ปัจจุบัน นักวิจัยรุ่นใหม่ผันตัวมาเป็นสตาร์ทอัพมากขึ้น เป็นโอกาสที่เกิดกว้างให้สามารถต่อยอดงานวิจัยจากหิ้งมาสู่ห้างได้ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพสาย Deep Tech ที่เป็นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ อย่างสตาร์ทอัพไบโอเทคสัญชาติไทย บริษัท รีนิว อินโนเวชั่นส์ จำกัด (ReNew)
ลัญจกร อมรกิจบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท รีนิว อินโนเวชั่นส์ จำกัด (ReNew) ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ “เซลลูเนท” หรือ “CELLUNATE™” น้ำยาเคลือบกระดาษนาโน หรือ Nano Coating เทคโนโลยีใหม่ที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ ทั้งพืชและสารชีวภาพ ออร์แกนิค 100 เปอร์เซ็นต์เพื่อช่วยปกป้องเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ชิ้นงานศิลปะ ภาพวาด รูปถ่ายให้ยังคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ “ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต่อยอดจากงานวิจัยสมัยทำปริญญาเอก ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีเอกสารทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก เราจึงคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมากเพื่อปกป้องเอกสารทางประวัติศาสตร์ไม่ให้และย่อยสลายไปตามกาลเวลา ซึ่งในตลาดโลก เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งใหม่ และเริ่มมีดีมานด์มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราสามารถปกป้องเอกสารทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้ ประวัติศาสตร์จะไม่ถูกเปลี่ยนแปลง” ลัญจกรกล่าว เมื่อเรียนจบปริญญาเอกคว้าดีกรีดอกเตอร์กลับมา ลัญจกร ได้ไปทำงานกับบริษัทเอกชน และทำงานวิจัยไปด้วย พร้อมกับพัฒนาต่อยอดงานวิจัยปริญญาเอก นวัตกรรมเซลลูเนทไปด้วย ซึ่งโชคดีว่าไทยมีแหล่งวัตถุดิบที่สามารถนำมาผลิตเป็นเซลลูเนทได้จำนวนมาก ทั้งกากใยสัปปะรด ชานอ้อย ซึ่งเป็นของเหลือทิ้ง ไม่มีมูลค่า จึงเริ่มศึกษาตลาดเพื่อนำงานวิจัยจากหิ้งมาสู่การพัฒนาในเชิงพาณิชย์ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ เล็งระดมทุนขยายสู่ตลาดบรรจุภัณฑ์ ลัญจกร กล่าวว่า สำหรับการขยายธุรกิจในประเทศไทย ได้คุยกับหอสมุดต่างๆ หอสมุดแห่งชาติ หอสมุดมหาวิทยาลัย หอศิลป์ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และวางแผนขยายตลาดสู่ผู้บริโภคด้วยผลิตภัณฑ์ ReNew Artguard Fixative สเปรย์เคลือบงานศิลปะ สกัดจากสารธรรมชาติ ปกป้องงานศิลปะ และ Renew Book Preservation น้ำยายืดอายุหนังสือและเอกสาร ช่วยปกป้องและชะลอการเสื่อมสภาพของกระดาษได้คราวละ 15 – 20 ปี จากแนวคิดแรกผลิตภัณฑ์ ReNew มีเป้าหมายคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของโลก ในเชิงของการอนุรักษ์กระดาษ ผ้า เพื่อไม่ให้เสียหาย เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในปัจจุบัน ยังขาดวิธีปกป้องและดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ จนสามารถต่อยอดพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลายรูปแบบเพื่อให้จับตลาดหลายกลุ่มขึ้น ต่อมาเริ่มเห็นโอกาสว่านวัตกรรมของเราสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้อย่างกว้างขวาง เช่น สารเคลือบบรรจุภัณฑ์กระดาษทดแทนพลาสติก ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง จึงมีเป้าต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจให้เติบโตในอนาคต ลัญจกร กล่าวว่า ปัจจุบัน ReNew กำลังอยู่ในกระบวนการทำการวิจัยและพัฒนาไบโอโพลิเมอร์จากขยะชีวภาพ ทดแทนการนำเข้าไบโอโพลิเมอร์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง ซึ่งจะทำให้ ReNew สามารถลดต้นทุนในการผลิตลงได้มหาศาล ช่วยให้สามารถเร่งการขยายธุรกิจให้ก้าวกระโดด หรือแบบทวีคูณ (Exponential growth) และมีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตสู่อุตสาหกรรมอื่นที่มีความต้องใช้ Nano Coating รวมทั้งนำไปใช้ทดแทนการเคลือบด้วยพลาสติกในหลายอุตสาหกรรม “ReNew ตั้งเป้าสร้างรายได้จากธุรกิจไบโอเทค 800 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ซึ่งการปฏิวัติทางชีวภาพ หรือ Bio Revolution เป็น 1 ใน 10 เทรนด์เทคโนโลยีดาวรุ่งแห่งทศวรรษหน้า เนื่องจากวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Biological science) จะมีอิทธิพลอย่างมากกับเศรษฐกิจและใช้ชีวิตของผู้คน โดยบริษัทวางแผนเปิดระดมทุนในปี 65 เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต” สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจระยะ 5 ปีแรกของ ReNew จะเน้นตลาดประเทศไทยเป็นหลัก ขณะเดียวกันมองหาโอกาสขยายธุรกิจในต่างประเทศด้วย เนื่องจากตลาดบรรจุภัณฑ์ มีแนวโน้มเติบโตทั่วโลก โดยเฉพาะจีน อินเดีย จากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในต่างประเทศ การดำเนินธุรกิจอาจจะอยู่ในรูปแบบของการขายไลเซ่นส์ให้กับพันธมิตรในแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine