ธนันชัย กนกวลีวงศ์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของธุรกิจร้านเพชร ‘อนันทา จิวเวลรี่’ ที่ปรับแนวคิดในการทำธุรกิจร้านเพชรให้เข้าถึงง่าย มุ่งสร้างตลาดด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างแบรนด์อนันทาสู่การเป็น Upscaled Diamond Boutique ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพชร ที่พร้อมสร้างประสบการณ์แห่งความสุขให้กับผู้คนผ่านสินค้าของอนันทา
“ผมโตมาในร้านเพชร” ธนันชัย เกริ่นนำถึงประวัติชีวิตในวัยเด็กที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มธุรกิจร้านเพชรและจำหน่ายสินค้าลักซัวรี่ เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม ที่อัมรินทร์พลาซ่า ซึ่งตอนนั้นเขาบอกตรงๆ ว่า “รู้สึกไม่สนุก” เพราะต้องนั่งรอลูกค้าเป็นวันๆ แต่ด้วยความเป็นคนชอบค้าขาย ตอนเรียนที่คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับเพื่อนๆ เสนอไอเดียกับทางบ้านในการพัฒนาเวบไซต์เพื่อเข้าถึงลูกค้าในช่องทางใหม่ๆ
“ช่วงนั้นถือเป็นช่วงแรกของการเริ่มทำเวบไซต์ในบ้านเรา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีลูกค้าติดต่อเข้ามาทางเวบไซต์ แบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จัก รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบหลังบ้าน ถือเป็นการวางรากฐานการทำธุรกิจแบบใหม่ เมื่อ 13 ปีก่อน” ธนันชัยเล่าย้อนถึงวันที่ได้เริ่มเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว
สร้างโพสิชั่นใหม่แบรนด์อนันทา
หลังจากจบปริญญาตรี คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนันชัย ได้ไปดูธุรกิจที่จีนพร้อมกับเรียนภาษาไปด้วย ก่อนกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านอย่างเต็มตัว และเปิดสาขาใหม่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ใช้ชื่อแบรนด์ “อนันทา (Ananta)” ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างชื่อคุณพ่อและคุณแม่ อีกทั้งคำว่า Ananta ในภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า “อินฟินิตี้” จึงใช้ชื่อนี้ในการดำเนินธุรกิจร้านเพชรต่อมา
“คนสวนใหญ่ชอบคิดว่าการใส่เพชรนั้นไกลตัว ทำให้เป็นสินค้าสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย ผมต้องการสร้างแบรนด์อนันทาให้แตกต่างจากร้านเพชรทั่วไป โดยต้องการให้แบรนด์อนันทาเป็น Upscaled Diamond Boutique ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเพชร เข้าถึงได้ง่าย ในการเป็นสินค้าที่สร้างประสบการณ์ร่วมในโอกาสสำคัญของชีวิตผู้คน เพราะเพชรสามารถสะท้อนคุณค่าของตัวเอง และสร้างความสุขทางใจที่ประเมินค่าไม่ได้”
ธนันชัย กล่าวว่า คำว่า Upscaled หมายถึง คุณภาพสินค้า บริการ แพคเกจจิ้ง รวมถึงบริการหลังการขาย นี่คือ ประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับในการเข้ามาซื้อสินค้าที่อนันทา
เมื่อแบรนด์อนันทาเริ่มเป็นที่รู้จัก ได้ปรับดีไซน์ให้เก๋ ทันสมัย แต่เรียบง่าย เพื่อเข้าถึงได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งได้วางโพสิชั่นเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพชร มีเพชรให้ลูกค้าเลือกอย่างหลากหลาย และขายแยกระหว่างเพชรเม็ดเดี่ยวกับตัวเรือน ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกเพชรและดีไซน์ของตัวเรือนที่เหมาะกับความต้องการของตัวเอง รวมทั้งแนะนำการดูเพชรให้กับลูกค้า ดูใบรับรองมาตรฐาน ทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจและบอกต่อ ทำให้แบรนด์เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ร้านเพชรอนันทามี 4 สาขา ที่เซ็นทรัลเวิลด์ และ เซ็นทรัล สาขาปิ่นเกล้า พระรามเกล้า และลาดพร้าว แต่ยังมีแผนขยายสาขาเพิ่ม รวมทั้งในต่างจังหวัด เพื่อรองรับกำลังซื้อจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา
ชูเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่
ธนันชัย กล่าวว่า การเริ่มใช้ออนไลน์ ตั้งแต่ 15 ปีก่อน ทำให้ลูกค้ารู้ว่าเรามีตัวตน และมีความแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ทำให้อนันทามีจุดขายที่ชัดเจน ช่วยสร้างฐานลูกค้าประจำที่ให้ความสนใจเรื่องเพชรอย่างจริงจัง ไม่ใช่ลูกค้าประจำที่ใช้สายสัมพันธ์แบบในอดีต การให้ความรู้กับลูกค้า ทำให้ตลาดการขายเพชรเปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน ที่เริ่มมองหาของขวัญ หรือรางวัลให้กับชีวิตตัวเอง
“ความเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้ สมัยก่อนการทำร้านเพชรต้องปิดประตูเหล็ก แน่นหนา มียามเฝ้าหน้าร้าน แต่ร้านอนันทา เราเปิดกว้างให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเกร็งเวลาเข้าร้านเพชร แต่เราใช้เทคโนโลยี และระบบนิรภัยช่วยดูแล”
นอกจากนี้ ตั้งแต่ทำเวบไซต์บริษัทมีฐานลูกค้าในระบบสมาชิก มีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ โดยมีทีมพนักงานคอยนำเสนอสินค้ากับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้สามารถต่อยอดการขายจากชิ้นแรกไปสู่ชิ้นที่สอง จากโอกาสพิเศษงานแต่งงาน ไปสู่การซื้อเพื่อฉลองในโอกาสสำคัญๆ จนไปถึงการเลือกซื้อเพชรที่มีมูลค่าสูง เพื่อส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน
ล่าสุด บริษัทได้ซื้อเครื่องค้นหาเพชรจากทั่วโลก หรือ 3D Diamond ที่ไทยมีเครื่องเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครื่องมือนี้สามารถค้นหาเพชรได้จากทั่วโลก และนำเสนอเป็นภาพ 3D Hologram ที่สามารถนำมาทาบบนนิ้วของผู้สวมใส่ได้ และนำเสนอราคาแบบเรียลไทม์ ซึ่งทางร้านสามารถติดต่อซื้อเพชรดังกล่าวผ่านเอเย่นต์ที่มีอยู่ทั่วโลกให้ลูกค้าได้ภายใน 2 สัปดาห์ ทำให้ลูกค้าสามารถเห็นของจริงได้ก่อน และทางร้านไม่ต้องสต็อกเพชรเหมือนที่ผ่านมา
สำหรับการทำธุรกิจเพชร ธนันชัย มองว่า แบรนด์ร้านเพชรไม่สามารถตะโกนขายตัวเองเหมือนเสื้อผ้าแฟชั่น คุณค่าของแบรนด์ คือคุณค่าทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับลูกค้า เราจึงต้องสร้างแบรนด์ด้วยความน่าเชื่อถือ การบริการหลังการขาย ซึ่งอนันทามีห้องบริการหลังการขาย ในการล้าง ทำความสะอาดเพชร เป็นห้องกระจกที่ลูกค้าสามารถมองเห็นได้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่น มั่นให้ให้กับลูกค้าที่ซื้อเพชรกับเรา และไม่มีแบรนด์ใดที่ทำแบบนี้
“เพชร” คือธุรกิจครอบครัว
ธนันชัย มองว่า แม้จะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำธุรกิจมากขึ้น แต่สำหรับร้านเพชร ยังคงต้องเป็นกิจการครอบครัว เพราะธุรกิจเพขร มีความเป็นธุรกิจครอบครัวสูง เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างปิด ต้องมีทุน มีคอนเนคชั่น ต้องใช้ความเชื่อถือ ทำให้ผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาในธุรกิจยาก ทำให้ธุรกิจยังมีโอกาสเติบโตสูง สำหรับอนันทามีอัตราการเติบโตในสัดส่วนร้อยละ 60 ต่อปี
“ทิศทางของธุรกิจ มีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะยังไม่มีแบรนด์จิวเวลรี่ไหน อยู่ในใจคนรุ่นใหม่จริงๆ ตรงนี้เลยทำให้อนันทามีโอกาสที่จะขยายฐานไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ และปัจจุบันคนไทย ยังรู้สึกว่าจิวเวลรี่เข้าถึงยาก ไม่เหมือนในต่างประเทศ ที่ซื้อจิวเวลรี่เป็นเรื่องปกติ ในโอกาสสำคัญๆ ทุกเทศกาล แต่คนไทยยังมองว่าจะซื้อก็ต้องรอโอกาสพิเศษจริงๆ เราก็ต้องสร้างแวลู สร้างโอกาส ทำให้เขาอยากซื้อมากขึ้น” ธนันชัยกล่าว
สำหรับความท้าทายของการทำธุรกิจร้านเพชร มองว่าธุรกิจนี้มีความละเอียดอ่อนในตัว ในทุกๆ ด้าน ทั้งตัวสินค้า การทำร้าน การทำตลาด การเข้าถึงลูกค้า เพราะเพชรเป็นของที่มีมูลค่า การที่ลูกค้าจะเลือกซื้อสินค้าสักชิ้นใช้เวลาใช้การตัดสินใจค่อนข้างนาน ถ้าสามารถเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจนี้ได้ก็ทำธุรกิจได้อย่างราบรื่น
อ่านเพิ่มเติม: