"อัศวิน พละพงศ์พานิช" อัพสปีด “ดีมันนี่” สู่ธุรกิจการเงินไร้พรมแดน - Forbes Thailand

"อัศวิน พละพงศ์พานิช" อัพสปีด “ดีมันนี่” สู่ธุรกิจการเงินไร้พรมแดน

จากสวัสดีช้อป สู่ ดีมันนี่ “อัศวิน พละพงศ์พานิช” พลิกเกมธุรกิจจากการถูกดิสรัปชั่น ก้าวสู่ธุรกิจแห่งอนาคต ด้วยแนวคิดในการสร้างพันธมิตรและเชื่อมต่อเครือข่ายธุรกิจในยุคดิจิทัล พร้อมเปิดตัว DeeBusiness Portal แพลตฟอร์มโลกการเงินไร้พรมแดน เตรียมก้าวสู่ยุค Virtual Bank

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecommerce) Bentley University สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2554 ‘อัศวิน พละพงศ์พานิช’ นักธุรกิจชาวอินเดียที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย ได้เริ่มต้นธุรกิจด้านโทรคมนาคมในนาม บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด ผู้ให้บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจแรกๆ ที่โดนดิสรัปชั่นโดย Skype โปรแกรมสำหรับคุยโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต รวมถึงแอปพลิเคชัน WhatApp, LINE ที่เปิดคนสามารถโทรฟรีได้ทั่วโลก ธุรกิจของสวัสดีช้อปจึงไปต่อไม่ได้ “ตั้งแต่ปี 2557 เราเห็นเทรนด์ธุรกิจเป็นขาลง และลงแรง เราก็มาดูว่าบริษัทต้องปรับตัวอย่างไร และต้องปรับตัวให้เร็ว ซึ่งดูจากฐานลูกค้าที่มีอยู่ เรามีลูกค้าที่เป็นคนไทยในต่างประเทศ ลูกค้าชาวต่างชาติที่อาศัยในเมืองไทย จึงเห็นว่าบริการโอนเงินระหว่างประเทศใกล้เคียงที่สุด จึงปรับตัวสู่ธุรกิจฟินเทค” อัศวินเล่าย้อนถึงยุคที่ธุรกิจโดนกระแสดิสรัปชั่นเข้ามากดดันให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลง จากนั้นเขาได้พัฒนาโมเดลธุรกิจ และเปิดตัวสวัสดีช้อป ในปี 2560 เพื่อให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยได้รับใบอนุญาตการให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank International Money Remittance Service License) ใบอนุญาตให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment Service License) และใบอนุญาตให้แลกเงินที่ได้รับอนุญาต (Authorized Money Changer License) จากธนาคารแห่งประเทศไทย

โควิดหนุนเติบโตก้าวกระโดด

ต่อมาปี 2561 ดีมันนี่ (DeeMoney) ก็พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และได้ปฏิวัติวงการด้วยบริการที่มีค่าธรรมเนียมคงที่และการทำงานผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน เข้าสู่ยุคใหม่ของการโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งเข้าและออกผ่านระบบดิจิทัลของประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้น แต่ก็มาเจอกับโควิด-19 วิกฤตโรคระบาดที่ลุกลามไปทั่วโลก แต่นั่นยิ่งทำให้ดีมันนี่เติบโตแบบก้าวกระโดด “พอโควิดมา ระบบการโอนเงินระหว่างประเทศยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะคนเดินทางไม่ได้ ตอนนี้ ทั้งขาออก ขาเข้า เป็นโอกาสที่มหาศาล จากการที่ไม่สามารถเดินทาง ทั้งทั่วโลก ธุรกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ถือเป็นยอดตัวเลขมหาศาล ถือว่าได้ผลตอบรับดีมาก ทำให้เราโตแบบน่ากลัว เติบโตรวดเร็วมาก” อัศวินเล่าถึงผลการดำเนินงานของดีมันนี่ในช่วงที่ผ่านมา อัศวิน กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2565) ดีมันนี่ มีอัตราการเติบโตร้อยละ 200 – 300 และคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้ายังสามารถรักษาอัตราการเติบโตได้เท่าตัวต่อปี ด้วยโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตได้หลายทาง ด้วยการสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่ครบวงจร จึงสามารถเติบโตได้จากลูกค้าผู้ใช้บริการเอง การเปิดให้บริการอื่นๆ เข้ามาเชื่อมต่อ รวมถึงธุรกิจจากต่างประเทศที่ต้องการจะลงทุนในประเทศไทย “การทำธุรกิจยุคดิจิทัล ต้องเปิดรับทั้งคู่ค้าและคู่แข่ง จะแตกต่างจากมายเซ็ทของการทำธุรกิจในยุคก่อนๆ ที่มองเป็นคู่แข่งไปหมด และปิดกั้น ดีมันนี่ มีการวางระบบในการเติบโตค่อนข้างชัดเจน เราจะเป็นระบบนิเวศทางการเงินที่เปิดให้คู่ค้าและคู่แข่งเข้ามาเชื่อมต่อได้ ยิ่งพันธมิตรเยอะยิ่งดี ทำธุรกิจสมัยนี้ไม่ต้องทำเองทุกอย่าง โดยเร็วๆ นี้ เราจะเปิดตัวพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางการเงินจากต่างประเทศที่จะเข้ามาเชื่อมต่อกับระบบของเรา”

เตรียมก้าวสู่ นีโอ แบงก์

อัศวินเรียกกลยุทธ์ของดีมันนี่ คือ Coopetition หมายถึง การทำงานร่วมกันกับผู้ให้บริการรายอื่นมากกว่าการมองว่าเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ หรือสร้างการแข่งขัน เพราะดีมันนี่เชื่อว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบ Coopetition จะสร้างมูลค่า ให้กับ Payment Ecosystem ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ที่จะส่งผลดีต่อลูกค้าหรือผู้ใช้บริการได้ดีที่สุด มากกว่าการแข่งขันโดยไม่แบ่งปันมูลค่า ให้แก่ Ecosystem มีแต่จะสร้างผลเสียต่อ Financial Ecosystem โดยรวม สำหรับแนวทางการทำธุรกิจของดีมันนี่ในปี 2565 มุ่งเน้นที่ 3 ด้านหลัก คือ กลุ่มลูกค้าบุคคลรายย่อย ผ่านช่องทาง Mobile Application “DeeMoney Neo” ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าหมายพัฒนาเป็น Borderless NeoBank กลุ่มลูกค้า Business และผู้ประกอบการ MSME ผ่านช่องทาง “DeeBusiness Portal” เพื่อเป็น Supply Chain กับผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความสะดวก ประหยัด ปลอดภัย และ กลุ่มลูกค้าสถาบันการเงิน (Financial Institution) ผ่านเทคโนโลยีแพลตฟอร์มบริการทางการเงินที่เรียกว่า DPaaS โดยให้ลูกค้ากลุ่มสถาบันทางการเงิน สามารถเริ่มให้บริการทางการเงินโดยใช้การ Plug-and-Play เข้ากับแพลตฟอร์มของบริษัทฯ อัศวิน กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในระยะถัดไป คือ การพัฒนาระบบโครงสร้างเทคโนโลยีให้รองรับการให้บริการออกบัตรร่วมกับบริษัท VISA เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถชําระเงินได้ทั่วโลก และการให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในสกุลเงินต่างประเทศภายใต้การควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มเติมจากบริการโอนเงินระหว่างประเทศ บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา  และบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Wallet) นีโอแบงก์ เป็นศัพท์ใหม่ ในไทยไม่มี ดีมันนี่ มีครบ ตั้งเป็นนีโอแบงก์แรกของไทย ตปท.เปิดอีก 3-4 ปี หรือ ชาเลนเจอร์ แบงก์ ข้อจำกัด 2 ธุรกิจเราไม่สามารถให้ดอกเบี้ยได้ เหมือนแบงก์ปกติ ไม่สามารถให้โลนได้ เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ “นีโอแบงก์ เป็นศัพท์ใหม่ ในประเทศไทยยังไม่มี ดีมันนี่ มีครบ เราอยากเป็นนีโอแบงก์แรกของไทย ในต่างประเทศเริ่มพัฒนาและจะเปิดอีก 3-4 ปี หรือเรียกอีกอย่างว่า ชาเลนเจอร์ แบงก์ ปัจจุบันดีมันนี่ ยังมีข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถให้ดอกเบี้ย หรือให้สินเชื่อได้เหมือนธนาคารทั่วไป แต่ในอนาคต หากธนาคารแห่งประเทศไทยจะอนุมัติรูปแบบธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank หรือธนาคารดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ เราก็พร้อมขอใบอนุญาตเพื่อดำเนินการ” นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของฟินเทค สัญชาติไทย ที่พลิกเกมธุรกิจ จากการถูกดิสรัปชั่น สู่การคว้าโอกาสและสามารถเติบโตได้ในโลกดิจิทัล ซึ่ง “อัศวิน” พร้อมที่จะให้กำลังใจธุรกิจสตาร์ทอัปของไทยทุกราย ให้พัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และมองหาโอกาสในตลาดนี้ ซึ่งเขาเชื่อว่ามีอีกมหาศาล อ่านเพิ่มเติม: ธนิศร์ เจียรวนนท์ ซีอีโอป้ายแดง เดินหน้าธุรกิจแม็คโครยุคใหม่