เพื่อเป็นการยกย่องนวัตกรรมที่ผู้ก่อตั้งแบรนด์คิดค้นขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน ปีค.ศ. 1801 Breguet (เบรเกต์) เผยโฉมเรือนเวลาระดับมาสเตอร์พีซที่ผสมผสานสุดยอดงานศิลป์และเทคนิคอันแสนประณีตซับซ้อนเข้าไว้ด้วยกัน
เรือนเวลา Double Tourbillon (ดับเบิล ทูร์บิญง) รุ่นใหม่นี้ เผยโฉมในนิยามใหม่อันเป็นการยกย่องศาสตร์และศิลป์แห่ง the Manufacture หรือสถานที่รังสรรค์ซึ่งนวัตกรรมเรือนเวลาของเบรเกต์
ภายในตัวเรือนโรสโกลด์ขนาด 46 มม. หนา 16.8 มม. แสดงความซับซ้อนของกลไก 588N2 และชิ้นส่วนกว่า 740 ชิ้น เผยให้เห็นสุดยอดความเชี่ยวชาญในการรังสรรค์กลไกนี้ขึ้นมา โดยสามารถยลโฉมทูร์บิญงคู่ทั้งสองชุดได้บนหน้าปัด ซึ่งทูร์บิญงอันเป็นส่วนสำคัญของกลไกแสดงเวลานั้นขับเคลื่อนควบคู่กันไปราวกับกำลังเริงระบำ
บาร์ของทูร์บิญงทั้งสองชุดยึดอยู่กับเมนเพลทหลัก ซึ่งจะหมุนครบรอบในทุกๆ 12 ชั่วโมงด้วยการทำงานของกลไกเฉพาะที่มีความซับซ้อนขั้นสูง ซึ่งผู้ออกแบบได้สร้างสรรค์ให้บาร์ทำหน้าที่เป็นเข็มชั่วโมงไปด้วยในตัวในรูปลักษณ์เข็มนาฬิกาในแบบฉบับของ Breguet
กลไกทูร์บิญงทั้งสอง ประกอบด้วยชุดอุปกรณ์และบาร์เรลแบบแยกกันเฉพาะตัว ซึ่งต่างก็หมุนครบรอบในทุกหนึ่งนาที กลไกทั้งสองทำงานเชื่อมโยงกันด้วยระบบความถี่ศูนย์กลางที่เป็นตัวกำหนดความถี่ของกลไกนาฬิกา และยังมีชุดอุปกรณ์ที่สามเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานของกลไกทั้งหมดอีกด้วย หน้าปัดคริสตัลแซฟไฟร์ใสก็น่าประทับใจไม่แพ้กัน แสดงตัวเลขแบบโรมันและสลักหลักนาทีเคลือบสีน้ำเงินขัดเงา ทำให้ดูราวกับว่าขอบหน้าปัดนาฬิกาด้านในกำลังลอยอยู่เหนือกลไก ขอบข้างด้านในตัวเรือนสลักเซาะร่องแนวตั้ง พร้อมหลักชั่วโมงแสดงด้วยตัวเลขโรมัน 12 ตัว ซึ่งนำไปเคลือบขัดเงาอีกครั้งด้วยสีดำ ให้ตัวเลขเกิดเงา ดูมีมิติ เรือนเวลารุ่นนี้มาพร้อมสายรับเบอร์สีมิดไนท์บลูประทับตรา Breguet
ยกย่องงานหัตถศิลป์
สุดยอดเรือนเวลาเรือนนี้คืองานศิลปะที่มาอวดโฉมอยู่บนข้อมือ ผสมผสานงานฝีมือหลากหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกันในเรือนเดียว
ศิลปะ Guilloché (กิลโยเช่)
ช่างศิลป์ของ The Manufacture คือผู้เชี่ยวชาญในศิลปะแขนงนี้โดยตรง พวกเขาได้รังสรรค์ลวดลายขึ้นใหม่สำหรับเรือนเวลาเรือนนี้โดยเฉพาะ นั่นคือลาย radiant flinqué หรือลายคลื่นเสียง ซึ่งมีการตกแต่งลวดลายนี้บนเมนเพลทโรสโกลด์แบบหมุน รวมถึงบริดจ์ทองคำโรเดียมเพลทที่อยู่ข้างใต้ เทคนิคการสลักลายแบบ guilloché ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของ Breguet เป็นศิลปะที่ต้องอาศัยเครื่องกลึงถึงเกือบ 30 เครื่อง ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเวิร์คชอปที่สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมนาฬิกาเลยทีเดียว
สำหรับเครื่องกิลโยเช่เครื่องใหม่นั้นทาง Manufacture ได้รังสรรค์ขึ้นเอง ส่วนเครื่องรุ่นดั้งเดิมนั้นบางเครื่องมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 ทางแบรนด์ได้ทำการซื้อคืนมาจากเจ้าของที่เป็นบุคคลและจากบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้แล้ว จากนั้นได้นำกลับมาซ่อมแชมโดยผู้เชี่ยวชาญของทางแบรนด์ แล้วจึงนำกลับมาใช้ในเวิร์คชอปในปัจจุบัน เครื่องกิลโยเช่แต่ละเครื่องมีคุณสมบัติแตกต่างกัน และสามารถสร้างสรรค์ลวดลายได้ไม่เหมือนกัน มีทั้งเครื่องทำลายตรง เครื่องทำลวดลายทรงกลม ดูแลโดยที่ช่างฝีมือกิลโยเช่ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีจึงสามารถสร้างสรรค์ลวดลายรูปทรงเรขาคณิตได้หลากหลาย นาฬิกา Breguet แทบจะทุกเรือนจะตกแต่งด้วยเทคนิคกิลโยเช่ ไม่ว่าจะเป็นที่หน้าปัด ตัวเรือน โรเตอร์ เมนเพลท หรือบริดจ์
นอกจากนี้ สามารถยลโฉมเทคนิคการตกแต่งแบบอื่นๆได้บนหน้าปัดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขัดเงากรงทูร์บิญง หน้าปัดย่อยแสดงนาทีที่ปัดลายซันเบิร์สที่บริดจ์ลวดลายก้นหอย หรือเฟืองและบาร์เรลตขัดลายซาตินด้วยเทคนิคแบบปัดวน รวมถึงการตกแต่งแบบเนื้อทราย หรือ circular graining ที่แนวข้างของเมนเพลตแบบหมุน
การแกะสลัก
การแกะสลักลวดลายที่ด้านหลังกลไกต้องใช้เวลานานกว่าร้อยชั่วโมง รายละเอียดงานแกะสลักชวนให้นึกถึงสถานที่ที่เป็นจุดกำเนิดของแบรนด์ Breguet โดยเหล่าช่างฝีมือของ The Manufacture สลักรูปต่างๆ ด้วยมือ เป็นรูปเวิร์คชอปของ Abraham-Louis Breguet (อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์) ซึ่งตั้งอยู่ที่ 39 Quai de l'Horloge (คเว เดอ ออค์ลอจ์) ผ่านการมองจากมุมสูง โดยใช้หลากหลายเทคนิคในการสร้างสรรค์แผ่นทองคำให้เกิดเป็นภาพที่มีมิติ ที่เห็นเด่นชัดคือการสลักแกะลายแบบนูนสูงที่ต้องดุนเนื้อทองให้นูนขึ้นจนด้านในโหว่ ส่วนพื้นผิวถนนเกิดจากการใช้อุปกรณ์ปลายแหลมมาแกะลายเส้นขนาดเล็กละเอียด สีเทาเกิดจากการใช้โรเดียมสีดำและเทา ซึ่งสีเทาเฉดนี้นำมาใช้กับบริดจ์ที่ใช้เทคนิคการเคลือบแบบ galvanic (กัลวานิค) ด้วย
บรรดาช่างฝีมือของ Breguet ได้ฝึกฝนความสามารถอันเยี่ยมยอดนี้เพื่อสืบสานสุนทรียศาสตร์ของแบรนด์ และในขณะเดียวกันแต่ละคนก็มีสไตล์ในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับงานฝีมือ ทั้งการสลักลาย (engraving), การสลักนูนสูง (relief engraving), การสลักลงบนวัสดุเนื้อแข็ง (intaglio engraving) ต่างก็เป็นเทคนิคการแกะสลักชั้นสูงที่แบรนด์นำมาสร้างสรรค์ผลงานอยู่บ่อยๆ
ศิลปะการลบคม (Chamfering)
สำหรับ Breguet ชิ้นส่วนกลไกทุกชิ้น ไม่ว่าจะเล็กแค่ไหน หรือแม้แต่ชิ้นที่ไม่ได้อวดโฉมให้เห็นก็ตาม ล้วนผ่านการตกแต่งด้วยศิลปะการลบคม และขัดขึ้นเงาทั้งสิ้น และนาฬิกาทูร์บิญงคู่เรือนนี้ก็เช่นกัน
การสร้างเหลี่ยมมุมมากมายทั้งด้านในและด้านนอกนั้นล้วนเป็นงานทำมือทั้งสิ้น นับเป็นเอกลักษณ์ของ Haute Horlogerie หรือศิลปะเรือนเวลาชั้นสูงอย่างแท้จริง ที่ต้องใช้เวลากว่าร้อยชั่วโมงในการรังสรรค์กลไกเหล่านี้ขึ้น รวมไปถึงความแม่นยำที่ไม่มีเครื่องจักรใดจะสามารถลอกเลียนแบบได้ ซึ่งวิธีการนี้เป็นศิลปะที่ชูความโดดเด่นของการขัดแต่งอันงดงามอย่างแท้จริง
บาร์เรลบริดจ์ปัดลายซาติน สลักตัวอักษร "B" มาจาก Breguet และขัดเงาแบบ round-off ที่เรียกว่า poli-berçé (โปลี-แบซ) ช่างฝีมือจะแต่งมุมชิ้นส่วนต่างๆ ด้วยมือโดยใช้เทคนิคหลากหลายเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่สวยงามเป็นพิเศษ เช่น polished angles, satin-brushed flanks, straight graining และ poli-bercé ซึ่งสามารถชมความงดงามเหล่านี้ได้ในกลไกทุกๆ ชิ้น
เทคนิค chamfering หรือเรียกอีกอย่างว่า bevelling เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ขนาดที่ว่า Breguet ได้ยกระดับให้เป็นศิลปะแขนงหนึ่งเลยทีเดียว เทคนิคนี้ต้องอาศัยความมุมานะขั้นสูง ต้องตะไบเหลี่ยมมุมคมๆ ของชิ้นส่วนกลไกต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปทรงชัดเจนและยังต้องให้ดูเงางามเล่นแสงอีกด้วย
การขัดเงาจะต้องขัดให้ทุกชิ้นส่วนขึ้นเงาในระดับเดียวกัน โดยไม่มีโค้งหรือเหลี่ยมใดๆ มุมด้านในจะต้องเป็นเส้นเรียบเนียน ให้มีจุดที่สองมุมมาบรรจบกันได้ การเรียนการสอนศิลปะอันยอดเยี่ยมแขนงนี้ได้สูญหายไปหมดแล้ว Breguet จึงมุ่งมั่นที่จะฝึกฝนผู้เชี่ยวชาญศิลปะแขนงนี้ด้วยตนเองเพื่อสืบสานศิลปะสาขานี้ต่อไป โดยช่างฝีมือจะใช้เครื่องมือหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นตะไบ, อุปกรณ์ขัด และแท่งไม้ที่ทำจากไม้หลากชนิด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการลบมุมระดับชั้นครูได้นำไปประยุกต์ใช้กับชิ้นส่วนต่างๆ
ถามตอบกับ Lionel a Marca (ลิโอเนล อา มาร์คา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Montres Breguet
เหตุใด Breguet จึงอยากจะสืบสานศิลปะการทำนาฬิกาต่างๆ ที่แทบจะสูญหายไปแล้ว?
ลิโอเนล อา มาร์คา: ถ้าจะมีแบรนด์ไหนสักแบรนด์ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้อนุรักษ์โลกของศิลปะเหล่านี้ ก็เห็นจะต้องเป็น Breguet ครับ ซึ่งเรามีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมายาวนานกว่า 250 ปี อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ เป็นผู้ริเริ่มการรังสรรค์นาฬิกายุคใหม่ และเมื่อทางสวอตช์ กรุ๊ปได้เข้าซื้อกิจการ Nicolas G. Hayek (นิโคลัส จี. ฮาเยค) ได้ทำให้เทคนิค กิลโยเช่ที่ถูกลืมเลือนไปแล้วกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง ปัจจุบันแบรนด์มีเวิร์คชอปกิลโยเช่ที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมนาฬิกา และเรายังฝึกสอนช่างฝีมือเองแบบ in-house เนื่องจากศิลปะหลายๆ แขนงนั้นไม่มีสถาบันไหนสอน การสืบสานมรดกทางศิลปะนี้เป็นสิ่งสำคัญหากเราจะมุ่งมั่นพัฒนานาฬิกาสำหรับอนาคตครับ
ในขณะที่เรากำลังพูดถึงเรื่องศิลปะกันอยู่ Breguet ก็เป็นทั้งผู้ผลิตนาฬิกาแบรนด์แรกรวมถึงผู้ริเริ่มในการรังสรรค์กลไกขึ้นเองทั้งหมด
ลิโอเนล อา มาร์คา: สำหรับ Breguet แล้ว เราผลิตกลไกขึ้นเองทั้งหมดที่ Manufacture ของเราใน Vallée de Joux (วาลเลย์ เดอ ฌู) ในเวิร์คชอป Hautes Complications หรือเวิร์คชอปกลไกขั้นสูงของเรา เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการรังสรรค์คาลิเบอร์โดยเฉพาะ ที่ต้องอาศัยประสบการณ์อย่างมาก เช่นกลไก Tourbillon (ทูร์บิญง), Equations of Time (กลไกคำนวณค่าเวลาเฉลี่ยจากการเปลี่ยนมุมโคจรของดวงอาทิตย์) และ Minute Repeaters (ระบบบอกเวลาด้วยเสียง) นอกจากนี้ เรายังมีเวิร์คชอปสำหรับซ่อมนาฬิกาโบราณซึ่งช่างของเราก็ต้องฝึกฝนทักษะที่ใช้กันในสมัยก่อนด้วยเช่นกัน ความมุ่งมั่นในความเป็นเลิศนี้สะท้อนถึงความตั้งใจของเราที่ต้องการให้เกียรติทั้งลูกค้าของเราและประวัติศาสตร์ของแบรนด์ครับ
ในปี 1801 อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ ได้เผยโฉมนาฬิกาพกที่ใช้กลไกทูร์บิญง มาตอบโจทย์ปัญหาเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก และทำให้นาฬิกาเดินได้อย่างเที่ยงตรงขึ้น จนมาวันนี้กลไกนี้ไม่ได้ช่วยเรื่องความเที่ยงตรงของนาฬิกาอีกต่อไป แต่ก็ยังคงเป็นที่น่าหลงใหลกันอย่างมาก คุณจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร?
ลิโอเนล อา มาร์คา: ปัจจัยหลักอยู่ที่ศิลปะการรังสรรค์ความงดงามของแก่นนาฬิกา ฝีมือและเทคนิคการสร้างสรรค์ และความน่าหลงใหลของมันครับ การมองดูการทำงานของทูร์บิญงก็เหมือนกับดูหัวใจของคนที่กำลังเต้น ยิ่งไปกว่านั้นเรือนเวลาเป็นสิ่งที่คนปรารถนาจะได้ครอบครอง และเป้าหมายของเราคือการสร้างความอัศจรรย์ใจ และทำให้นาฬิกาคือความใฝ่ฝันของผู้คน มันก็ดูเป็นความท้าท้ายดีใช่ไหมครับ?