การขาดแคลนนักพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทยถือว่าเป็นปัญหาใหญ่สำคัญธุรกิจไทย โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ธุรกิจต้องพึ่งพาเครื่องมือทางด้านดิจิทัล แม้นวัตกรรมจากเทคโนโลยีกำลังเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้น แต่ธุรกิจหลากหลายยังคงต้องการมืออาชีพในการทำงานอยู่ตลอดเวลาเพราะธุรกิจยุคใหม่แข่งขันบนความรวดเร็ว
จากประสบการณ์ในสายเทคโนโลยี ปัญญา พรขจรกิจกุล ได้ค้นพบแนวทางการสร้างนักพัฒนายุคใหม่ ทั้งยังรวบรวมนักพัฒนาเทคฯ สัญชาติไทยตั้งแต่นักพัฒนารุ่นเก๋าแห่งยุค Y2K จนไปถึงเจน Z และ มิลเลนเนียม
ปัจจุบันทีมเทคโนโลยีของเขาในสมัยที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานของบริษัท MFEC ได้ถูกยกระดับขีดความสามารถให้รอบด้านมากขึ้น อันเป็นผลจากควบรวมกิจการโดย บูลบิค กรุ๊ป และส่งในเขานั่งแท่น MD อย่างเต็มตัวในนามบริษัท BlueBik Valcan ชื่อบริษัทตัวเขาให้นิยามและตั้งเป้าให้บริษัทแห่งนี้เป็นแหล่งซึ่งรวบรวม “นักประดิษฐ์แห่งโลกยุคใหม่” ให้มากที่สุด
ความยิ่งใหญ่ของ Valcan หนึ่งเทพในตำนานกรีกถูกนำมาใช้เป็นชื่อของบริษัทเพื่อสร้างนิยามบทใหม่ของโลกการประดิษฐ์และสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัล ภายหลังจากที่บลูบิค กรุ๊ป นำโดย พชร อารยะการกุล และ ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ซีอีโอ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC ร่วมตกลงข้อสัญญาในการเข้าซื้อแผนกนักพัฒนาแอปพลิเคชันของ MFEC ซึ่งภายหลังข้อตกลงทางด้านธุรกิจจบลง ปัญญา และนักพัฒนาแอปฯ กว่า 300 ชีวิตได้เดินหน้าเข้าสู่บ้านหลังใหม่ ที่ ปัญญา เปรียบเปรยว่าการควบรวมครั้งนี้เหมือนเป็นการสู่ขอโดยมี บูลบิค กรุ๊ป และ MFEC เป็นผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย
“การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตการทำงานมีสองครั้ง ครั้งแรกคือการย้ายไป ธอมสัน รอยเตอร์ฯ ส่วนจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งคือการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบลูบิค กรุ๊ป” ปัญญา กล่าวถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตการทำงานจากตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีในสายผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน
จากคอมประกอบสู่เส้นทางสายไอที
ทักษะคอมพิวเตอร์ของ ปัญญา เริ่มต้นในช่วงมัธยมขณะที่เรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ หลังจากที่เขาครอบครองคอมพิวเตอร์เครื่องแรก เขาเริ่มฝึกฝนการเขียนโปรแกรมและเลือกเรียนระดับปริญญาตรีที่ ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ และเรียนต่อ ปริญญาโท เทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนเริ่มต้นงานที่สตาร์ทอัพแห่งหนึ่งที่ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทต่างชาติเป็นเวลาราว 3 ปี ก่อนย้ายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ MFEC ในตำแหน่ง Senior Developer พัฒนาด้านแอปพลิเคชัน
“ที่เลือกสายงานนี้เพราะตั้งแต่เด็กสมัยที่เรียนสวนกุหลาบได้คอมพิวเตอร์มาเครื่องหนึ่งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนโปรแกรมและเป็นสกิลที่ติดตัวมาตลอด” ปัญญา กล่าวเสริม
ปี 2551 ปัญญาได้มีโอกาสเข้าไปทำงานที่บริษัท Thomson Reuters Corporation ตำแหน่ง Head Support ให้กับทีมผู้บริหารซึ่งเกี่ยวข้องกับการซับพอร์ตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัท ซึ่งการทำงานที่นี้ทำให้เรียนรู้การทำงานระดับโลก กระบวนการจัดการการทำงานแบบมืออาชีพ เป็นเวลาราว 3 ปี ก่อนได้รับการทาบทามจาก ธนกร ชาลี ซีโอโอ และ ศิริวัฒน์ ให้กลับมาดูแล MFEC อีกครั้ง ภายหลังจากที่หัวหน้าทีมของฝ่ายพัฒนาแอปพลิเคชันต้องการเกษียณตัวเอง
ซึ่งการกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนาแอปพลิเคชันสิ่งที่ได้ตกผลึกประสบการณ์จากองค์กรระดับโลกคือความสามารถของนักพัฒนาแอปพลิเคชันไทยไม่ต่างกับนักพัฒนาในองค์กรใหญ่ เขาจึงตั้งเป้านำกระบวนการทางความคิดและรูปแบบการทำงานมาปรับใช้เพื่อพัฒนาทีมงานและศักยภาพ
การกลับเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายของเขา ถือเป็นช่วงรอยต่อในการเปลี่ยนถ่ายด้านเทคโนโลยีจากการพัฒนาแอปพลิเคชันบนเว็บไซต์ไปสู่การทำแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ตั้งแต่พัฒนาในเรื่อง ATM SIM เพื่อให้ผู้ใช้งานมือถือสามารถเชื่อมต่อธุรกรรมด้านการเงินและบริการต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน
ปัญญามองว่า สมาร์ทโฟน เป็นอุปกรณ์สำคัญสิ่งหนึ่งที่ทำให้กระบวนการ ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น ก้าวไปอย่างรวดเร็ว เป็นเหมือนสะพานธุรกิจที่นำเซอร์วิสไปพบเจอกับลูกค้าในช่วงที่เขากลับมานั่งคุมทีมแอปพลิเคชัน ความนิยมของการพัฒนาแอปพลิเคชันกำลังเป็นที่นิยมซึ่งโอกาสที่ดีสำหรับทีมได้แสดงแสดงฝีมือ เข้าไปร่วมกับเซอร์วิสต่างๆ ตามการปรับตัวของลูกค้า อาทิ แอปพลิเคชันธนาคารที่ต้องเสริมเซอร์วิสให้แอปฯ สมบูรณ์ไม่ว่าการจะเสริมฟีเจอร์ทางการศึกษา ด้านสุขภาพ หรือ อี-มาร์เก็ตติ้งเข้าไปเพื่อสร้างให้แอปฯ ครองใจลูกค้า
“เรื่องดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น มันไม่ใช่เรื่องที่การทำคนเดียวแล้วรอดแล้ว การทำธุรกิจแบบไซโล การไม่พึ่งพาใคร จะไม่มีอีกแล้ว การทำดิจิทัล ทางด้านธุรกิจถือเป็นการผสานผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดลูกค้ากลุ่มใหม่ ทำให้เกิดอีโคซิสเต็มใหม่ ลูกค้ากลุ่มใหม่ มองว่าทำเกิดภาพรวมร่วมกันไม่ได้มองว่าผลประโยชน์แค่ของตนเองแล้ว อันเป็นจุดสำคัญที่ให้เกิดการครอส ฟังก์ชัน กัน”
ความท้าทายครั้งใหญ่
จากทีม 30-40 คนเมื่อปี 2551 ปัจจุบันทีม ปัญญา ขยายทีมไปแล้วกว่า 300 คน พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเขาและทีมงาน ภายหลังจาก บลูบิค กรุ๊ป เข้ามาซื้อแผนกแอปพลิเคชัน ซึ่งทำให้เขาขึ้นนั่งตำแหน่งผู้บริหารเต็มตัวทั้งในเรื่องของทิศทางการบริหารงานและงบประมาณการเงิน โดยเป้าหมายในปี 2566 นี้เขายังคงเน้นรักษาฐานลูกค้ากลุ่มเดิม ขณะที่การเข้ามาของบลูบิค กรุ๊ป จะช่วยเสริมงานโปรเจ็กต์ที่เป็นที่เกี่ยวของกับการทำแอปพลิเคชัน
“การซื้อกิจการ ครั้งนี้ถือเป็นวิชั่นของคุณพชรที่อยากจะมีบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสัญชาติไทย เพื่อแข่งกับ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จึงเข้าไปเข้าสู่ขอจากคุณเล้งอยากเอาทีมดิจิทัล เดลิเวอรี ซึ่งเป็น BU หนึ่งของทาง MFAC เข้ามาอยู่ใน บลูบิค กรุ๊ป โดยมีเป้าหมายว่าคนไทยสามารถให้คำปรึกษาด้านไอทีที่แข็งแกร่งในประเทศไทย และสร้างชื่อในต่างเวทีโลก”
ตั้งเป้ารวบรวม “นักประดิษฐ์แห่งโลกยุคใหม่”
การขาดแคลนนักพัฒนาคนไทยในวงการไอทีเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากนักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยน้อยลงเนื่องจากอัตราการเกิดที่น้อยลง คนเรียนภาคไอทีน้อยลง ซึ่งเป็นผลกระทบหลักในแง่ของประเทศไทยถ้าต้องการสร้างให้ประเทศไทยก้าวไปเป็น ดิจิทัล ฮับ
และเนื่องจากเป็นศิษย์เก่า ของลาดกระบังฯ และเข้าไปไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำให้เขาเด็กๆ ยุคใหม่มากขึ้นและค้นพบเส้นทางการสร้างนักพัฒนาแอปฯ รวมไปถึงการเข้าไปเป็นหนึ่งในการเสริมแกร่งหลักสูตรการเรียนทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อให้ทันการโลกธุรกิจยุคใหม่ นั่นคือกระบวนการสร้างธุรกิจซึ่งเป็นหลักสูตรนอกตำราที่สำคัญ
“เรารับน้องๆ เข้ามาเรียนรู้งานมาทำสหกิจศึกษา อย่างลาดกระบังฯ ให้เข้ามาทำงาน ถึง 7 เดือน บางคนที่เข้ามาทำพอจบโปรเจ็กต์สามารถเข้ามาทำงานที่เราได้เลย เพราะช่วยน้องเข้ามาจะได้รับการเทรนนิ่งอย่างจริงจัง เรื่องการคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน เราต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา อาจจะมีการเรื่องของการเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยมากขึ้นในเรื่องของการเอาสิ่งที่ทำในงานไปเวิร์กช็อปให้กับน้องๆ ในมหาวิทยาลัย” ปัญญา กล่าวทิ้งท้าย
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine