จับตาวิกฤตระลอกใหม่จีน-สหรัฐ - Forbes Thailand

จับตาวิกฤตระลอกใหม่จีน-สหรัฐ

จับตาวิกฤตโลกระลอกใหม่ ฉุดเศรษฐกิจไทย ทั้งการยื่นล้มละลายของ Evergrande Group ยักษ์อสังหาฯ อันดับ 2 ของจีน หลังผิดนัดชำระหนี้ มูลค่ากว่า 12 ล้านล้านบาท ขณะที่วิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐยังไม่จบ หลังฟิทช์ เรทติ้งส์ขู่ปรับลดอันดับเครดิตธนาคารในสหรัฐ รวมถึงภัยแล้งที่กระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย ด้านการเมืองในประเทศยังต้องลุ้นโหวตนายกฯ 22 ส.ค.นี้ จะจบที่แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย หรือยื้อต่อ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย


    ผ่านไปแล้วร่วม 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยยังไม่มีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ขณะที่ปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจจีนและสหรัฐ คู่ค้าสำคัญของไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ระลอกใหม่ ที่อาจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย ทั้ง Evergrand Group ยักษ์อสังหาฯ อันดับ 2 ของจีน ที่ยื่นขอล้มละลายต่อศาลในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา พร้อมกับยอดผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 12 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 2% ของจีดีพีประเทศจีน รวมถึงข่าวที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ขู่ปรับลดอันดับเครดิตธนาคารในสหรัฐอีกระลอก

    

วิกฤตจีนกระทบท่องเที่ยวไทย

    

    ปัญหาของ Evergrande Group บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน เริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ปี 2564 จากการผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่รัฐบาลจีนพยายามประคับประคองแก้ปัญหา เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจสำคัญที่มีสัดส่วน 30% ของจีดีพีประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนยังไม่กระเตื้อง จากการะมัดระวังในการใช้เงิน ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่า ทั้งดัชนีธุรกิจค้าปลีก การส่งออก - นำเข้า ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาของจีนส่งผลกระทบไปทั่วโลก เนื่องจากเป็นประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมทั้งไทย

    จะเห็นได้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนในไทย แม้จะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ข้อมูลจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า เดือนก.ค. 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนปรับตัวลดลงร้อยละ 4.9 ตกลงมาเป็นอับดับ 2 รองจากมาเลเซีย จากช่วงก่อนโควิด ไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณ 40 ล้านคนต่อปี เป็นนักท่องเที่ยวจีน 1 ใน 4 จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยปีนี้ 28-29 ล้านคน และมีการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน อาจทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

    ขณะที่ภาคการส่งออกของจีน รวมทั้งไทยถูกแรงกดดันจาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐลดสัดส่วนการนำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐในหลายประเด็น รวมถึงอัตราการว่างงานในจีนที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งต้องรอดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจีนจะได้ผลแค่ไหน ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น

    

จับตาวิกฤตระลอกใหม่ในสหรัฐ

    

    InfoQuest รายงานว่า ตลาดสหรัฐสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง 2.29% นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ โดยมีแนวโน้มทรุดตัวลงรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2566 ขณะที่ดัชนี S&P 500 มีแนวโน้มร่วงลงติดต่อกัน 3 สัปดาห์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ. ส่วนดัชนี Nasdaq มีแนวโน้มร่วงลงติดต่อกัน 3 สัปดาห์เช่นกัน เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2565

    การซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐถูกกดดันในสัปดาห์นี้ หลังการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และการที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ขู่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารสหรัฐ นอกจากนี้ นักลงทุนมีความกังวล ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ หลังรายงานการประชุมประจำวันที่ 25-26 ก.ค.ระบุว่า เฟดมีความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ซึ่งทำให้เฟดจำเป็นต้องใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินต่อไป

    อย่างไรก็ตาม คาดว่าในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลในปีนี้จะมีขึ้นในวันที่ 24-26 ส.ค. ในหัวข้อ "Structural Shifts in the Global Economy" นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และจะกล่าวสุนทรพจน์ในวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงิน และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นที่จับตาของผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลัง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ หลังเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง

    โกลด์แมน แซคส์ ออกรายงานระบุว่า เฟดได้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว แม้ว่านายพาวเวลไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนในการแถลงข่าวหลังการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. โดยคาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายสำหรับวัฏจักรปัจจุบัน และเราคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. โดยเฟดจะสรุปในเดือนพ.ย.ว่าเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงอย่างเพียงพอจนทำให้เฟดไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป

    ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์เช่นเดียวกันว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. และในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567

    

ลุ้นโหวตนายกฯ 22 ส.ค.นี้

    

    สำหรับสถานการณ์การเมืองในประเทศยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของทิศทางการลงทุนในประเทศไทย โดยบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า แม้การเมืองที่มีความชัดเจนจะส่งผลดีกับหุ้น แต่ได้ลดความคาดหวังผลบวกต่อตลาดลง เนื่องจากอำนาจต่อรองของพรรคเพื่อไทยที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อพรรคก้าวไกลประกาศไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้การต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.เป็นไปโดยลำบาก

    นอกจากนี้ กระแสข่าวการแย่งกระทรวงสำคัญทำให้การบริหารทีมเศรษฐกิจอาจเป็นไปโดยไม่มีเอกภาพ ที่สำคัญ เริ่มมีสัญญาณความเสี่ยงที่นายกรัฐมนตรีอาจจะไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อนโยบายสำคัญๆ ที่หาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำ หรือนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นต้น

    สำหรับกลยุทธ์ในการลงทุน ภาพรวมยังต้องระมัดระวังแรงกดดันจากการขายทำกำไรในตลาดหุ้นโลกอาจมากระทบบรรยากาศลงทุนหุ้นไทย กลุ่มทีน่าสนใจช่วงนี้คือ 1) หุ้นขนาดกลางขนาดเล็กที่มีการถือครองต่ำ 2) กลุ่มที่ผลประกอบการจะออกมาดี 3) กลุ่มอิงภายนอกที่ดีต่อในครึ่งหลังมีแค่พลังงานต้นน้ำและโรงกลั่น ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีคาดว่าจะส่งผลกระทบในระยะยาว ทำให้เหมาะแค่การเก็งกำไร

    

    อ่านเพิ่มเติม : เอบีม คอนซัลติ้ง เผย อนาคตของการจำหน่ายรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องปรับตัวเพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้า Younger

     ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine