บริษัท เพนดูลัม จํากัด เปิดตัว SHH Pendulum ร้านบูติกคอนเซ็ปต์แห่งแรกในไทย ทุ่มงบกว่า 500 ล้านบาท คัดสรรนาฬิกาแบรนด์อิสระสุดหรู เน้นดีไซน์รุ่นหายาก rare item ตอบโจทย์เหล่านักธุรกิจ มหาเศรษฐี และนักสะสมงานศิลป์สุดประณีตบนข้อมือ
ช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา ทีมงาน Forbes Thailand มีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ มร.โจเซฟ วี (Joseph Wee) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เพนดูลัม จํากัด ณ ร้านบูติกคอนเซ็ปต์ SHH Pendulum ที่เพิ่งเปิดตัวแห่งแรกในไทยไปไม่นานมานี้ โดยร้านบูติกคอนเซ็ปต์ดังกล่าวตั้งอยู่ภายในห้างดังย่านใจกลางเมืองอย่างสยามพารากอน บรรยากาศภายในร้านแบ่งออกเป็น 3 โซน ตกแต่งไว้ได้อย่างหรูหราสวยงาม ตู้โชว์เรือนเวลาแห่งศิลป์แต่ละส่วนยังบอกเล่าเรื่องราวของนาฬิกาแบรนด์อิสระ (Indy Watch) ที่ผลิตออกมาด้วยความประณีตในแต่ละปีเป็นจำนวนน้อยมากๆ ถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่มีมูลค่าที่เหล่าบรรดานักสะสมรายได้สูงต่างหมายปองมีไว้ในครอบครอง
SHH Pendulum แห่งแรกในไทย
มร.โจเซฟ เล่าถึงที่มาในการเปิดตัวบูติกคอนเซ็ปต์ SHH Pendulum แห่งแรกในไทย ให้ฟังว่า จากเดิมเพนดูลัมมีร้านบูติกจำหน่ายนาฬิกาแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมากมายกว่า 30 แบรนด์ เป็นจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เพนดูลัม เซ็นทรัลเวิลด์ และ เพนดูลัม เซ็นทรัล เชียงใหม่ หลังจากนั้นได้เพนดูลัมได้เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทแม่อย่าง ซินเซีย กรุ๊ป (Sincere Group) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2497 และยังถือเป็นบริษัทชั้นนำในวงการค้าปลีกนาฬิการะดับลักซ์ชัวรีของประเทศสิงคโปร์
ทั้งนี้ หลังจากที่ ซินเซีย กรุ๊ป (Sincere Group) ได้เปิดตัวบูติกคอนเซ็ปต์ SHH Pendulum ณ มารีนาเบย์แซนด์ ประเทศสิงคโปร์ไปเมื่อปีก่อน ทางบริษัทมองเห็นศักยภาพการเติบโตในธุรกิจและกำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายระดับ Hi-end ในประเทศไทย จึงได้ทำการเปิดตัว SHH Pendulum บูติกคอนเซ็ปต์แห่งแรกในวันที่ 7 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งคอนเซ็ปต์หลักของบูติกแห่งนี้มีการยกระดับความหรูหราให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าระดับ hi-end มากขึ้นกว่าเดิม
โดยทำการคัดสรรแบรนด์นาฬิกาหรูระดับโลกและแบรนด์นาฬิกาอิสระ (Indy Brand) ที่ผลิตผลงานในแต่ละปีออกมาน้อยมากๆ ถือเป็นของสะสมหายาก rare item จำนวนทั้งสิ้น 17 แบรนด์ ประกอบด้วย Angelus, Armin Strom, Arnold & Son, Christiaan van der Klaauw, Blancpain, Breguet, Credor, Cvstos, Czapek, Fredinand Berthoud, Greubel Forsey, Gronefeld, H. Moser & Cie., Lang & Heyne, Laurent Ferrier, Louis Moinet และ Moritz Grossmann
"เหตุผล 3 ข้อหลักของการเปิด SHH Pendulum แห่งแรกในไทย คือ 1. กลุ่มลูกค้าคนไทยที่สะสมนาฬิกาหรูมีความหลงใหลในเรื่องราวประวัติต่างๆ ของแต่ละแบรนด์เป็นอย่างมากและยังชื่นชอบหาข้อมูลของแบรนด์ที่อยากมีไว้ในครอบครองได้เป็นอย่างดี 2. ลูกค้าในไทยหลายรายมีการเดินทางไปเลือกซื้อนาฬิกาแบรนด์อิสระ (Induy Watch) รุ่นหายาก rare item ที่สิงคโปร์อยู่บ่อยครั้ง และ 3. เพื่อตอบโจทย์บริการหลังการขายหลังจากลูกค้าคนไทยที่เคยซื้อนาฬิกาที่สิงคโปร์แล้วต้องการ service บริการต่างๆ ในภายหลัง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะช่วยสร้างความสะดวกสบายให้แก่กลุ่มลูกค้าระดับ Hi-end ที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูงในไทยได้เป็นอย่างดี" มร.โจเซฟ กล่าว
ทุ่ม 500 ล้าน ตอบโจทย์นักสะสม Rare Item
สินค้าหรือบริการสำหรับกลุ่มลูกค้าระดับ Hi-end ทางเพนดูลัมจึงจำเป็นต้องสร้างประสบการณ์ที่เหนือระดับด้วยการทุ่มงบเนรมิตร้านบูติกคอนเซ็ปต์ให้มีพื้นที่ใช้สอยโดยรวมแบ่งออกเป็นสามโซน โดยโซนแรกจะเป็นตู้จัดแสดงแบบไอส์แลนด์ขนาดใหญ่ใจกลางบูติก ถือเป็นไฮไลต์สำหรับจัดแสดงเรือนเวลาชิ้นพิเศษจากแบรนด์ระดับเอ็กซ์คลูซีฟ ถัดมาในโซนที่สองมีการติดตั้งแท่นโพเดียมติดผนังลักษณะคล้ายแคปซูล พร้อมแผงควบคุมดิจิทัลแบบอินเตอร์แอคทีฟ ให้ความรู้สึกเสมือนกำลังเยี่ยมชมเรือนเวลาสุดหรูจากแบรนด์ต่างๆ ภายในนิทรรศการ ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมในโซนนี้จะสามารถอ่านรายละเอียดและศึกษาข้อมูลต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย
และในส่วนของโซนสุดท้าย private zone ซึ่งลูกค้าระดับสุด Exclusive หรือ Top Spender ที่มียอดใช้จ่ายต่อปีตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป สามารถใช้เลือกจองใช้เป็นห้องรับรองส่วนตัวสำหรับชื่นชมเรือนเวลาที่คัดสรรมาพิเศษในบรรยากาศผ่อนคลาย พร้อมมีบริการสะดวกสบายด้วยไวน์บาร์ให้บริการเครื่องดื่มนานาชนิดได้ปีละ 2 ครั้ง ทั้งที่ไทยและสิงคโปร์ได้อีกด้วย
นอกเหนือจากบรรยากาศและประสบการณ์อันหรูหราภายในร้าน SHH Pendulum ยังใส่ใจในการคัดสรรพนักงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของนาฬิกาไว้ให้บริการข้อมูลต่างๆ แก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังทุ่มงบกว่า 500 ล้านบาท ในการคััดสรรนาฬิการุ่นพิเศษสุด Exclusive จากแบรนด์ดังต่างๆ ซึ่งเป็นดีไซน์การผลิตด้วยความประณีต และในแต่ละปีจึงมีผลงานออกมาน้อยมากๆ ถือเป็นเรือนเวลาแห่งงานศิลป์ของหายากหรือเรียกได้ว่าเป็น rare item นำมาเก็บไว้ในสต็อกเพื่อให้กลุ่มลูกค้าระดับบนซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีกำลังซื้อสูง เช่น นักธุรกิจระดับ CEO, มหาเศรษฐี รวมถึงเหล่านักสะสมนาฬิกาแบรนด์หรูที่นิยมแบรนด์อิสระ (Indy Brand) มีไว้เป็นทางเลือกที่หลากหลายก่อนจะตัดสินใจซื้อนำมาสะสมไว้ในครอบครอง
"บูติกคอนเซ็ปต์ของเราโดดเด่นและแตกต่างจากที่อื่นอย่างแน่นอน เฉพาะแบรนด์ Greubel Forsey ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับตำนานมีอายุเก่าแก่กว่า 250 ปี เรามีนาฬิการุ่นพิเศษของแบรนด์นี้ในราคาเรือนละ 20 ล้านบาท เก็บอยู่ในสต็อกไว้ให้ลูกค้าได้เลือกชมก่อนตัดสินใจซื้อถึง 5 เรือน นอกจากนี้ยังมีรุ่น Limited Edition สุดพิเศษที่ทางแบรนด์ต่างๆ รังสรรค์ผลิตขึ้นให้เราได้นำมาเสนอแก่ลูกค้าอีกมากมาย
ซึ่งร้านบูติกจำหน่ายนาฬิกาแบรนด์อื่นจะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ราวๆ 3-5 แสนบาท แต่ของเราจะเริ่มต้นที่ 5 แสนบาท ขณะที่ดีไซน์หรือแบรนด์ที่มีความหรูหราเพิ่มขึ้นมาอีกระดับของเราจะมีราคาอยู่ที่เรือนละ 1.5-2 ล้านบาท ถือเป็นราคาและรุ่นพิเศษสุด Exclusive ที่หาจากที่ไหนไม่ได้จึงมีราคาแพงกว่าร้านบูติกทั่วไปราวๆ 3 เท่า" มร.โจเซฟ บอกเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมกับหยิบนาฬิกาแบรนด์ต่างๆ ที่มีมูลค่าสูงถึง 15-20 ล้านบาท มาให้ทีมงาน Forbes Thailand ได้สัมผัสพร้อมเชยชมความงามแห่งศิลป์ของกลไลบอกเวลา
คนรวยยุคใหม่ สะสม "สินทรัพย์" ประดับข้อมือ
หลังจากเปิดตัวร้านบูติกอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ผู้บริหารของเพนดูลัมซึ่งเป็นคนสิงคโปร์แต่พูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วเล่าว่า ได้ผลตอบรับดีเกินคาดโดยลูกค้าหลักส่วนใหญ่ 95% เป็นคนไทย ที่เหลืออีก 5% เป็น นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง, กัมพูชา และสิงคโปร์ ทั้งนี้ เมื่อดูจากฐานลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมภายในร้าน 70% เป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ walk in เดินเข้ามาหลังจากสะดุดตาจากนาฬิการุ่นต่างๆ ที่วางโชว์ให้เห็นผ่านกระจกหน้าร้าน ส่วน 30% ที่เหลือเป็นกลุ่มลูกค้าเก่า
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าของ SHH Pendulum ระหว่างสิงคโปร์กับไทย จะเห็นได้ว่ากลุ่มลูกค้าระดับ Hi-end ของไทยจะมีช่วงอายุเริ่มตั้งแต่ 28-30 ปีขึ้นไป ถือเป็นกลุ่มคนรวยมีฐานะรุ่นใหม่ หรือ Young Entrepreneur ที่เริ่มมีความสนใจหลงใหลศิลปะผ่านเรือนเวลาบนข้อมือด้วย แตกต่างจากสิงคโปร์ที่กลุ่มลูกค้าจะมีอายุเริ่มตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
สำหรับเทรนด์ของการเลือกซื้อนาฬิกาแบรนด์หรูไว้สะสมหรือประดับบนข้อมือนั้น มร.โจเซฟ บอกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักสะสมนาฬิกาส่วนใหญ่จะนิยมนาฬิกาที่มีหน้าปัดขนาดใหญ่ 42-48 มม. แต่ ณ ปัจจุบัน ผู้คนเริ่มหันมาสนใจหน้าปัดขนาด 38 มม. แทน เพราะเมื่อหน้าปัดมีขนาดเล็กลง วิธีการผลิตก็จะต้องพิถีพิถันใช้เวลานานมากขึ้นในการสร้างกลไกต่างๆ ให้ออกมาสวยงามประณีต และต้องบอกเวลาได้อย่างแม่นยำ เที่ยงตรง
ซึ่งในส่วนของการใช้จ่ายเงินไปกับนาฬิกาแบรนด์หรูหายากระดับ rare item ที่บางคนอาจจะบอกว่าสามารถดูเวลาผ่านมือถือสมาร์ทโฟนทั่วไปก็ได้นั้น ทาง มร.โจเซฟ ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า "นาฬิกาแบรนด์หรูระดับตำนานที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ผู้มีความมั่งคั่งส่วนใหญ่หันมานิยมสะสมกันมากขึ้น เพราะนาฬิกาดังกล่าวไม่ได้มีแค่คุณสมบัติในการบอกเวลา แต่ยังถือเป็นงานศิลปะแห่งเรือนเวลาสุดล้ำค่าที่ยิ่งเก็บไว้นานก็ยิ่งมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และยังถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์เคลื่อนที่ที่สามารถสวมใส่ติดตัวไปได้ทุกที่แตกต่างจากบ้านหรือคอนโดฯ รวมถึงรถซูเปอร์คาร์ อีกทั้งยังเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะ ความน่าเชื่อถือ และรสนิยมของผู้ที่สวมใส่ได้เป็นอย่างดี"
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ SINO ผสานน่านน้ำการค้าโลก
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine