ช่วงที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยต้องเผชิญศึกหนักอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดหุ้นขาลง ไปจนถึงเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างอย่างเช่น กรณีปั่นหุ้นของ MORE หรือเคสทุจริตครั้งใหญ่อย่าง STARK และ EA
ท่ามกลางประเด็นร้อนแรงเหล่านี้ ความกดดันย่อมถาโถมไปยังผู้คุมกฎอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่อยู่ภายใต้การนำของเลขาธิการ ‘รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล’ ที่ต้องเตรียมและรับมืิอทุกเรื่องที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน
‘การพัฒนา’ ไม่สิ้นสุด ยิ่งต้องลำดับความสำคัญ
เกือบครบ 1 ปีที่ ‘พรอนงค์ บุษราตระกูล’ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการของ ก.ล.ต. ที่ต้องจัดการ และมีส่วนในการตัดสินใจประเด็นร้อนของสังคมมากมาย
พรอนงค์ เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เข้ามาเริ่มงานมีทั้งงานประจำ และเรื่องต่างๆ ที่เข้ามา เลยต้องใช้การจัดความสำคัญเรื่องก่อน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำทุกเรื่องพร้อมกัน ส่วนตัวเริ่มใช้วิธีนี้มาตั้งแต่ตอนอายุ 40 กว่า ยิ่งพอมารับตำแหน่งนี้ในวัยนี้จึงนำ Time Management มาใช้ เมื่อเราเรียงลำดับความสำคัญได้แล้ว ก็จะช่วยลดความกังวลลง
แนวคิดนี้ยังปรับมาใช้ในองค์กรอีกด้วย จากภารกิจของ ก.ล.ต. คือ การกำกับและพัฒนาที่ต้องทำต่อเนื่อง และไม่สามารถเห็นผลได้ในระยะสั้น ฉะนั้นความเครียดจะมาด้วย
“การพัฒนาไม่มีสิ้นสุด เป็นงานที่ไม่มีการจบอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นถ้าเราอยากจะเห็น Intimate outcome เกิดขึ้น แต่ภาพมันอาจจะยังไม่เป็นแบบนั้น เราก็ต้องเอามาจัด Prioritize (เรียงความสำคัญ)”
ด้วยบทบาทในการกำกับและพัฒนานี้ ยังต้องปรับเปลี่ยนตามบริบทของตลาดทุน อย่างเรื่องดิจิทัล สังคมสีเขียวที่ ก.ล.ต. กำลังเร่งมือปูถนนเพื่อรองรับเรื่องต่างๆ
"เหมือนเราต้องทำถนนไปเรื่อยๆ ถ้าถนนเดิมมันเริ่มผุกร่อน เราก็ต้องเสริมเหล็กมันเข้าไป”
บทบาทของ ก.ล.ต. ต่อประเด็นร้อนในสังคม
ช่วงที่ผ่านมา ตลาดทุนมีประเด็นร้อนแรงอยู่เสมอ พรอนงค์ เล่าต่อว่า จากเรื่องล่าสุดที่บังคับใช้กฎหมายการกล่าวโทษผู้บริหารเมื่อทำทุจริต อยากให้เห็นว่า นี่เป็นบทบาทของทางสำนักงานฯ ในการกำกับดูแลตลาดทุน ซึ่งรวมถึงบริษัทจดทะเบียนกว่า 800 บริษัท เมื่อมีหลักฐานทางสำนักงานฯ ก็ต้องดำเนินการ ไม่มีข้อยกเว้น
“เคสที่เราเพิ่งกล่าวโทษไป (EA) การทำเกิดขึ้นปี 2556 - 2559 แต่เนื่องจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ จึงต้องมีการขอหลักฐาน ขอการยืนยัน ไม่ว่าจะจากสถาบันการเงิน ผู้กำกับในต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลา จึงไม่อยากแก้ตัวว่าต้องเป็นแบบนี้ แต่ดิฉันเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถกระชับได้ เรารู้แล้วว่า Pain Point อยู่ตรงไหน แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อเกี่ยวข้องกับจำนวนคน ธุรกรรมจำนวนมาก และหลายปาร์ตี้ ดังนั้นจึงมีการใช้ระยะเวลาแบบนี้อยู่”
การจัดการกรณีต่างๆ ต้องมีความกระจ่างชัด จึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลเบาะแสต่างๆ ที่ได้มาซึ่งจะส่งผลต่อระยะเวลาในการดำเนินการด้วย
“เวลามองเรื่องทุจริต หลายคนจะถามว่า กรณีนี้จะเป็นกรณีสุดท้ายไหม” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวต่อว่า สำนักงานฯ ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่มีคนทำ แต่บทบาทหน้าที่ของสำนักงานฯ คือจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนทำ (ทุจริต) มีโอกาสทำได้น้อยลง
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ยกระดับการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ ‘บริษัทจดทะเบียนเข้มแข็ง’ ที่จะเป็นมาตรการป้องกัน ผ่าน 3 ส่วน ตั้งแต่บริษัทที่ต้องมีกระบวนการกลั่นกรอง ตรวจจับ และการยกระดับ Gate Keeper ที่อยู่รอบนอก เช่น ผู้สอบบัญชี นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับผู้ประเมินความน่าเชื่อถือต่างๆ ซึ่งในแต่ละส่วนจะต้องปรับตัวตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องมีการกลั่นกรองที่เข้มข้นขึ้น
ความเชื่อมั่นสำคัญแต่ต้องยึดบทบาทของ ก.ล.ต.
ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่สำนักงานฯ ให้ความสำคัญ แต่ไม่ใช่เป้าหมายที่จะมุ่งสร้างความเชื่อมั่น โดยสิ่งที่สำนักงานพยายามจะสร้างคือ การทำหน้าที่ของตนเองในด้านการกำกับ-ดูแล และสื่อสารให้คนรับรู้ เข้าใจ ซึ่งเชื่อว่าความเชื่อมั่นน่าจะตามมาเอง
“อนงค์เชื่อว่า ความเชื่อมั่นไม่ใช่ Intimate outcome ที่สำนักงานฯ ต้องไป Boost ให้มันเกิดขึ้น จะไม่เหมือนการ Boost ยอด like หรือว่าการ Survey ที่วันนี้เขาเชื่อมั่นแล้วเราจะพอใจ อนงค์ว่าความเชื่อมั่น เป็นสินทรัพย์และเป็นสิ่งที่จะสร้างอย่างอื่นต่อไป”
การยืนหยัดในบทบาทหน้าที่และ Action ทั้งในด้านการกำกับและพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญที่ ก.ล.ต. ยึดถือ แม้บางอย่างอาจติดขั้นตอนที่ทำให้ดูช้า แต่อนาคตสำนักงานฯ พร้อมปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างเต็มความสามารถ และพร้อมพัฒนาในโจทย์ท้าทายต่างๆ เช่น สังคมสีเขียว เรื่องดิจิทัล
ใช้ ‘เทคโนโลยี’ ยกระดับการกำกับดูแล
ปัจจุบัน ก.ล.ต. มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจจับความผิดปกติต่างๆ ในงบการเงินไปจนถึงเรื่อง Fraud Detection โดยอยู่ระหว่างการขยายผลให้การตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้เร็วขึ้น ทันกับจำนวนข้อมูลที่มากขึ้น และข้อมูลที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อนำระบบมาทำ Back Test กับกรณีที่เคยเกิดขึ้นในอดีตถือว่าจับควันไฟ (จับความผิดปกติ) ได้ระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังพัฒนาเรื่อง Open Data ที่หากเชื่อมต่อกันแล้วจะสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอดด้านอื่นๆ ได้ เช่น Check&Balance ทั้งนี้ ก.ล.ต มีการทำโครงการ Open Data ร่วมกับ หน่วยงานผู้กำกับ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำ Standardized (การสร้างมาตรฐานกลาง) สำหรับข้อมูล Open Data
ในความร่วมมือเรื่อง Open Data กับฝั่งผู้ประกอบธุรกิจ เช่น สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) ได้พูดคุยเรื่องการส่งข้อมูลมายัง Security Bureau เช่น ข้อมูล Margin เพื่อให้รู้ว่าหลักทรัพย์ตัวไหนมีการค้ำประกันสูง อาจช่วยเพิ่มการระมัดระวังในการให้สินเชื่อ Margin ได้ เป็นต้น โดย ก.ล.ต.จะเป็นผู้กำกับและมีการส่งไปยังบริษัทหลักทรัพย์ในเชิงป้องกันความเสี่ยง
อีกทั้งช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีเรื่องการ Short Sell, Program Trading เกิดขึ้น ทาง ก.ล.ต จึงเห็นพ้องกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้มากขึ้น ให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมี รายงานผลของหุ้น IPO ที่ ก.ล.ต. จัดทำทุกๆ 6 เดือนเพื่อให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ง่ายขึ้น
เดินหน้า Cryptocurrency และกระแส Green ไปพร้อมกัน
อีกความท้าทายหลักของ ก.ล.ต. คือการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ที่นอกจากจะเป็นเรื่องใหม่ และยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1) Cryptocurrency ที่จะมุ่งยกระดับธรรมาภิบาลของผู้ประกอบธุรกิจต่อนักลงทุน โดยเฉพาะในด้านการเข้าใจความเสี่ยงและการโฆษณาอย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึง ก.ล.ต. พยายามผลักดันให้มีผู้ดูแลทรัพย์สินในประเทศ (Local Custodian) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ขอใบอนุญาต 1 ราย และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว ซึ่งตอนนี้ก็รอจะ effective ตามกระบวนการต่อไป
และ 2) Investment Token และ Utility Token โดยเฉพาะ Investment Token มองว่าเป็นเครื่องมือในการระดมทุนที่เหมาะกับสังคมดิจิทัล เหมาะกับผู้ลงทุนในด้านการแชร์ผลประโยชน์ของโปรเจค และเหมาะกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก คาดว่าน่าจะเห็นการใช้ Investment Token ในธุรกิจ Green กลุ่มสื่อ หรือธุรกิจที่เป็นการสร้างสรรค์
“ในช่วง 3 ปีนี้ Green Investment Token เป็นหนึ่งในประเภทที่เราอยากจะส่งเสริม เพราะเหมือนยิงปืนนัดเดียวได้สองโจทก์คือ ได้เรื่องดิจิทัล และเรื่อง Green ตัวนี้จะ effective ในเดือนมิถุนายนนี้”
ในระยะถัดไป สำนักงานฯ อยากสนับสนุนให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งปัจจุบันไทยมีการซื้อขายอยู่แล้ว หากเราเข้าไปทำให้การซื้อขายในตลาดรองมีสภาพคล่องมากขึ้น มีมาตรฐานมากขึ้น โดยหนึ่งในเครื่องมือที่อาจนำมาใช้ได้คือ Utility Token และ Digital Token ที่เป็นเครดิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตเหล่านี้กับนักลงทุนได้
“เชื่อว่าตลาด 1-2 ปี ข้างหน้าคาร์บอนเครดิตจะมี Supply มี Demand ที่จะทำให้ตลาดรองมีความสำคัญขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นแผนที่ทุกประเทศกำลังศึกษา และพยายามจะ implement ลองผิดลองถูกอยู่”
ภาพ: ก.ล.ต.
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ก.ล.ต. เร่งศึกษาตั้งกองทุนเยียวยาฯ ชดเชยความเสียหายนักลงทุน ส่วน Thai ESG พร้อมปรับเกณฑ์แล้ว
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine