"ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล" ปั้น มันนิกซ์ บริษัทลูก SCB สู่ยูนิคอร์น - Forbes Thailand

"ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล" ปั้น มันนิกซ์ บริษัทลูก SCB สู่ยูนิคอร์น

หลังจากการเปิดตัวยานแม่เอสซีบี เอ็กซ์ (SCB X) พร้อมการประกาศโครงสร้างธุรกิจใหม่ที่จะเป็นมากกว่าธนาคาร พร้อมทยอยเปิดตัวบริษัทตามโครงสร้างใหม่ หลายบริษัทได้สตาร์ทธุรกิจไปแล้ว และมีศักยภาพในการเติบโตไปสู่เป้าหมาย อย่าง บริษัท มันนิกซ์ จำกัด สตาร์ทอัพฟินเทค บริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์และ Abakus Group ประเทศจีน ภายใต้การบริหารงานของ "ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล"

บริษัท มันนิกซ์ จำกัด ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2562 อยู่ภายใต้การบริหารงานของ ‘ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล’ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ผู้มีเป้าหมายที่จะสร้างมันนิกซ์ แพลตฟอร์มบริการทางการเงินครบวงจร ให้ก้าวไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวแรกของกลุ่มเอสซีบี เอ็กซ์

SCB 10X จิ๊กซอว์ชีวิตที่สมบูรณ์

ถิรนันท์ ถือได้ว่าเป็นพนักงานคนแรกๆ ของ SCB 10X ที่เข้ามาร่วมตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท หลังจากก้าวเดินในเส้นทางสายไอทีตั้งแต่เรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะชื่นชอบด้านเทคโนโลยี นับตั้งแต่บริษัท Accenture ซีพี ฟู้ด เทรดดิ้ง ไมโครซอฟท์ ซึ่งช่วงที่ทำงานไมโครซอฟท์ได้มีโอกาสดูแลลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ จึงถูกชักชวนให้มาก่อตั้ง SCB 10X บริษัทฟินเทคในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ “การได้เข้าร่วมงานที่ SCB 10X เหมือนเป็นการต่อจิ๊กซอว์ในชีวิต ความรู้ด้านการเงิน เข้ามาเติมเต็มประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี ช่วยให้สามารถดีไซน์ ออกแบบโซลูชั่นที่ช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ที่เกิดจากการเรียนรู้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า จึงทำให้พวกเขาหันไปหาหนี้นอกระบบ” ถิรนันท์ เล่าถึงที่มาก่อนร่วมงานกับ SCB 10X และการก่อตั้งมันนิกซ์ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด เป็นฟินเทคสตาร์ทอัพร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ ถือหุ้นร้อยละ 60 และ Abakus Group สตาร์ทอัพยูนิคอร์น จากประเทศจีน ถือหุ้นร้อยละ 40 มันนิกซ์ เป็นแพลตฟอร์มบริการทางการเงินครบวงจรในรูปแบบดิจิทัล ที่นำเทคโนโลยีเอไอ (AI) ผสานกับแมชชีน เลิร์นนิ่ง (ML) มาออกแบบบริการทางการเงินให้ตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยมีผลิตภัณฑ์ตัวแรก คือ ฟินนิกซ์ (FINNIX) แอปเงินกู้คู่คนทำมาหากิน ถิรนันท์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของลูกค้า ปัญหาที่พบเจอมากที่สุด คือการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้ต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบ ทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนของคนไทยเพิ่มสูงมาก ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด ไตรมาสแรกของปีนี้ หนี้ครัวเรือนไทยสูงถึงร้อยละ 90 ของจีดีพี สะท้อนถึงปัญหาของคนไทยที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และไม่มีเอกสาร บัญชีทางการเงินที่จะเข้าถึงบริการของธนาคารได้ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีคนกลุ่มนี้ถึง 36 ล้านคนในประเทศไทย แก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมทางการเงิน ถิรนันท์ กล่าวว่า การทำงานของมันนิกซ์ ถือเป็นอีกเจเนอเรชันหนึ่งของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบธนาคาร จากก่อนหน้านี้ที่เป็นการใช้ดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ผู้ใช้บริการในการทำธุรกรรมทางการเงินให้ง่ายขึ้น แต่ยุคปัจจุบันเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น “ที่ผ่านมา กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยมักมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินค่อนข้างจำกัด ทำให้ต้องหันไปพึ่งการกู้นอกระบบ แต่จุดแข็งของมันนิกซ์ คือ ระบบปฏิบัติการที่ผสานพลังดิจิทัลของเทคโนโลยีเอไอ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงของลูกค้าได้รวดเร็ว ครอบคลุม และแม่นยำ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของคนไทยได้มากขึ้น ที่สำคัญเป็นระบบที่ถูกกฎหมาย และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค” ถิรนันท์กล่าว นอกจากนี้ ระบบของมันนิกซ์ยังปลอดภัยด้วยมาตรฐานระดับโลก ตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าที่หลากหลายได้ทันใจ จึงสามารถให้บริการแอปสินเชื่อในรูปแบบออนไลน์ได้โดยไม่ต้องมีสาขา แต่ก็เข้าถึงคนไทยได้ทุกพื้นที่ แค่ลูกค้ามีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็สมัครสินเชื่อได้โดยไม่ต้องออกไปไหนให้เสี่ยง ซึ่งสอดรับเป็นอย่างดีกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้เราช่วยคนทำมาหากินเข้าถึงสินเชื่อที่ถูกกฎหมายได้มากยิ่งขึ้น มันนิกซ์ให้วงเงินกู้สูงสุดถึง 1 แสนบาท เน้นเจาะกลุ่มคนทำมาหากินทุกอาชีพรวมถึงธุรกิจรายย่อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือธนาคารได้ เพราะขาดเอกสารการเงินและไม่มีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้สามารถกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันได้ตลอด 24 ชั่วโมง อนุมัติรับเงินไวสุดใน 5 นาที คิดดอกเบี้ยเพียง 2.75% ต่อเดือน แบบลดต้นลดดอก ช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบที่ไม่เป็นธรรม ให้คนทำมาหากินและเจ้าของธุรกิจรายย่อยติดปีกเรื่องเงินได้ในทุกสถานการณ์ มุ่งสร้างวินัยทางการเงินระยะยาว อย่างไรก็ตาม ถิรนันท์ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของมันนิกซ์ไม่ใช่แค่การปล่อยสินเชื่อ แต่คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะด้านการเงิน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยมีระบบที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดีให้กับคนไทย เช่น การให้รางวัลกับผู้ที่จ่ายหนี้ตรงเวลา และให้วงเงินเพิ่มเติม เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้กับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการให้ความรู้ ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ลูกค้ามีความรู้ทางการเงิน การรักษาเครดิตที่ดี เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการเงินในระยะยาว “เรากำลังทำสินเชื่อให้กับคนฐานราก ไม่ใช่แค่การให้เงินเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในช่วงวิกฤตนี้ แต่หมายถึงการทำให้คนไทยมีสุขภาพการเงินที่ดีได้อย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่ของเรา” ถิรนันท์ระบุ ปัจจุบันหนี้นอกระบบเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย จากการศึกษาของบริษัทพบว่าขนาดตลาดสินเชื่อสำหรับกลุ่มลุกค้าที่ขาดโอกาสกลุ่มนี้มีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยปัจจุบัน คาดว่ามีสถาบันการเงินสามารถให้บริการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้เพียงราวๆ 7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทำให้ยังมีโอกาสสำหรับมันนิกซ์อีกมาก มันนิกซ์มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือคนทำมาหากินที่ขาดโอกาสอย่างน้อย 7.2 ล้านคน จากทั้งหมดจำนวน 36 ล้านคน โดยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อให้ได้ 5,000 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งขณะนี้มียอดปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท และมียอดดาวน์โหลดแอปฟินนิกซ์ 4 ล้านดาวน์โหลด บริษัทจะทำการโฆษณา ประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าถึงคนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการเสริมสภาพคล่องให้คนไทยในยามนี้ “สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ บริษัทลูกของ SCB 10X เป้าหมายแรก คือภายใน 3 ปีข้างหน้า บริษัทมุ่งสู่เป้าหมายเป็นแอปพลิเคชันทางการเงินอันดับ 1 ของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป้าหมายต่อไป คือการเป็นบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของประเทศไทยให้ได้” ถิรนันท์ กล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: หนุนลงทุน อีอีซี ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine