จับตาตั้งรัฐบาลใหม่ เงินลงทุนต่างชาติไหลกลับตลาดหุ้นไทย - Forbes Thailand

จับตาตั้งรัฐบาลใหม่ เงินลงทุนต่างชาติไหลกลับตลาดหุ้นไทย

    สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นไทย ลุ้นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นำโดยพรรคเพื่อไทย "อเบอร์ดีน" มองเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (Fund Flow) ไหลกลับตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง แนะนำทยอยสะสมหุ้นไทย ราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี จับตาหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังแบงชาติออกมาตรการแก้หนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล

    สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา การเมืองมีความเคลื่อนไหวคึกคัก หลังเปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นพรรคเพื่อไทย พร้อมเดินหน้าพูดคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ หลัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล ถูกปัดตกในญัตติเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีรอบสอง โดยดัชนีตลาดหุ้นไทย วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม ปิดที่ระดับ 1,529.25 จุด เพิ่มขึ้น 0.75% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,846.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.91% จากสัปดาห์ก่อนหน้านี้


"อเบอร์ดีน" มองเงินทุนไหลกลับ


    สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ดรุณรัตน์ ภิยโยดิลกชัย หัวหน้าการลงทุนในตราสารทุนประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) กล่าวในการสัมนา 2H2023 Global Economic Outlook “Recession, Interrupted” ว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งหลังปี 2566 ดีขึ้น จากความเสี่ยงที่ลดลง โดยคาดว่าเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) จะไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยหลังจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น หลังจากครึ่งปีแรกนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 1 แสนล้านบาท จากปี 2565 มีการซื้อสุทธิ 2 แสนล้านบาท

    “ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี สิ่งสำคัญที่สุด คือเสถียรภาพของรัฐบาล ดังนั้นหากจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ความเชื่อมั่นจะกลับมา และมองเป็นโอกาสที่จะเริ่มสะสมหุ้นไทย” ดรุณรัตน์กล่าว
บลจ.อเบอร์ดีน คาดดัชนีหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,450-1,630 จุด และมีอัพไซด์อีกประมาณ 5% ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มกลุ่มซื้อขายต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี เช่น กลุ่มพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง ธนาคารพาณิชย์ ที่มีราคาถูกและเห็นแนวโน้มอัตรากำไรเติบโตได้ดี ขณะที่แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียน คาดว่าจะดีขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยผลประกอบการครึ่งปีแรกของธนาคารหลายแห่งที่ประกาศออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ไว้

    ปัจจัยที่สนับสนุนหุ้นไทยมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง บลจ.อเบอร์ดีน คาดการณ์จีดีพีปีนี้ขยายตัว 3.5% ใกล้เคียงกับคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอีกหลายสำนัก แรงสนับสนุนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28 ล้านคน และคาดว่าอาจจะแตะ 30 ล้านคน ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มโรงแรม ค้าปลีก ร้านอาหาร โรงพยาบาล เป็นต้น


ธปท.แก้หนี้ยั่งยืนกระทบรายได้แบงก์


    สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน หลังสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงถึง 90.6% โดยการแก้หนี้ของธปท. จะมีมาตรการที่แก้ปัญหาตลอดเส้นทางของการเป็นหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหา จนถึงการขาย/ฟ้องหนี้ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. หนี้เสีย 2. หนี้เรื้อรัง 3. หนี้ใหม่ และ 4. หนี้นอกระบบ โดยจะเริ่มใช้วันที่ 1 เมษายน 2567

    สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า กลุ่มที่แบงก์ชาติจะเร่งแก้ไขก่อน คือกลุ่มหนี้เรื้อรังที่มีอยู่ประมาณ 5 แสนบัญชี เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลวงเงินหมุนเวียน ที่มีการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่า 5 ปี กลุ่มนี้จะมีมาตรการให้สถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี จากเดิม 25% ต่อปี เพื่อให้ปิดหนี้จบได้ภายใน 5 ปี โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณา หากเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจ ที่มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน สำหรับลูกหนี้นอนแบงก์ มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน

    “พอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคล คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยกระทบรายได้แบงก์แน่นอน เพราะลดลงจาก 25% เป็น 15% แต่โดยเฉลี่ยของวงจรหนี้ทั้งหมดตามมาตรการใหม่นี้ จะลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยเฉลี่ย 21 – 22% เป็นอัตราที่ผู้ประกอบธุรกิจรับได้ แต่มีโอกาสกลับมาสร้างธุรกิจใหม่ได้ จากลูกหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้น และมีหนี้เสียน้อยลง” สุวรรณีกล่าว

    ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า เคทีซีพร้อมดำเนินการตามมาตรการของธปท.ในการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลวงเงินหมุนเวียน คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี ผ่อนชำระให้จบภายใน 5 ปี โดยลูกหนี้ต้องสมัครจเข้าร่วมโครงการด้วยตนเอง ซึ่ง KTC ประเมินว่า หากลูกหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะทำให้รายได้จากดอกเบี้ยลดลงประมาณ 18 ล้านบาทต่อเดือน
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ประเมินว่า มาตรการแก้หนี้ยั่งยืนของธปท.นั้น อาจส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อในภาพรวม ทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อช้าลง และมีผลต่ออัตราการเติบโตของธุรกิจสถาบันการเงินในอนาคตได้

    อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ รายงานผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่ง ในช่วงครึ่งปีแรก มีกำไรสุทธิรวม 121,918 ล้นาบาท เพิ่มขึ้น 16,121 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

    สำหรับสัปดาห์นี้ มีปัจจัยที่ต้องติดตามทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศ และผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียน จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ วันที่ 25-26 กรกฎาคมนี้

    

    อ่านเพิ่มเติม : เฟรชแอร์ เฟสติวัล เตรียมระเบิดโคตรมวย “THE MATCH OF LEGEND” ดวลกำปั้นนัดประวัติศาสตร์ 2 ตำนานนักชกระดับโลก แมนนี่ ปาเกียว - บัวขาว บัญชาเมฆ

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine