CRG เดินเกมรุกเดลิเวอรีโค้งสุดท้ายปี 64 - Forbes Thailand

CRG เดินเกมรุกเดลิเวอรีโค้งสุดท้ายปี 64

เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป CRG ขนทัพแบรนด์อาหารไทย-จีน “ไทยเทอเรส  อร่อยดี  เกาลูน  ส้มตำนัว” เปิดแผนรุกลงสนามเดลิเวอรี่ครึ่งปีหลังงัดกลยุทธ์การตลาดแบบนิวนอร์มอลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจเร่งการเติบโตยุคโควิด-19

ธนพล ธรรพสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่ม Thai & Chinese Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของ Thai & Chinese Cuisine ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีการเติบโตขึ้นร้อยละ 10 โดยตัวเลขรายได้ในปี 2653 อยู่ที่ประมาณ 270 ล้าน ซึ่งการเติบโตมาจากการพัฒนาโมเดลใหม่เพิ่มเติม เช่น Kiosk รวมถึงการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ธุรกิจร้านอาหารประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ที่มีผลให้สภาพแวดล้อมธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ทั้งจากมาตรการการควบคุมการระบาดของภาครัฐ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลจากการปรับตัวของการจ้างงานเช่นเดียวกัน พร้อมคาดการณ์ว่า ธุรกิจร้านอาหารที่มีมูลค่าประมาณ 4  แสนล้านบาทจะขยายตัวเพียงราวร้อยละ 1.4 - 2.6 ดังนั้น จากปัจจัยที่มีผลกระทบกับธุรกิจอาหารในภาพรวมนำมาสู่การปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ โดยในส่วนของ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี (CRG)  ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างของการบริหาร และปฏิบัติงานมุ่งเน้นในการบริหารจัดการในแต่ระบบให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็น ด้านแผนการบริหารจัดการต้นทุน กลยุทธ์การตลาด การสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการขาย สำหรับแผนการบริหารจัดการต้นทุน เช่น การพัฒนาทักษะพนักงาน (Multi-Function) โดยดึงศักยภาพของพนักงานให้สามารถทำได้หลายหน้าที่ รวมถึงด้านการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ โดยเฉพาะการควบคุมความสูญเสียและการจัดหาพื้นที่ทำ Delivery ตลอดจนการเจรจาค่าเช่าที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการต้นทุนและการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนั้น บริษัทยังให้ความสำคัญกับการเดินหน้ากลยุทธ์การตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แบรนด์เป็นส่วนหนึ่งของผู้บริโภค พร้อมสร้างประสบการณ์ความประทับใจและความผูกพันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ด้วยการทำการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์บนฐานข้อมูล (Data – Driven Everything) เพิ่มขีดความสามารถในแนวรุกของตลาดออนไลน์จากจำนวนลูกค้าที่สั่งอาหารออนไลน์ในปัจจุบันมากกว่าร้อยละ 90 ทั้งช่องทาง Google trend, Tiktok, Twitter เป็นต้น ขณะเดียวกันยังเลือกใช้ผู้นำเทรนด์ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคคนรุ่นใหม่ที่รับรู้จากสื่อออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การสื่อสารเมนูใหม่ๆ ผ่าน KOLs, Food Influencer จึงมีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง พร้อมยังคงจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย โดยเน้นเรื่องความแตกต่าง โปรโมชั่น ราคา และภาพลักษณ์ของสินค้าให้เข้าถึงลูกค้ามากที่สุด “ทุกแบรนด์ต้องเร่งปรับตัว และปรับกลยุทธ์ให้รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายช่องทางการขาย โมเดลใหม่ เช่น บริการเดลิเวอรี่ รวมถึงการพัฒนาเมนู ราคา และโปรโมชั่นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค” ธนพลย้ำถึงความสำคัญของการปรับโครงสร้างของการบริหารงานระบบและการปรับเปลี่ยนส่วนของพื้นที่ร้านและทำเลที่ตั้งร้านเพื่อให้เหมาะกับสัดส่วนการขายและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งในภาพรวมมีการแบ่งสัดส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายเอาไว้อย่างชัดเจนทั้ง ช่องทาง การนั่งทานที่ร้านและซื้อกลับบ้าน (Dine In & Take away) และ เดลิเวอรี่ (Delivery) ดังนั้น ในปี 2564 บริษัทจึงปรับสัดส่วนการนั่งรับประทานอาหารที่ร้านและซื้อกลับบ้านลงจากร้อยละ 70 ในปีก่อนหน้าเป็นร้อยละ 60 และช่องทางการขายเดลิเวอรีเพิ่มจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 พร้อมปรับเปลี่ยนภาพรวมการขายและรูปแบบของสาขาให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ของภาพรวมธุรกิจอาหาร การควบคุมการระบาดโควิด-19  และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เวลาทำงานและอยู่ที่บ้านมากกว่า “เดลิเวอรี่จะเติบโตอย่างมากต่อจากนี้ โดยเป็นการโตได้มากเป็นเท่าตัว ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการปรับตัว และการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ เช่น Fantastic 4 การสั่งอาหารที่ทำได้ครบจบในแอปเดียว ทั้งยังมีการเพิ่มเมนู Take away และเน้นสัดส่วนการขายเดลิเวอรี่มากขึ้น การเพิ่มโลเคชั่นหาพื้นที่ Cloud Kitchen รองรับการขายเดลิเวอรี่ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง รวมถึงการพัฒนากลยุทธ์การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยดาต้าทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ พร้อมอาวุธสำคัญช่วงครึ่งปีหลังจากแบรนด์ล่าสุด “ส้มตำนัว” ที่จะเข้ามาเสริมทัพแบรนด์ในกลุ่มและขยายฐานลูกค้าให้หลากหลาย โดยเน้นสัดส่วนการขายช่องทางดลิเวอรี่เป็นหลัก” ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทมีสาขาร้านอาหารจำนวน 67 สาขา โดยทุกสาขาตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครแบ่งเป็น แบรนด์ไทยเทอเรส จำนวน  17 สาขา  อร่อยดี  33 สาขา  เกาลูน  10 สาขา ส้มตำนัว  7 สาขา รวมทั้ง แบรนด์ โตเกียว โบวล์  (Tokyo Bowl) ซึ่งเป็น Virtual Brand อีก 50 สาขา อ่านเพิ่มเติม: GS Retail ปิดดีล Yogiyo เสริมทัพค้าปลีก ชิงส่วนแบ่งในตลาดส่งอาหารเกาหลีใต้
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine