กำลังซื้อทั่วโลกลด "ไทยยูเนี่ยน" ไตรมาสแรก 66 ทำกำไรสุทธิที่ 1 พันล้านบาท - Forbes Thailand

กำลังซื้อทั่วโลกลด "ไทยยูเนี่ยน" ไตรมาสแรก 66 ทำกำไรสุทธิที่ 1 พันล้านบาท

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสแรก ปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิในไตรมาสแรก 1,022 ล้านบาท ลดลง 41.5 เปอร์เซ็นต์ จาก 1,746 ล้านบาทในปีก่อนหน้า ธีรพงศ์ เผย ปี 2566 สามารถกลับมามีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยเริ่มมีสัญญาณที่เป็นบวกในไตรมาสที่ 2


    สำหรับยอดขายประจำไตรมาสแรกของปี 2566 ของไทยยูเนี่ยนอยู่ที่ 32,652 ล้านบาท ลดลง 10.0 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ยอดขายมีความแข็งแกร่ง เป็นไปตามคาดการณ์ของบริษัท สาเหตุจากความต้องการสินค้าปรับตัวลงทั่วโลกจากการที่คู่ค้าในภูมิภาคต่างๆ มีปริมาณสินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นทำให้การสั่งซื้อสินค้าชะลอตัวลง

    ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราคาดการณ์ไว้ว่าไตรมาสแรกของปีนี้จะเป็นไตรมาสอ่อนตัวที่สุด เป็นผลสืบเนื่องมาจากยอดขายอยู่ในอัตราที่สูงในปีที่ผ่านมา สินค้าคงคลังของลูกค้าอยู่ในระดับที่สูง และสถานการณ์ค่าขนส่งปรับตัวสู่ภาวะปกติ

    อย่างไรก็ตาม เรายังมองว่าปี 2566 สามารถกลับมามีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยเริ่มมีสัญญาณที่เป็นบวกในไตรมาสที่ 2 และเราคาดว่าสถานการณ์ต่างๆ จะกลับสู่สภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปี จากกระแสการบริโภคอาหารทะเลและโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก”

    ทั้งนี้ในไตรมาสแรกนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทได้ลดลงถึง 12.1 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 4,121 ล้านบาท จากการที่ค่าใช้จ่ายในการขนส่งปรับตัวดีขึ้นเข้าสู่สภาวะปกติ ผลจากการที่ตลาดทั่วโลกมีสินค้าคงคลังอยู่ในปริมาณที่สูงและราคาปลาที่สูงทำให้ความต้องการสินค้าต่างๆ ปรับตัวลง

    รวมถึงยอดขายในไตรมาสแรกของธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องของไทยยูเนี่ยนที่ลดลง 1.9 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ระดับ 15,225 ล้านบาท และยอดขายของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงลดลง 21.9 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ระดับ 3,495 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าความต้องการสินค้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์สินค้าคงคลังที่มีอยู่มากได้ค่อยๆ คลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง

    สำหรับธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นมียอดขายอยู่ที่ระดับ 11,684 ล้านบาท ลดลง 15.3 เปอร์เซ็นต์ จากการปรับตัวของราคาอาหารทะเลในตลาดสู่ภาวะปกติและยอดขายในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง

    สำหรับธุรกิจสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่นๆ มียอดขายอยู่ที่ 2,248 ล้านบาท ลดลง 9.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังสามารถคงอัตรากำไรขั้นต้นได้แข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 27.3 เปอร์เซ็นต์ โดยไทยยูเนี่ยนยังได้เปิดตัวสินค้าใหม่ที่พัฒนาด้วยนวัตกรรมของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น อาทิ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ทูน่าจากพืช ภายใต้แบรนด์ จอห์น เวสต์ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และ เรด ล็อบสเตอร์ ได้เปิดตัวสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งเป็นครั้งแรก ซึ่งมีวางจำหน่ายในร้านค้ากว่า 5 พันแห่งและออนไลน์ทั่วสหรัฐอเมริกา

    ในด้านยอดขายจากตลาดต่างๆ ทั่วโลกนั้น ไทยยูเนี่ยนมีสัดส่วนยอดขายตามภูมิภาคมีดังนี้ สหรัฐอเมริกาและแคนาดาอยู่ที่ 43 เปอร์เซ็นต์ ยุโรป 26 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทย 12 เปอร์เซ็นต์ และภูมิภาคอื่นๆ 19 เปอร์เซ็นต์

    “เรายังคงมุ่งเน้นเรื่องความสามารถในการทำกำไร การดำเนินงานด้วยความเป็นเลิศ และวินัยทางการเงิน เดินหน้าธุรกิจเราอย่างเต็มที่ตลอดปีนี้ สถานะทางการเงินของไทยยูเนี่ยนแข็งแกร่งด้วยสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ 0.57 เท่า ซึ่งดีกว่าเป้าหมายของเราที่ตั้งไว้ที่ระดับ 1-1.1 เท่า เปิดโอกาสให้เราสามารถมองไปข้างหน้าสู่การลงทุนใหม่ๆ ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่จะตอบโจทย์ด้านกลยุทธ์ให้กับบริษัท” ธีรพงศ์กล่าว

    ไทยยูเนี่ยนยังคงลงทุนในโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยงบลงทุน 6-6.5 พันล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในทุกประเภท มีการก่อสร้างโรงงาน 3 แห่งในจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ โรงงานผลิตอาหารพร้อมทาน ติ่มซำและสินค้าเบเกอรี่ โรงงานผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสตและคอลลาเจน เป็ปไทด์ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกและขนมทานเล่นที่มีไลน์การบรรจุหีบห่อแบบอัตโนมัติ และห้องเย็นอีกหนึ่งแห่งในประเทศกาน่า


    ทั้งนี้ จากการที่รายงานการเงินในปี 2566 นี้ มี 2 รายการที่ไม่สามารถเทียบได้ที่ถูกบันทึกในปี 2565 ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารทะเลระดับโลกให้สัญญาณบวกโดยได้รับส่วนแบ่งผลกำไร 121 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งขาดทุนจำนวน 243 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2565

     การเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมจากหุ้นบุริมสิทธิ เรด ล็อบสเตอร์ จำนวน 239 ล้านบาท (หลังหักภาษี) ซึ่งในไตรมาสแรกของปีนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากหุ้นบุริมสิทธิดังกล่าวเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูง

    ส่วนแบ่งกำไรสุทธิจากไอ-เทล คอร์ปอเรชั่นจำนวน 200 ล้านบาท เนื่องจากไอ-เทลได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาทำให้สัดส่วนหุ้นที่ไทยยูเนี่ยนถือครองมีจำนวนลดลงจาก 99.5 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 77.8 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น หากเปรียบเทียบกำไรสุทธิไตรมาสแรกของปีนี้กับปีที่แล้วที่ไม่นับรวมสองรายการนี้ กำไรสุทธิจะลดลง 21.8 เปอร์เซ็นต์


อ่านเพิ่มเติม: ทริพเพิล ไอ ยื่นไฟลิ่ง ANI เล็งขายหุ้น IPO คาดมาร์เก็ตแคปไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine