กระทรวงการคลังแห่ง สปป.ลาว เปิดจองซื้อพันธบัตรสกุลเงินบาทไทย ชูดอกเบี้ย 6.1-6.6 % - Forbes Thailand

กระทรวงการคลังแห่ง สปป.ลาว เปิดจองซื้อพันธบัตรสกุลเงินบาทไทย ชูดอกเบี้ย 6.1-6.6 %

    กระทรวงการคลัง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เปิดจองซื้อพันธบัตรสกุลเงินบาทในประเทศไทย (บาทบอนด์) จำนวน 2 ชุด ในวันที่ 31 ก.ค และ 2 - 3 ส.ค. 2566 นี้ วงเงินรวมไม่เกิน 3,610.3 ล้านบาท พร้อมชูดอกเบี้ย 6.1-6.6 % กำหนดชำระดอกเบี้ยทุก 3 เดือน พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจเต็มสูบ ด้วยโครงการโรงไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และการส่งออก เพื่อยกระดับเศรษฐกิจสู่ความอย่างยั่งยืนในอนาคตตามเป้าหมายที่วางไว้

    สุลีวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมคุ้มครองหนี้สินสาธารณะ กระทรวงการคลัง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เปิดเผยว่า “จากไตรมาส 3 ของปี 2563 สปป.ลาว ได้เปลี่ยนสถานะจากการขาดดุลบัญชีการค้ามาเป็น การเกินดุลบัญชีการค้าแล้ว โดยปี 2564 มีมูลค่าการส่งออก 7,695 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2565 มีมูลค่าการส่งออก 8,198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีอัตราเติบโตเพิ่มมากขึ้นแบบขั้นบันไดอย่างมีนัยสำคัญ 

    โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกไฟฟ้า แร่ธาตุ ผลิตผลจากไม้ เยื่อไม้และกระดาษ สินค้าเกษตร ประกอบด้วย ยางพารา มันสัมปะหลัง กล้วย อ้อย และกาแฟ ไปยังประเทศปลายทางต่างๆ เช่น ไทย จีน เวียดนาม ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างพื้นฐานและโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่กำลังทยอยก่อสร้างเสร็จ เช่น โครงการรถไฟฟ้าลาว-จีน โครงการก่อสร้าง เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ (โครงการท่าบกท่านาแล้ง ศูนย์โลจิสติกส์เวียงจันทน์) และทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งประมาณ 30 - 40% และประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้า ส่งผลให้ สปป.ลาว สามารถส่งออกไปจีนและอาเซียนได้เพิ่มขึ้น และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

    โดยล่าสุด กระทรวงการคลัง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เตรียมเสนอขายพันธบัตร ครั้งที่ 1/2566 โดยเป็นพันธบัตรชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือพันธบัตร รวมจำนวน 2 ชุด ในรูปแบบสกุลเงินบาทไทย วงเงินรวมไม่เกิน 3,610.3 ล้านบาท โดยพันธบัตร 

    ชุดที่1 อายุ 3 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.1% ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2569 และพันธบัตร 

    ชุดที่2 อายุ 4 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.6% ครบกำหนดไถ่ถอน ในปี 2570 กำหนดการชำระดอกเบี้ย ทุกๆ 3 เดือน 

    โดยมี บริษัท หลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จํากัด (มหาชน) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตรสกุลเงินบาทในประเทศไทยในครั้งนี้

    ทั้งนี้ พันธบัตรของกระทรวงการคลัง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เตรียมเปิดให้จองซื้อ ในวันที่ 31 ก.ค และ 2 - 3 ส.ค 2566 นี้ โดยเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท จองขั้นต่ำ 100 หน่วย ให้กับผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) และผู้ลงทุนสถาบัน (II) สำหรับวัตถุประสงค์การเสนอขายพันธบัตรในครั้งนี้ เพื่อต้องการนำเงินที่ได้ไปใช้รีไฟแนนซ์พันธบัตรชุดเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2566

    อย่างไรก็ตาม สุลีวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมคุ้มครองหนี้สินสาธารณะ กระทรวงการคลัง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวตอกย้ำความมั่นใจว่า “พันธบัตรของกระทรวงการคลัง แห่งสปป.ลาว น่าจะได้รับ การตอบรับที่ดีจากกลุ่มนักลงทุนไทยที่เชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของสปป.ลาว ซึ่งตั้งแต่ปี 2556 ได้รับการตอบรับจาก นักลงทุนไทยเป็นอย่างดีต่อเนื่องมายาวนาน ไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระกับนักลงทุน สามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามเงื่อนไขมาโดยตลอด

    ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีความแข็งแกร่งจากความได้เปรียบทางภูมิประเทศ ซึ่งข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศที่ลาวมีคือ พื้นที่รองรับน้ำฝนมีมากถึง 202,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 85% ของพื้นที่ทั้งหมดส่งผลดี ต่อเศรษฐกิจลาวในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานน้ำ (Hydro Power) ที่สามารถนำพลังงานน้ำมาผลิตไฟฟ้า ใช้ในประเทศรวมถึงส่งออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ สปป.ลาว จึงเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำรายใหญ่ของอาเซียน จนได้รับการขนานนามว่า “แบตเตอรี่แห่งอาเซียน” โดยตามเป้าหมายของลาว ภายในปี 2573 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 20,000 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 80% จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 11,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของสปป.ลาว คือไฟฟ้า

    นอกจากนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ยังเป็นประตูเชื่อมระหว่างจีนและอาเซียน ที่กำลังก้าวสู่ การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญ ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างเต็มรูปแบบ เช่น โครงการรถไฟฟ้าลาว-จีน โครงการทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น และโครงการท่าบก ท่านาแล้ง ศูนย์โลจิสติกส์เวียงจันทน์ (Vientiane Logistics Park) ที่เปิดดำเนินการแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถ ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง ช่วยเพิ่มโอกาสให้สินค้าส่งออกของอาเซียน และมีการขนส่งผ่านทางประเทศลาวมากขึ้น รวมไปถึงช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้มาตั้งฐานการผลิตในสปป.ลาว เพิ่มขึ้นอีกด้วย

    ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งในระยะยาว โดยได้เร่งพัฒนาเพื่อยกระดับเศรษฐกิจเชื่อมโยงโลกการค้าอาเซียนสู่ตลาดต่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น และคาดว่าปี 2566-2568 GDP ของสปป.ลาว จะโตขึ้นปีละประมาณ 4.5% - 5.0%


    อ่านเพิ่มเติม : PrimeStreet Capital ตั้งเป้าร่วมลงทุนเพิ่มอีก 4-5 บริษัทภายในปี 67 ชูธีม “ความเสี่ยงต่ำ-ผลตอบแทนสูง”

    ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine