Pipatchara เปลี่ยนขยะไร้ค่าสู่สินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทยในตลาดโลก - Forbes Thailand

Pipatchara เปลี่ยนขยะไร้ค่าสู่สินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทยในตลาดโลก

ฝาขวดพลาสติกที่ดูเหมือนขยะไร้ค่า เพชร ภิพัชรา แก้วจินดา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PIPATCHARA สามารถนำมาแปลงร่างเปลี่ยนเป็นสินค้าแฟชั่นกระเป๋าและเสื้อผ้า สร้างรายได้และความยั่งยืนให้แก่ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคม พร้อมผงาดแข่งขันในตลาดโลกธุรกิจแฟชั่นได้อย่างสวยงาม


    การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งต้องใส่พลังความคิดสร้างสรรค์ลงไปในสินค้าแฟชั่น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมสนับสนุนชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เดินเคียงคู่กันไปได้อย่างยั่งยืน ก็ยิ่งดูเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ในช่วงบ่าย กับ ดีไซเนอร์สาว เพชร ภิพัชรา แก้วจินดา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PIPATCHARA ณ แฟล็กชิพสโตร์ซึ่งตั้งอยู่ภายในห้างใหม่ใจกลางเมืองบนถนนเส้นสุขุมวิท ที่เพิ่งจะเปิดตัวร้านไปพร้อมๆ กับการเปิดตัวห้างอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว 

     ปี 2018 คือจุดเริ่มต้นที่ เพชร ภิพัชรา ได้ทำธุรกิจผลิตกระเป๋าหนังภายใต้ชื่อแบรนด์ของตนเองร่วมกับพี่สาว ทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา โดยคีย์หลักสำคัญที่ทั้งคู่วางแผนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจแบรนด์สินค้ากระเป๋าแฟชั่น สามารถมีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือ Community ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เมื่อพี่สาวของเธอมีความรู้ในเรื่องของงาน Craft (งานศิลปะหัตกรรมที่ทำด้วยมือ) จากความชื่นชอบในงานศิลปะและยังได้ฝึกเวิร์กช็อปงานฝีมือในรูปแบบที่หลากหลาย แต่หนึ่งในนั้นก็คือ มาคราเม่ (Macrame) งานศิลปะที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอาหรับด้วยการถักเชือกหนังเส้นยาวๆ ให้ออกมาเป็นลวดลายที่สวยงามรูปแบบต่างๆ 



    ภิพัชราจึงเลือกนำเอางานฝีมือ "มาคราเม่" ดังกล่าวมาผสมผสานเข้ากับการดีไซน์ออกแบบหลังจากที่เธอศึกษาจบมาทางด้าน Fashion Design จาก Academy of Art University และยังเคยเป็นนักเรียนทุนที่ ecole de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne แห่งนครปารีส ประเทศฝรั่งเศส 1 ปี หลังจากนั้นจึงได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยการฝึกฝีมือทำงานด้านแฟชั่นดีไซน์ที่ฝรั่งเศส 5-6 ปี และยังเคยร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลก ทั้ง Givenchy และ Chloe อีกด้วย เมื่อมีจุดแข็งและจุดเด่นทั้ง 2 ด้านมาประกอบกันการผลิตกระเป๋าหนังของแบรนด์ PIPATCHARA จึงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์สวยงาม โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร


    ช่วงบุกเบิกธุรกิจระหว่าง 1-2 ปีแรก จิตริณี มีโอกาสได้ร่วมงานกับจิตอาสามูลนิธิสิติ โดย คุณเกรท-เสกสรร รวยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ด้วยการไปเเจกจ่ายเครื่องทำน้ำสะอาดจนเกิดเป็นชุมชนเเรกขึ้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากนั้นเธอจึงเดินทางขึ้นเหนืออยู่บ่อยครั้งเพื่อติดต่อคัดสรรเลือกหาทีมงานซึ่งเป็นคุณครูในชุมชนจำนวน 8 คน พร้อมฝึกทักษะให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถถักเชือกหนังเป็นไปในรูปแบบต่างๆ และยังใช้เวลาว่างสร้างรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น เมื่อผลงานล็อตแรกผลิตออกมาได้อย่างประณีตสวยงามตามต้องการจำนวน 30 ใบ และยังขายดีหมดเกลี้ยงภายใน 3 วัน จากกลุ่มคนที่สนิทและบอกปากต่อปากช่วยกันซื้อ ภิพัชราจึงมองเห็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องว่าสินค้าของเธอสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบศิลปะ รักในงานฝีมือ และตัวสินค้ายังต้องมีสตอรี่ของเรื่องราวความเป็นมาที่ดีๆ ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

    "ฟีดแบ็กที่ได้รับดีเกินคาดมากๆ ค่ะ หลังจากนั้น 7 เดือน เราก็เปิดร้าน pop up store ในย่านทองหล่อ พร้อมกับผลิตกระเป๋าเพิ่มขึ้นจาก 100 ใบ เป็น 200 ใบ แล้วแตกยอดเป็นสินค้าอื่นด้วย เช่น รองเท้าแตะ เมื่อยอดขายเพิ่มมากขึ้นเราก็มีส่วนช่วยสนับสนุนคนในแต่ละชุมชนที่ฝึกทักษะฝีมือทำงานศิลป์ทั้งการถักเชือกหนังและการประกอบสินค้าวัสดุรีไซเคิลต่างๆ จากเดิมที่มีเพียง 1 ชุมชน สร้างรายได้เสริมให้คนในชุมชน 8 คน ก็ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเป็น 5 ชุมชน และสร้างรายได้เสริมให้แก่ผู้คนมากขึ้นถึง 70 คน" ภิพัชรากล่าว 


นวัตกรรมเปลี่ยนขยะสร้างมูลค่า

    ถัดมาในปี 2022 PIPATCHARA มีความก้าวหน้ามากขึ้นแม้จะเพิ่งก่อตั้งธุรกิจมาได้เพียงไม่นาน โดยทางแบรนด์มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำเทคโนโลยีนวัตกรรมหรือ Innovation มาแปลงร่างให้ขยะที่ไร้ค่าอย่าง ฝาขวด, ช้อนและกล่องพลาสติก กลายมาเป็นวัสดุรีไซเคิลเพื่อนำมาผลิตเป็นกระเป๋าและชุดเสื้อผ้าแฟชั่นจนแบรนด์เป็นเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีในวงสังคมที่กว้างมากยิ่งขึ้น โดยกระเป๋าที่ทำจากวัสดุพลาสติกรีไซเคิล 1 ใบ มีราคาขายอยู่ที่ราวๆ 21,900-30,000 บาท ขณะที่ชุดเดรสยาวจะมีการใช้ฝาพลาสติกมาผลิตเทียบเท่ากับใช้ฝาทำกระเป๋าจำนวน 7-10 ใบ มีราคาขายสูงขึ้นไปอีกอยู่ที่ชุดละ 50,000-200,000 บาท 

    "เราใช้เวลาอยู่กับโรงงานคัดแยกขยะในการลองผิดลองถูก เรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนฝาขวดพลาสติกให้กลายเป็นพลาสติกที่ถูกปั๊มออกมาเป็นแผ่นเล็กๆ ที่มีสีสันสวยงามและยังเป็นเอกลักษณ์จากลวดลายที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติในแต่ละอันอยู่นานถึง 2 ปี แนวทางดังกล่าวนี้คือสิ่งที่เรายึดถือในเรื่องของการสนับสนุนช่วยเหลือ "Community" ชุมชน สิ่งแวดล้อมและสังคมมาตั้งแต่ต้น จึงทำให้ลูกค้าจากหลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจในสินค้าของเราเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการไปออกงานแฟชั่นที่นิวยอร์กแล้วกระเป๋าของเราไปเตะตา "แอนน์ แฮททาเวย์" นักแสดงดังระดับฮอลลีวูด เธอจึงได้เลือกถือกระเป๋าแบรนด์ไทย PIPATCHARA ออกงานเดินพรมแดง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนแบรนด์ที่มีส่วนช่วยรณรงค์สิ่งแวดล้อมพร้อมกับรักษ์โลกไปในตัว 

    และจากเดิมที่เราเคยคิดจะทำกระเป๋าจากวัสดุรีไซเคิลนี้เพื่อจำหน่ายในแคมเปญวันสิ่งแวดล้อมโลกเพียง 50 ใบ แต่หลังจากที่เปิดตัวสินค้านี้ออกสู่ท้องตลาดด้วยการออกงานอีเวนต์หรืองานแฟร์ด้านสินค้าแฟชั่นตามประเทศต่างๆ เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากฝาขวดพลาสติกที่กลายมาเป็นวัสดุรีไซเคิลเหล่านี้จากการขายกระเป๋าได้ถึง 300 ใบ ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือน นอกจากนี้ เรายังสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นจากการลดขยะจากฝาขวดพลาสติกได้มากกว่า 1 ล้านฝา ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี แถมยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุรีไซเคิลเหล่านี้กลายมาเป็นสินค้าแฟชั่นที่สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย" เจ้าของแบรนด์กระเป๋ากล่าวเสริม



เป้าหมายธุรกิจ คือ สร้างความยั่งยืน

    ฟังดูเหมือนทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายแต่ทุกเส้นทางการทำธุรกิจมักไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะธุรกิจของ "เพชร ภิพัชรา" เพิ่งเริ่มต้นได้เพียงไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด โดยในช่วงโควิดล็อกดาวน์จำนวนการผลิตกระเป๋าหนังในช่วงแรกก็ยังไม่สามารถควบคุมปริมาณหรือคุณภาพให้เป็นไปตามต้องการแบบคงที่ อีกทั้งทุกอย่างที่เป็นงานซึ่งใช้แรงคนหรืองานฝีมือก็ยังควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องการได้ยากและยังไม่รวมกับปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่อาจจะส่งผลต่อกำลังการผลิต แต่ทั้งนี้ด้วยความพยายามที่ไม่ลดละจึงทำให้ เพชร ภิพัชรา สามารถดูแลทีมงานหลังบ้านให้สามารถผลิตผลงานทั้งในส่วนที่เป็นงานถักเชือกหนังและงานต่อแผ่นพลาสติกรีไซเคิลได้ตรงกับความต้องการได้สำเร็จ

    ภิพัชรา บอกว่า "เรื่องของ QC หรือคุณภาพในการผลิตสินค้าแต่ละตัวต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นานกว่าจะเข้าที่ถึง 2 ปี เพราะน้ำหนักมือของทีมงานหลังบ้านแต่ละคนจากแต่ละชุมชนมีไม่เท่ากัน เราต้องรู้จักฟังปัญหาจากทีมงานให้เยอะๆ แล้วค่อยปรับใช้หาแนวทางที่จะทำให้ผลงานการผลิตออกมามีคุณภาพดีได้ตามที่ต้องการ"

    สำหรับการวางเป้าหมายให้กับธุรกิจในอนาคตนั้น เจ้าของกระเป๋าแบรนด์ไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่ตลาดโลกภายในระยะเวลาเพียงไม่นานกล่าวว่า "ไม่ต้องการกดดันตัวเองหรือทีมงานในการวางตัวเลขเชิงธุรกิจเพราะสินค้าแฟชั่นถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่อาจมีผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้วส่งผลต่อธุรกิจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราอยากโฟกัสว่าในแต่ละปีจะช่วยสร้างความยั่งยืนและช่วยเหลือแต่ละชุมชนให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไรมากกว่า ซึ่งแนวทางที่เรายึดมั่นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มธุรกิจ ถือเป็น Story Telling ในการบอกเล่าตัวตนของแบรนด์ได้อย่างเข้มแข็ง และยังถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ที่มีกำลังซื้อ หลงใหลในงานศิล์งานฝีมือแบบ art piece รักสิ่งแวดล้อม และรักษ์โลก ต่างชื่นชอบและสนับสนุนแบรนด์ไทยอย่าง PIPATCHARA"


ภาพ โดย : วรัชญ์ แพทยานันท์


คลิกชม VDO สัมภาษณ์พิเศษ ใช้ 'Passion' นำทางธุรกิจอย่างไร ให้ขับเคลื่อนแบรนด์ 'Pipatchara' ได้ยาวนาน



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Pop Mart บริษัทอาร์ตทอยสุดฮอต หนุนผู้ก่อตั้งขึ้นแท่นมหาเศรษฐี

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine