านความพึงพอใจของทั้งเจนซี และมิลเลนเนียล กับบทบาทขององค์กรต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากผลการสำรวจ พบว่าความพึงพอใจของคนทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มที่ลดลงในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2021-2023 โดยคนไทยรุ่นใหม่สองกลุ่มนี้ มองว่า นักการเมือง กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคม และผู้สื่อข่าว มีบทบาทสำคัญในการชี้นำประเด็นทางสังคมมากกว่านักแสดง ผู้นำทางศาสนา หรือนักกีฬา

    ร้อยละ 82 ของเจนซี และ ร้อยละ 85 ของมิลเลนเนียลในไทย เชื่อว่าตัวเองมีพลังในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสูงกว่าคนในช่วงวัยเดียวกันทั่วโลกที่ร้อยละ 58 และ ร้อยละ 55 ตามลำดับ โดยร้อยละ 75 ของเจนซีและร้อยละ 52 ของมิลเลนเนียลปฏิเสธที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมาย หากงานนั้นขัดกับความเชื่อและจริยธรรมส่วนบุคคล และร้อยละ 63 ของเจนซี และร้อยละ 52 ของมิลเลนเนียลปฏิเสธการร่วมงานกับองค์กรที่มีแนวคิดขัดกับความเชื่อและจริยธรรมส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ทั้งนี้สิ่งที่คนไทยทั้งสองเจเนอเรชั่น ถือเป็นความภาคภูมิใจในการบอกอัตลักษณ์ความเป็นตัวตน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) งานหลัก 2) เพื่อนและครอบครัว และ 3) งานเสริม นอกจากนี้สิ่งที่คนไทยทั้งสองเจเนอเรชั่นให้คุณค่าในการชื่นชมความสำเร็จของผู้อื่น 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) การใช้ชีวิตตามแนวทางของตัวเองโดยไม่ขึ้นหรืออิงกับความคาดหวังของสังคม 2) ความสามารถในการสร้างสมดุลให้กับชีวิตและการทำงาน และ 3) ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ

    

ด้านสิ่งแวดล้อม

    

    เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 78 ของเจนซี และ 81 ของมิลเลนเนียล กล่าวว่ารู้สึกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยร้อยละ 80 ของเจนซีและ 83 ของมิลเลนเนียลยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่ส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้ง 2 คำตอบของคนไทยสูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลกที่ประมาณร้อยละ 60 นอกจากนี้ร้อยละ 30 ของคนไทยทั้ง 2 เจเนอเรชั่น เชื่อว่าบริษัทขนาดใหญ่มีการดำเนินการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งสูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก ที่ประมาณร้อยละ 18

    คนไทยรุ่นใหม่มองว่าสิ่งที่สามารถลงมือทำด้วยตนเองเพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม คือการลดการใช้สินค้าฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) เป็นอันดับแรก และสิ่งที่คนไทยรุ่นใหม่ตั้งใจจะลงมือทำในอนาคตเพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1) ปรับปรุงบ้านให้ประหยัดพลังงาน และ 2) เปลี่ยนมารับประทานมังสวิรัติหรือวีแกน (Vegan)

    นอกจากนี้คนไทยรุ่นใหม่ทั้ง 2 เจเนอเรชั่นยังมีข้อเสนอแนะว่าองค์กรควรที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อจัดการกับความท้าทายในด้านเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้ชุมชนโดยรอบอาคารสำนักงานเป็นพื้นที่สีเขียว 2) การอบรมพนักงานในเรื่องความยั่งยืน และ 3) ให้เงินสนับสนุนแก่พนักงานให้ใช้เลือกสินค้าและบริการที่ส่งเสริมความยั่งยืน

    อริยะ ฝึกฝน กรรมการบริหาร ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า “จากผลสำรวจพบว่า คนไทยรุ่นใหม่มีมิติความคิดที่แตกต่างจากคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันของประเทศเพื่อนบ้านและโลกอย่างมีนัยสำคัญ และคนไทยทั้งสองเจเนอเรชั่นเองก็มีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็นเชิงลึกลงไปอีก ดังนั้นการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องบริหารจัดการด้วยความละเอียดอ่อนมากขึ้น”

    ดร.โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการ Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “การพิจารณาข้อมูลของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในปีเดียวกัน และข้อมูลเปรียบเทียบของประเทศไทยเองในแต่ละปี จะสะท้อนภาพรวมการเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

    อริยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ดีลอยท์ ได้ทำการสำรวจคนในกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียล ติดต่อกันเป็นปีที่ 12 และจะทำการสำรวจคนกลุ่มนี้ต่อไป เพื่อติดตามแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีทางเลือกใดที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ต้องคำนึงถึงบริบทของแต่ละองค์กรนั้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละองค์กรต้องพิจารณาต่อไป”

    

    อ่านเพิ่มเติม : “อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์” เดินหน้าขับเคลื่อน “Green Logistics” ขนส่งพลังงานสะอาดด้วย รถ EV สร้างอีโคซิสเต็มโลกสีเขียวอย่างยั่งยืน

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine