BTS เสียป่วนกรุง รัฐปรับเงินได้หรือไม่? ชดเชยผู้โดยสารอย่างไร? ขัดข้องหนักจริงหรือ? - Forbes Thailand

BTS เสียป่วนกรุง รัฐปรับเงินได้หรือไม่? ชดเชยผู้โดยสารอย่างไร? ขัดข้องหนักจริงหรือ?

ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง กำลังทำการแก้ไข ขบวนรถจะล่าช้า 10 นาที ขออภัยในความไม่สะดวก เสียงประกาศภายในสถานีและขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสเช้านี้ดังขึ้นเป็นระยะ ระหว่างที่ผู้โดยสารจำนวนมากยืนรอขบวนรถไฟฟ้าอย่างมีความหวังพลางระบายอารมณ์ลงในโซเชียลมีเดียถามหาความรับผิดชอบจากบีทีเอส รถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งสายสุขุมวิทและสีลมเกิดความขัดข้องครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในเช้าวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2561 ตั้งแต่เวลา 06.15 - 10.03น. รวมเวลาการเดินรถขัดข้องและล่าช้า 228 นาที สร้างความโกลาหลให้เช้าวันทำงานของชาวกรุงเทพฯ ตามแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ สิ้นสุดเดือนมีนาคมปี 2560 รายงานว่า บีทีเอสมีจำนวนผู้โดยสารในวันทำงาน 7.35 แสนเที่ยวคน/วัน หากหารเฉลี่ยต่อชั่วโมงแล้ว บีทีเอสจะมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยในวันทำงาน 40,833 เที่ยวคน/ชั่วโมง หมายความว่าการล่าช้าเกือบ 4 ชั่วโมงจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารประมาณ 1.63 แสนคน ยังไม่นับว่าความล่าช้าดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วนซึ่งน่าจะมีผู้โดยสารมากกว่าปกติอีกด้วย
เหตุการณ์บีทีเอสขัดข้องเกือบ 4 ชั่วโมงเช้าวันที่ 25 มิ.ย. 61 ที่สถานีสยาม (Twitter@yvestoodmha)
โดย อาณัติ อาภาภิรม กรรมการที่ปรึกษา บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ระบุสาเหตุความขัดข้องและล่าช้าของบีทีเอสว่า เกิดจากระบบอาณัติสัญญาณที่สถานีสยามเกิดความขัดข้องจากการรบกวนของคลื่นวิทยุบนตึกสูงโดยรอบ ทำให้ต้องใช้ระบบบังคับการด้วยมือ (manual) แทน ซึ่งบีทีเอสกำลังวางระบบอาณัติสัญญาณใหม่ให้ครอบคลุมทุกสถานีเพื่อป้องกันคลื่นรบกวน ค่าปรับเดินรถล่าช้า? แม้จะมีการชี้แจงจากบริษัทผู้เดินรถแล้ว แต่ยังมีคำถามค้างคาใจผู้โดยสาร เนื่องจากระยะหลังบีทีเอสมีเหตุขัดข้องบ่อยครั้งมากขึ้น ทำให้ผู้โดยสารถามหาความรับผิดชอบหรือบทลงโทษต่อบีทีเอส สำหรับสัญญาสัมปทานของบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพและค่าปรับเมื่อเกิดข้อขัดข้องนั้น Forbes Thailand สอบถามไปที่ ธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้สัญญาสัมปทานของบีทีเอสซีนั้นแยกเป็น 2 ส่วนคือ สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าที่เอกชนลงทุนเอง 100% (ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และ สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน) ซึ่งมีระยะสัญญาปี 2535-2572 และอีกสัญญาคือสัญญาจ้างบีทีเอสซีเดินรถให้กับกทม. (ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และ สะพานตากสิน-บางหว้า) ซึ่งมีระยะสัญญาปี 2555-2585
บีทีเอสขัดข้องหนักวันที่ 25 มิ.ย. 61: การวิพากษ์วิจารณ์ของผู้โดยสารในสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ภายใต้แฮชแท็ก #ยกเลิกสัมปทานBTS นั้น มีการทวีตถึงไปแล้วมากกว่า 1 แสนครั้ง (Twitter@pnvich)
ธนูชัยกล่าวว่า สัญญาสัมปทานแรกนั้นไม่มีบทลงโทษต่อบีทีเอสในลักษณะค่าปรับ เนื่องจากเป็นสัญญาที่เอกชนลงทุนโครงสร้าง เดินรถ และซ่อมบำรุงเอง 100% ซึ่งเอกชนต้องรับความเสี่ยงเอง ประกอบกับสัญญาทำขึ้นในปี 2535 ขณะนั้นไทยจึงยังไม่มีแม่แบบในการทำสัญญา อีกทั้งบริบทสังคมในยุคนั้นมองว่า หากบีทีเอสซีเดินรถได้ไม่มีประสิทธิภาพก็จะมีผู้โดยสารน้อยลงตามหลักการตลาดอยู่แล้ว ต่างจากยุคปัจจุบันที่โครงข่ายรถไฟฟ้าถือเป็นการคมนาคมที่ขาดไม่ได้สำหรับคนกรุงเทพฯ ส่วนสัญญาจ้างเดินรถที่ทำขึ้นในปี 2555 คาดว่าในสัญญาน่าจะมีประเด็นบทลงโทษหากการเดินรถขัดข้องมากกว่าที่กำหนดจากความผิดพลาดของเอกชนเอง ซึ่งกทม.จะศึกษาโดยละเอียดอีกครั้ง พร้อมกับได้สั่งการให้บีทีเอสชี้แจงการเดินรถขัดข้องบ่อยครั้งมาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว “จากการพูดคุยทางโทรศัพท์กับบีทีเอส มีการชี้แจงมาเบื้องต้นว่า เหตุขัดข้องบ่อยครั้งเกิดจากอยู่ระหว่างปรับระบบอาณัติสัญญาณใหม่ให้เป็นระบบเดียวกันทั้งหมด เนื่องจากส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) และเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) จะเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ ทำให้ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งโครงข่าย อย่างไรจะต้องเปลี่ยนระบบให้เสร็จสิ้นก่อนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้เปิดทำการเดือนธันวาคม 2561” ธนูชัยกล่าว มาตรฐานต่างประเทศขีดเส้นที่ 92% เปรียบเทียบกับมาตรฐานการรับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าในต่างประเทศนั้น ยกตัวอย่างเช่น เมือง Melbourne ประเทศออสเตรเลีย มีข้อบังคับในสัญญาสัมปทานของผู้ให้บริการรถไฟฟ้า Metro Trains โดย Metro Trains จะต้องให้บริการตรงเวลา 92% ขึ้นไป มิฉะนั้นจะมีค่าปรับสูงสุดเดือนละ 1.25 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และ Metro Trains ยังจัดทำเว็บไซต์รายงานผลประสิทธิภาพการเดินรถรายเดือนไว้อีกด้วย
Metro Trains เคยถูกปรับเงิน 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2560 หลังจากเดือนกรกฎาคม 2560 ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการเดินรถของ Metro Trains ล่มเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมงในช่วงเย็นวันทำงาน (Twitter: Laura Louis)
ทั้งนี้ Metro Trains เคยถูกปรับเงิน 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2560 หลังจากเดือนกรกฎาคม 2560 ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการเดินรถของ Metro Trains ล่มเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมงในช่วงเย็นวันทำงาน ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร 1.75 แสนคนที่กำลังเดินทางกลับบ้าน คืนค่าตั๋วได้ทันที-ขอใบรับรองความล่าช้าทางอีเมล ด้านการชดเชยให้กับผู้โดยสาร Forbes Thailand สอบถามผ่านทาง BTS Hotline ว่า หากเกิดความล่าช้าในการเดินรถ ผู้โดยสารที่ถือบัตรเที่ยวเดียวสามารถติดต่อขอคืนเงินได้เต็มจำนวนได้ทันทีที่นายสถานี และผู้โดยสารที่ถือบัตรเติมเที่ยวแบบรายเดือนสามารถแตะบัตรออกจากสถานีได้เลยโดยจะไม่ถูกตัดเที่ยวการเดินทาง ทั้งนี้ บัตรทั้งสองประเภทจะต้องขอคืนเงินหรือแตะออกที่สถานีเดิมที่แตะบัตรเข้าระบบเท่านั้น ในกรณีที่ผู้โดยสารต้องการใบรับรองความล่าช้าของรถไฟฟ้าสำหรับยื่นแสดงต่อหน่วยงานต่างๆ สามารถแจ้งความประสงค์และระบุวัน เวลา ที่อยู่ในระบบระหว่างเกิดความล่าช้าผ่านทางอีเมล nuduan@bts.co.th และทางบีทีเอสจะออกใบรับรองตอบกลับ
ตัวอย่างใบรับรองการล่าช้าของรถไฟญี่ปุ่นซึ่งหยิบได้เลยที่สถานี (Photo Credit: blog.nus.edu.sg)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับระบบรถไฟฟ้าของญี่ปุ่น หากเกิดเหตุขัดข้องในระบบจนรถไฟล่าช้า เจ้าหน้าที่สถานีจะเตรียมใบรับรองความล่าช้าของการเดินรถ ระบุวันวัน เวลา ที่เกิดเหตุเพื่อนำไปแสดงต่อหน่วยงาน เช่น บริษัท โรงเรียน ในวันนั้นได้เลย เป็นการยืนยันว่าการมาสายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัยจากขบวนรถไฟขัดข้อง ปี 2561 บีทีเอสขัดข้องหนักเดือนมิถุนายน กลับมาที่เหตุขัดข้องของบีทีเอส หลายคนน่าจะสงสัยว่าบีทีเอสเดินรถได้ตรงเวลาตามมาตรฐานสากลหรือไม่ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ สิ้นสุดเดือนมีนาคมปี 2560 ระบุว่า บีทีเอสซีมีมาตรวัดความน่าเชื่อถือของการให้บริการตรงต่อเวลา คือขบวนรถจะต้องเดินทางตรงเวลา 99.50% ขึ้นไป (นับความผิดพลาดเฉพาะขบวนรถที่ล่าช้ามากกว่า 5 นาที) ซึ่งช่วงเดือนเมษายน 59 - มีนาคม 60 นั้น บีทีเอสซีเดินรถได้ตรงเวลา 99.86% ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งมีอัตราบริการเดินรถตรงเวลา 99.84% สำหรับปีนี้ Forbes Thailand ได้ทำการรวบรวมสถิติการขัดข้องของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสช่วงเดือนมกราคม - 25 มิถุนายน 2561 จากการแจ้งเหตุต่อผู้โดยสารผ่านทางแพลตฟอร์ม Twitter@BTS_SkyTrain พบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีบีทีเอสมีการเดินรถขัดข้องบ้างแต่ยังอยู่ในเวลาสะสมที่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง (โปรดดูข้อมูลแนบท้ายบทความ) แต่เฉพาะช่วงวันที่ 1-25 เดือนมิถุนายน 2561 บีทีเอสมีเหตุขัดข้องมากที่สุด ขัดข้องสะสม 10 ครั้ง รวม 752 นาที (บันทึกถึงเวลา 19.00น. วันที่ 25 มิถุนายน 61 ที่ยังมีปัญหาขัดข้องอยู่) ต้องติดตามว่าเฉลี่ยรวมทั้งปีแล้วอัตราการบริการที่ตรงเวลาของบีทีเอสจะเป็นอย่างไร สุดท้ายนี้ นอกจากการคืนเงินค่าโดยสาร ใบรับรองความล่าช้า และบทลงโทษการจ่ายค่าปรับแก่รัฐแล้วนั้น เสียงจากผู้โดยสารยังเรียกร้องถึงคำขอโทษอย่างจริงใจและคำชี้แจงต่อปัญหาอย่างละเอียดจากผู้บริหาร ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นอีกเลยตั้งแต่ที่บีทีเอสเคยขัดข้องครั้งใหญ่ 5 ชั่วโมงรวดเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ข้อมูลแนบท้าย: BTS ขัดข้องช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2561
  • วันที่ 1-25 เดือนมิถุนายน 2561 (จนถึงเวลา 00น.) ล่าช้า 10 ครั้ง รวมเวลา 752 นาที
  • เดือนพฤษภาคม 2561 ล่าช้า 3 ครั้ง รวมเวลา 53 นาที
  • เดือนเมษายน 2561 ล่าช้า 3 ครั้ง รวมเวลา 67 นาที
  • เดือนมีนาคม 2561 ล่าช้า 4 ครั้ง รวมเวลา 99 นาที
  • เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ล่าช้า 7 ครั้ง รวมเวลา 111 นาที
  • เดือนมกราคม 2561 ล่าช้า 2 ครั้ง รวมเวลา 18 นาที
  แหล่งข้อมูลอ้างอิง