Deep Tech เปลี่ยนโลกอย่างไร - Forbes Thailand

Deep Tech เปลี่ยนโลกอย่างไร

FORBES THAILAND / ADMIN
04 Jul 2018 | 06:43 PM
READ 5398

10 ปีที่ผ่านมามีสิ่งหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปในโลกธุรกิจอย่างน่าเหลือเชื่อ คือปัจจุบันหัวตารางของบริษัทชั้นนำต่างเปลี่ยนหน้าจากธุรกิจปิโตรเคมีหรือสถาบันการเงินเป็นบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Google, Apple, Facebook หรือ Amazon ที่พากันแซงหน้าขึ้นมาครองแท่นผู้นำเกือบทั้งหมด

เรียกได้ว่ายุคสมัยได้ถูกเปลี่ยนผ่านมาเป็นยุคของเทคโนโลยีเรียบร้อยแล้ว ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือเทคโนโลยีนี้ได้เชื่อมต่อคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน ผ่านนวัตกรรมที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนจนก่อกำเนิดข้อมูลขึ้นมาเป็นจำนวนมหาศาล คำถามที่ตามมาก็คือ หาก 10 ปีที่ผ่านมาเป็นยุคของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนแล้ว 10 ปีต่อจากนี้จะเป็นยุคของอะไร คำตอบก็คือ Deep Tech เหตุผลก็เพราะว่าข้อมูลมหาศาลที่ถูกสร้างขึ้นตลอดเวลาที่ผ่านมาจะกลายเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยให้การมาของยุคถัดไปของเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Deep Tech ที่จะเข้ามารับไม้ต่อในการเปลี่ยนแปลงโลกต่อไป จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนในโลกธุรกิจควรจะทำความรู้จัก เข้าใจและคุ้นเคยกับมันไว้  

Deep Tech คืออะไร

แม้ว่าเทคโนโลยีได้ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ นับไม่ถ้วน แต่ก็ยังมีสารพันปัญหาที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาในภาคเศรษฐกิจจริง (real sectors) เช่น ปัญหาขาดแคลนอาหาร ปัญหาขาดแคลนพลังงาน และปัญหาน้ำมันหมดโลก หากลองจินตนาการถึงโลกที่ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ด้วยวิธีที่น่าเหลือเชื่อ เช่น เราสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารของโลกได้โดยการปลูกเนื้อขึ้นทดแทนจากในห้องทดลอง หรือแก้ปัญหาพลังงานโดยการทำแบตเตอรี่ที่ชาร์จตัวเองได้ตลอดเวลา หรือแม้แต่การแก้ปัญหาน้ำมันด้วยการใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์สารขึ้นมาทดแทนได้ สิ่งเหล่านี้คือ Deep Tech ที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และบล็อกเชน (Blockchain) จะเป็นที่สนใจในวงกว้างแล้ว แต่เรายังมี Deep Tech อีกมากมาย เช่น เทคโนโลยีเซนเซอร์ขั้นสูง (Advanced Sensing), ชีวภาพสังเคราะห์ (Synthetic Biology), ควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computing), และหุ่นยนต์ (Robotics) เป็นต้น Deep Tech เหล่านี้กำลังค่อยๆ ถูกนำออกจากห้องวิจัยมาใช้งานร่วมกันหลายๆ ตัว และเปลี่ยนมาอยู่ในภาคธุรกิจมากขึ้นในรูปแบบของสตาร์ทอัพ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือการแก้ปัญหาที่ยังไม่สามารถถูกแก้ไขได้ในปัจจุบัน  

ทำไมถึงต้องสนใจ Deep Tech

การถูก disrupt โดยเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกอุตสาหกรรม ธุรกิจภาคสื่อ เช่น นิตยสาร โทรทัศน์ วิทยุ เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งได้รับอิทธิพลไปแล้วเป็นกลุ่มแรกๆ จากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนซึ่งหลายเจ้าที่ไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่ทันก็มีอันต้องขายหรือล้มเลิกกิจการไป สำหรับการเปลี่ยนแปลงระลอกใหม่ที่มาพร้อมกับกระแส Deep Tech นั้น กำลังมาเร็วกว่าที่หลายๆ คนคาดคิด ฝั่ง real sectors อย่างอุตสาหกรรมการผลิต ขนส่ง การก่อสร้าง เกษตรกรรม หรือสุขภาพ ที่เคยได้รับผลกระทบน้อยนิดในสมัยก่อน ต่างก็ต้องเริ่มสนใจเทคโนโลยีมากขึ้น มิเช่นนั้นก็เสี่ยงที่จะต้องเจอกับชะตากรรมเดียวกัน เพราะว่าไม่มีธุรกิจใดที่มีภูมิคุ้มกันถาวรที่ป้องกันการถูก disrupt ได้ แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะ Deep Tech สามารถช่วยพัฒนาศักยภาพการทำงานของมนุษย์และการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น ทั้งการเข้ามาทดแทน ช่วยเหลือและสร้างโอกาสในการทำงานที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไป ดังเช่น บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่นำเอา AI มาช่วยในการจัดการแผนการก่อสร้างสามารถลดระยะเวลาในการก่อสร้างไปได้อย่างมีนัยสำคัญเป็นหลักเดือน คิดเป็นค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสรวมกันที่ประหยัดไปได้ชนิดเรียกได้ว่ามากมายนัก  

เราจะหา Deep Tech ได้จากไหน

ปัจจัยหนึ่งที่ Deep Tech มีความแตกต่างจากโดยทั่วไปก็คือความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาทั้งทรัพยากรวิชาการและงานวิจัยขั้นสูง รวมทั้งบุคลากรและพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ธุรกิจจะต้องมีความเข้มแข็งมากพอที่จะเข้ามาลงทุนในเทคโนโลยีที่มีราคาค่อนข้างสูงในระยะแรกเหล่านี้ได้ ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งมีเงินทุนแต่ขาดบุคลากรในการพัฒนาขึ้นมาเองสตาร์ทอัพที่เป็น Deep Tech กลับเต็มไปด้วยผู้คนที่มีทั้งความสามารถและความเข้าใจในอุตสาหกรรม ผู้ก่อตั้งหลายคนเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาโทหรือเอกในสาขาเฉพาะทาง อีกทั้งยังมีประสบการณ์การทำงานมาหลายปี ทำให้พวกเขามองเห็นทั้งปัญหาที่คนทั่วไปไม่เห็น และความพร้อมของเทคโนโลยีที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ พวกเขาคือผู้ที่ตัดสินใจละทิ้งทั้งโอกาสและตำแหน่งในบริษัทใหญ่ๆ ที่พวกเขาอยู่ เพื่อจะออกมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้ นักลงทุนที่ลงทุนใน Deep Tech ส่วนใหญ่มีทั้ง Angel Investor หรือกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital - VC) ทั้งแบบปกติและที่ขึ้นตรงกับองค์กร (Corporate Venture Capital - CVC) เงินทุนเหล่านี้มักถูกใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งบริษัทเหล่านี้มักจะเก็บตัวเป็นความลับในวงแคบเพื่อป้องกันตัว ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ทำการลงทุนจึงจำเป็นจะต้องใช้เวลาในการคลุกคลีกับคนในวงการอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะได้เห็นและเข้าถึง Deep Tech ใหม่ๆ ก่อนผู้อื่น ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใน VC เหล่านี้จึงได้เปรียบในการเห็น “ของดี” ก่อนใครไปด้วย  

เราจะนำ Deep Tech มาใช้ได้อย่างไร

สตาร์ทอัพ Deep Tech เน้นไปที่การพัฒนาและขยายธุรกิจ แต่แม้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีสิ่งที่ล้ำยุค แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาดไปและจะต้องหาพันธมิตรช่วยในการขยายธุรกิจคือความสัมพันธ์กับคู่ค้าในอุตสาหกรรมเดียวกันที่จะช่วยสร้างโอกาสทางการขายที่มักจะมีระยะเวลายาวนาน ดังนั้นผู้ที่มองเห็นจุดเด่นของตัวเองในด้านนี้ และอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมกับบริษัท Deep Tech จะสามารถใช้ความสัมพันธ์ที่เป็นจุดแข็งของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยความที่ Deep Tech ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ขายหรือต้องลงทุนร่วมกับภาคธุรกิจด้วยกัน (Business to Business) ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นเหมือนโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ในการลดค่าใช้จ่ายหรือหารายได้ช่องทางใหม่ที่มีศักยภาพสูง สามารถจะเข้าหาบริษัทสตาร์ทอัพ Deep Tech เหล่านี้เพื่อทำการแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีพร้อมทั้งเติบโตไปด้วยกันในฐานะพันธมิตรในเชิงธุรกิจชั้นเลิศได้ดี  

ใครที่ได้เริ่มเข้าหา Deep Tech แล้วบ้าง

นักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์ได้เริ่มที่จะสร้างข้อได้เปรียบให้กับตัวเองด้วยข้อมูลเชิงลึกของอนาคต เราจะเห็นได้ว่าบริษัทใหญ่หลายๆ แห่งในไทยได้ทยอยเปิดตัว CVC ของตนเองกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน CVC ของบริษัทมหาชนในไทยมีอยู่ประมาณ 20 บริษัทแล้ว ตัวอย่างของบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ทางด้าน Deep Tech และได้เลือกลงทุนกับกองทุนที่เน้น Deep Tech โดยเฉพาะอย่าง Creative Ventures หรือแม้แต่ผู้ก่อตั้ง บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ อย่าง ชานนท์ เรืองกฤตยา, สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการผู้จัดการ บมจ.มิลล์คอน สตีล หรือ MILL และ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ แห่ง เถ้าแก่น้อย เป็นต้น บริษัทที่มีวิสัยทัศน์เหล่านี้เล็งเห็นความสำคัญของข้อมูลเชิงลึกที่เปรียบเสมือนกับการที่จะได้เห็นไพ่ล่วงหน้า ว่าเทคโนโลยีในอนาคตอะไรบ้างที่กำลังจะเข้ามาส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเขา และพวกเขาเหล่านี้ก็จะได้โอกาสก่อนใครที่จะนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาเป็นมิตรแท้ก่อนที่จะกลายไปเป็นศัตรูตัวร้ายต่อธุรกิจตัวเอง เพราะฉะนั้น หากจะฝากคำถามแถมสุดท้ายว่าเมื่อใดที่คุณควรเริ่มสนใจใน Deep Tech คำตอบที่ดีที่สุดที่ผมแนะนำได้ก็คงจะเป็น “เดี๋ยวนี้”   ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย ผู้ก่อตั้ง บริษัท ครีเอทีฟเวนเจอร์ จำกัด
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มิถุนายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine