สถานการณ์การเมืองยังยืดเยื้อต่อไป ส่งผลกระทบต่อการลงทุนแล้วอย่างน้อย 2 ไตรมาส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ห่วงท่องเที่ยว กระทบการแก้ปัญหาภัยแล้ง ฉุดจีดีพีปีนี้อาจโตไม่ถึง 3% นักวิเคราะห์แนะ กลยุทธ์ลงทุนช่วง 2 สัปดาห์ผันผวนก่อนเลือกนายกรัฐมนตรี
สถานการณ์การเมืองในประเทศยังคงยืดเยื้อต่อไป หลังศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนวินิจฉัยกรณีการลงมติเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีให้โหวตซ้ำได้หรือไม่ ไปวันที่ 16 สิงหาคม ทำให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่าสุดต้องเลื่อนออกไปเช่นเดียวกัน เพื่อรอฟังมติศาลรัฐธรรมนูญ โดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะเรียกประชุมอีกครั้งในวันที่ 17 หรือ 18 สิงหาคม เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย
การจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อขณะนี้ มีผลต่อการเบิกจ่ายงบลงทุน ปี 2567 ให้ล่าช้าออกไปอย่างน้อย 2 ไตรมาส โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมประเมินผลกระทบอีกครั้ง ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ไม่เพียงกระทบต่อการลงทุนในประเทศ แต่รวมถึงกระทบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งจะมีผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
หวั่นฉุดจีดีพีไทยโตไม่ถึง3%
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2566 ไว้ที่ 3-3.5% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 29-30 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การเมืองเกิดความวุ่นวายและรุนแรง จำนวนนักท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะทำให้จีดีพีลดลง 1% เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2-2.5%
ทั้งนี้ ผลสำรวจภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ 1. การชุมนุมประท้วงและความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง 69.8% 2. ภาคเอกชนชะลอการลงทุน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ 66.7% 3. ความล่าช้าในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน 65.1% และ 4. ความเสี่ยงในการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จนส่งผลกระทบต่อโครงการต่างๆ 56.6%
สำหรับความกังวลต่อปัจจัยภายในประเทศช่วงครึ่งปีหลัง อันดับ 1 คือความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง 81% 2. ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงทั้งจากค่าไฟฟ้า พลังงาน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง 76.4% 3. กำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัวจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 64.3% และ 4. อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการเงิน และหนี้เสียที่เกิดขึ้น โดยภาคอุตสาหกรรมประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมองว่าทรงตัว 52% และแย่ลง 43%
ขณะที่ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่ศาลมีคำสั่งกรณีคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้พิจารณากรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเป็นไปแนวทางที่เห็นว่ารัฐสภาได้ดำเนินการโดยชอบแล้ว เชื่อว่าหลังจากนั้นรัฐสภาคงจะดำเนินการให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุดต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นวันที่ 17-18 สิงหาคม และทำให้ได้ครม.ชุดใหม่ ช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนกันยายนก่อนจะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
“หากไทม์ไลน์ต่างๆ เป็นเช่นนั้น ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่คงจะต้องเร่งจัดทำงบประมาณประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อดึงกำลังซื้อและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะตรงกับไตรมาส 4 ที่เป็นฤดูการท่องเที่ยวของไทยที่หลายฝ่ายประเมินว่าจะเป็นจุดฟื้นของเศรษฐกิจในปีนี้
ส่วนกรณีที่ศาลมีคำสั่งว่าการดำเนินการของรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และมีข้อวินิจฉัยเพิ่มเติมไปในแนวทางดังกล่าว ก็คงต้องรอความชัดเจนว่าจะส่งผลให้การเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีทิศทางเป็นอย่างไรและมีช่วงเวลานานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องมาประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง แต่เชื่อมั่นว่าศาลท่านจะมีการพิจารณาประเด็นต่างๆ ด้วยความรอบคอบและรวดเร็วที่สุด เพราะการมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศเร็วเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากในสถานการณ์เช่นนี้” สนั่นกล่าว
สำหรับประเด็นที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้ยุติการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเองซึ่งอยู่ในระหว่างรวบรวมเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีในรัฐสภานั้น หอการค้าฯ มองว่าส่วนนี้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่จะต้องดำเนินกระบวนการตามกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ และหากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ ก็เชื่อว่าน่าจะสามารถเร่งดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจได้ทันที เพราะพรรคเพื่อไทยเคยมีประสบการณ์ในด้านการบริหารประเทศมาก่อนหน้านี้ และหลายนโยบายในสมัยที่เป็นรัฐบาลก็สามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จ
ส่วนประเด็นความเห็นต่างและการชุมนุมที่เกิดขึ้นถือเป็นสิทธิของประชาชนที่จะแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย โดยหากไม่มีการชุมชนที่ยืดเยื้อหรือสถานการณ์ที่รุนแรงก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตได้ดีและเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย
“วันนี้สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในส่วนของภาคเอกชนนั้นไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็พร้อมทำงานร่วมกัน โดยที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องว่าสิ่งสำคัญคือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งล่าช้ายิ่งไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศ สนั่นกล่าว
นักวิเคราะห์แนะกลยุทธ์ช่วงสัปดาห์ผันผวน
บล.เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์กลยุทธ์ลงทุน ระบุว่า ตลาดหุ้นมีความกังวลสุญญากาศทางการเมืองที่ยาวนานขึ้น จากการที่ประธานสภาฯเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไป ประเด็นดังก่าวทำให้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และเป็นไปได้ที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเลยไปถึงเดือนกันยายน ซึ่งจะกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ซึ่งจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป และมีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะแกว่งผันผวนในช่วง 2 สัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะมีแรงหนุนจากปัจจัยภายนอก ดังนี้
1. วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จบ หลังจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยมาแล้วใน 1 ปี 7 เดือน จาก 0.25% มาเป็น 5.5% ซึ่งสูงกว่าเงินเฟ้อปัจจุบันที่ลดลงเหลือ 3% พอสมควร ส่งผลให้ตลาดคาด Fed น่าจะคงดอกเบี้ยไปจนถึงต้นปี 2567
2. ความกังวลเศรษฐกิจโลกเผชิญ Recession ลดลงหลังจาก IMF มีการปรับคาดการณ์ GDP โลกปี 2566 ขึ้นจาก 2.8% เป็น 3%
3. จีนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ถือว่าดีต่อเศรษฐกิจไทยที่มีมูลค่าการกับไทยมากสุดเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 22% ของมูลค่ารวมทั้งโลก
สำหรับปัจจัยในประเทศ ที่ต้องพิจารณา คือ 1. สถานการณ์การเมืองในประเทศ 2. เป็นช่วงการรายงานกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2 ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะลดลงทั้งจากไตรมาสก่อนหน้า และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะเห็นการเติบโตที่ดีขึ้น จากฐานกำไรที่ต่ำ
อ่านเพิ่มเติม : OPPO คว้าอันดับ 1 ในจีน และอันดับ 4 ในการส่งออกสมาร์ตโฟนทั่วโลก ครึ่งปีแรก 66
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine