ณีรนุช ไตรจักร์วนิช ผู้ปลุกปั้น “มาคาเลียส” โตสวนโควิด - Forbes Thailand

ณีรนุช ไตรจักร์วนิช ผู้ปลุกปั้น “มาคาเลียส” โตสวนโควิด

ในวิกฤตมีโอกาส ณีรนุช ไตรจักร์วนิช ผู้ก่อตั้ง มาคาเลียส ประเทศไทย สร้างแพลตฟอร์มธุรกิจท่องเที่ยวน้องใหม่ที่เติบโตเร็วที่สุด สวนทางโควิด นับตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2562

จุดเริ่มต้นของ มาคาเลียส ประเทศไทย เกิดจากความรักในการท่องเที่ยวอย่างเป็นชีวิตจิตใจของ ณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย ในระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวภาคภาษาอังกฤษให้กับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เริ่มเป็น Travel Blogger มีเพจของตัวเองภายใต้ชื่อ “Trip and tech-ไปตามน้ำ” บอกเล่าเรื่องราวการท่องเที่ยวในสไตล์นักท่องเที่ยวขี้สงสัย หรือ Genuine Curious เที่ยวไป เรียนรู้ไป ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 47,000 คน จนได้มาพบกับ Darius Lebedzinskas เจ้าของแพลตฟอร์ม Makalius ชาวลิทัวเนีย   จากนักท่องเที่ยวสู่เจ้าของแพลตฟอร์ม “ได้พบกับเจ้าของแพลตฟอร์มมาคาเลียส ที่งานอินฟลูเอนเซอร์โลก ซึ่งเขาเป็นสตาร์ทอัพที่พัฒนาธุรกิจแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวจากการเป็นบล็อกเกอร์เช่นเดียวกัน ได้มีโอกาสคุยกัน และเห็นโอกาสในการร่วมมือกันเพื่อขยายธุรกิจในประเทศไทย” ณีรนุช เล่าถึงจุดเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจมาคาเลียสในประเทศไทย ซึ่งเธอเป็นทั้งผู้ถือหุ้นและผู้บริหารแพลตฟอร์มท่องเที่ยวน้องใหม่ที่ถือว่าเติบโตเร็ว มาคาเลียส ถือเป็นแหล่งรวม e-Voucher ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ โดยร่วมมือกับกลุ่มมผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตั้งแต่ระดับ 5 ดาว จนถึงโฮมสเตย์กว่า 200 แห่ง รวมทั้งเรือดินเนอร์แม่น้ำเจ้าพระยาที่ถูกนำมาจัดเป็นแพคเกจเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ซึ่งเน้นเที่ยวด้วยตัวเองมากกว่าซื้อทัวร์เหมือนแต่ก่อน ณีรนุช เล่าว่า เริ่มต้นตั้งธุรกิจมาคาเลียสในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งทีม คัดเลือกทีม โดยเลือกจากไลฟ์สไตล์ด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก พนักงานของมาคาเลียสทุกคนชอบเที่ยว และรู้ถึงความต้องการของนักท่องเที่ยว อีกทั้งพนักงานของมาคาเลียสยังเป็นทราเวลบล็อกเกอร์ ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญ เมื่อเวลาทีมงานได้แพคเกจที่พักมาจะส่งให้ทีมไปทดลองใช้บริการและทำการรีวิวแบบสมจริง (เรียล) เพื่อนำข้อมูลและรูปภาพมาแชร์หน้าเวบไซต์เพื่อให้ลูกค้าได้ตัดสินใจก่อนซื้อวอเชอร์ “เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าสิ่งที่ได้รับนั้นตรงปกแน่นอน ทำให้มาคาเลียสได้รับความนิยมจากรวดเร็วจากลูกค้านักท่องเที่ยว นักกิน และที่สำคัญเราเน้นการจัดแพคเกจแบบคุ้มค่าให้กับลูกค้า” ณีรนุชกล่าว โตสวนวิกฤตโควิด อย่างไรก็ตาม การก่อตั้งธุรกิจของมาคาเลียสในประเทศไทย เกิดขึ้นก่อนสถานการณ์โควิดไม่นาน ถึงกระนั้นมาคาเลียสยังเติบโตสวนวิกฤตโควิด 19 ด้วยการทำยอดขายถึง 120 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เติบโตจากปี 2562 ถึงเท่าตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบริหารองค์กรแบบกระชับ ยืดหยุ่น และปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ที่ผันผวน ณีรนุช เล่าว่า ช่วงธุรกิจกำลังเริ่มต้น ก็เจอกับโควิดระลอกแรกตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้ต้องปรับตัว พลิกสถานการณ์อย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลมีมาตรการล็อกดาวน์ ห้ามท่องเที่ยว ห้ามเดินทาง จากการขายแพคเกจที่พัก หันมาขายแพคเกจดินเนอร์เรือสำราญแทน ผลปรากฎว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากความร่วมแรง ร่วมใจทำงานอย่างหนักของพนักงาน 12 คน ทำให้สามารถฝ่าวิกฤตมาได้ และหลังมาตรการผ่อนคลาย ความต้องการท่องเที่ยวเดินทางที่อัดอั้น ทำให้ยอดซื้อวอเชอร์ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว “พฤติกรรมคนไทยชอบเที่ยว หยุดเที่ยวไม่ได้ อัดอั้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายของบริษัท เป็นคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ชอบท่องเที่ยว ชอบถ่ายรูป มองหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ รวมถึงกลุ่มครอบครัวเล็กๆ พ่อ แม่ ลูก ยิ่งหลังโควิด พฤติกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป นิยมเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ มองหาแพคเกจที่รวมทุกอย่างแบบ all inclusive โรงแรม ร้านอาหาร ครบในที่เดียว” ณีรนุชกล่าว สำหรับวิกฤตโควิดระลอกใหม่นี้ ณีรนุช มีความกังวลเพิ่มขึ้น เพราะดูสถานการณ์รุนแรง แต่ยังเชื่อมั่นไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่ชอบการท่องเที่ยว พร้อมได้เตรียมแผนบริหารจัดการไว้รองรับ ทั้งการตุนลูกค้าไว้สำหรับโรงแรม ที่พัก ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยการจัดแคมเปญ ซื้อไว้ก่อน เพื่อช่วยหาลูกค้าให้กับโรงแรม เมื่อเปิดการเดินทาง พร้อมเสิร์ฟแพคเกจได้ทันที นอกจากนี้ยังเข้าไปให้คำปรึกษา เพื่อจัดแพคเกจวอเชอร์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ทั้งนี้ บริษัท ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวไว้ 2 แนวทาง โดย การช่วยเหลือกลุ่มนักท่องเที่ยว ได้ปรับแพคเกจท่องเที่ยวให้มีความยืดหยุ่นมากที่สุด ปรับยืดอายุการใช้งานของวอเชอร์ไว้ 1 ปี สามารถเปลี่ยนโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวได้ตามความเหมาะสม ขณะที่มาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ คือการช่วยสร้างแผนการตลาดออนไลน์ให้แข็งแกร่ง การทำโปรโมชั่นพิเศษ เช่น Buy Now Stay Later จองก่อนเข้าพักทีหลัง รวมถึงการเชิญบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ร่วมรีวิวเพื่อสร้างการรับรู้และตอกย้ำความน่าเชื่อถือของแบรนด์ในด้านต่างๆ ทั้งการบริการ ความสวยงาม และการรักษาความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เป็นต้น ตั้งเป้าแพลตฟอร์มอันดับ 1 ของไทย ณีรนุช ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่มีความพร้อมทั้งแหล่งท่องเที่ยว ที่พักที่หลากหลาย และไลฟ์สไตล์ของผู้คน แม้จะเผชิญภาวะวิกฤต แต่เชื่อว่าจะฟื้นตัวในไม่ช้า ในปีนี้ เธอยังคงยืนยันเป้าหมายเดิมที่บริษัทวางเป้าหมายไว้ว่าจะมีรายได้เติบโตอีกเท่าตัว หรือมีรายได้ 400 ล้านบาท ประกอบกับความเชื่อมั่นในทีมงานที่มุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ที่จะร่วมมือกันฝ่าวิกฤตครั่งนี้ไปด้วยกัน “เราวางเป้าหมายเติบโตเป็นแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวในระดับประเทศ ภายใน 3 ปีข้างหน้า คาดว่ารายได้จะแตะพันล้าน โดยหลังจากวิกฤตโควิดผ่านพ้นไป จะเริ่มขยายธุรกิจในต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก และจะพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มท่องเที่ยวสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ใช้ง่าย เข้าถึงง่าย” ณีรนุชกล่าวอย่างเชื่อมั่นในเป้าหมายตามแผนเดิมที่วางไว้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ณีรนุช มั่นใจว่ายังคงไปถึงเป้าหมายได้ เกิดจากแนวทางการบริหาร และทีมงาน ซึ่งที่มาคาเลียส ประเทศไทย มีรูปแบบการทำงานที่ไม่มีกฎ ระเบียบใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจากประสบการณ์ การทำงานในองค์กร ที่มีกฎ ระเบียบเคร่งครัดมาก เวลามีปัญหาพนักงานจะไม่กล้าพูดความจริง เพราะบางครั้งเกรงว่าจะไปขัดกับกฎ ระเบียบที่มี ดังนั้นที่มาคาเลียสจึงไม่มีกฎ ระเบียบ และยังเปิดให้พนักงานทุกระดับคุยกันได้เต็มที่ เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือการสร้างพึ่งพอใจให้ลูกค้า “องค์กรของเราลีนมาก และยืดหยุ่นสูง ไม่มีกฎ ระเบียบตายตัวว่าจะต้องเข้างานกี่โมง พักเที่ยงกี่โมง ทุกคนสามารถรับผิดชอบตัวเอง แต่สิ่งที่เราต้องการ คือประสิทธิภาพสูงสุด วัดกันที่ผลงานที่ทำ งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ผู้ประกอบการ ทุกคนสามารถพูดคุย ถกเถียงกันได้ เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่ดีที่สุด” ณีรนุชกล่าว แม้วันนี้ ณีรนุช จะมีเวลาเที่ยวเล่นน้อยลง แต่เที่ยวในงานมากขึ้น ก็เพื่อนำพามาคาเลียส ประเทศไทย ไปสู่แพลตฟอร์มท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย ที่มุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวที่หลากหลาย เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับการท่องเที่ยวไทย ไม่ใช่ในราคาถูกที่สุด แต่คุ้มค่าที่สุด พร้อมกับความหวังว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะกลับมาฟื้นตัวในเร็ววัน อ่านเพิ่มเติม: ไอลีน ชูว นำ Mastercard ชูนวัตกรรมดิจิทัลเพย์เมนต์
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine