5 บริการสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์ในไทย: เทียบราคาและจุดเด่นโดนใจ - Forbes Thailand

5 บริการสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์ในไทย: เทียบราคาและจุดเด่นโดนใจ

บริการสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์ในไทยไม่ได้เป็นเรื่องใหม่มากอีกแล้ว แต่การเข้ามาเปิดตัวของ Spotifyบริการสตรีมมิ่งเพลงระดับโลกก็สามารถทำให้เกิดกระแสเล็กๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเป็นบริการที่มีคนใช้งานอยู่แล้วกว่า 140 ล้านคนและกลายเป็นหนึ่งในมาตรวัดมาตรฐานความ ‘ดัง’ ของศิลปินในยุคเทคโนโลยี ทำให้หลายคนรอคอยที่จะทดลองใช้ Spotify

ใครที่อาจจะยังไม่เคยใช้หรือทำความรู้จักกับบริการสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์ อธิบายอย่างง่ายมันคือแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือที่ให้เราเข้าไปเลือกฟังเพลงออนไลน์ได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดเก็บเพลงไว้ในเครื่องเหมือนไฟล์ .mp3 ที่เคยใช้กัน และยังสามารถเปิดฟังบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น เช่น คอมพิวเตอร์ ได้ด้วย โดยแต่ละแอพฯ ก็จะมีวิธีคิดค่าบริการและฟังก์ชันการใช้งานที่ต่างกัน ส่วนฝั่งศิลปินหรือค่ายเพลงก็จะได้รับรายได้จากบริการสตรีมมิ่ง คิดอัตราจ่ายจากยอดการเข้าฟังเพลง ยกตัวอย่างสมมติ 1 บาทต่อ 1 ครั้งการฟัง เป็นต้น สำหรับประเทศไทย เท่าที่สำรวจพบว่ามีบริการสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์ 4 แบรนด์ที่ได้รับความนิยม มีผู้ใช้งานอยู่เดิมจำนวนหนึ่ง รวมกับ Spotify ที่เข้ามาเปิดตลาดเพิ่ม ซึ่ง Forbes Thailand ได้รวบรวมทั้ง 5 แบรนด์มาเปรียบเทียบราคาและฟังก์ชันการใช้งานดังนี้   Apple Music Apple, สหรัฐอเมริกา ราคา 129 บาท/คน/เดือน ระบบฟังฟรี ทำได้เฉพาะฟังก์ชันวิทยุ จำนวนเพลง 30 ล้านเพลง จุดเด่น เพลงสากลจำนวนมาก, ใช้งานง่ายบน iOS, ดีลเปิดตัวเพลงเป็นแห่งแรกจากบางศิลปิน หนึ่งในบริการสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์อันดับต้นๆ ในแง่จำนวนผู้ใช้งานทั่วโลก 27 ล้านคนแม้เพิ่งเปิดตัวในปี 2015 จากข้อได้เปรียบของการต่อยอดแบรนด์ Apple ซึ่งมีสาวกใช้งานระบบปฏิบัติการ iOS อยู่แล้วทั่วโลก ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แม้ในช่วงแรกของการเปิดตัวจะมีจุดบอดที่ไม่มีเพลงไทยให้บริการมากนัก แต่ระยะหลัง Apple Music ได้ดีลเพลงไทยเข้ามาบริการมากขึ้นเรื่อยๆ Apple Music จะมีฟังก์ชันหนึ่งเรียกว่า Beats 1 เป็นวิทยุออนไลน์ช่องพิเศษเฉพาะผู้ใช้แอพฯ นี้ ซึ่งถ้าหากไม่เสียค่าบริการก็จะใช้ได้เฉพาะฟังก์ชันวิทยุ Beats 1 JOOX Tencent, จีน ราคา 129 บาท/คน/เดือน ระบบฟังฟรี จำกัดจำนวนเพลงที่สามารถฟังได้ จำนวนเพลง N/A (ระบุเพียงหลักล้านเพลง) จุดเด่น เพลงไทยและเอเชียจำนวนมาก, ดูเนื้อเพลงได้ บริการสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์ที่เป็นที่นิยมมากในไทยเคียงคู่มากับ Apple Music สำหรับ JOOX เป็นคู่แข่งจากแดนมังกรที่เปิดตัวในปี 2015 เช่นกัน และเลือกทำตลาดในเอเชีย ได้แก่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ทำให้คลังเพลงโดดเด่นกว่าในเรื่องเพลงไทยและเอเชีย ยกตัวอย่างเพลงไทยจากค่ายอาร์เอสซึ่งมักจะหาฟังได้ยาก จะสามารถฟังได้ที่ JOOX ระบบสมาชิกของ JOOX เข้าใจง่าย คือคนที่ไม่ได้เสียค่าสมาชิกเป็น VIP จะเข้าฟังบางเพลงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งเหตุที่ทำให้คนไทยเทความนิยมให้ JOOX เป็นเพราะแอพฯ มีการจัดโปรโมชันสำหรับผู้ที่แชร์เพลงจาก JOOX ลงบนโซเชียลมีเดีย 1 ครั้งจะได้สิทธิเป็นสมาชิก VIP 1 วัน จึงมีผู้ใช้จำนวนหนึ่งยอมแชร์เพลงทุกวันเพื่อให้ได้สิทธิฟรี   Deezer Deezer, ฝรั่งเศส ราคา 155 บาท/คน/เดือน ระบบฟังฟรี เลือกเพลงไม่ได้, มีโฆษณาคั่น จำนวนเพลง 43 ล้านเพลง จุดเด่น เพลงสากลจำนวนมาก หนึ่งในบริการสตรีมมิ่งเพลงแรกๆ ที่เปิดให้บริการบนโลก ก่อตั้งโดย Daniel Marhely และ Jonathan Benassaya ในปี 2007 ที่ประเทศฝรั่งเศส และเข้ามาเปิดตัวในไทยเมื่อปี 2012 โดยจัดโปรโมชันร่วมกับดีแทค คลังเพลงที่มีถูกใจสาวกเพลงสากลแต่ไม่ค่อยตอบโจทย์เพลงไทยและเอเชียมากนัก ระบบการฟังฟรีของ Deezer จะสร้างข้อจำกัดให้ผู้ใช้คือ ต้องเลือกฟังเพลงทั้งหมดใน Playlists ไม่สามารถเลือกฟังเฉพาะเพลงที่ต้องการได้ และจะกดข้ามเพลงได้เพียง 6 ครั้งต่อชั่วโมง รวมถึงมีโฆษณาคั่นเป็นระยะๆ Tidal Aspiro AB, นอร์เวย์ ราคา 179 บาท/คน/เดือน (ระดับ Hi-fi ราคา 358 บาท/คน/เดือน) ระบบฟังฟรี ไม่มี จำนวนเพลง 46 ล้านเพลง จุดเด่น คุณภาพเสียงเทียบเท่าซีดี, ดีลเปิดตัวเพลงเป็นแห่งแรกจากบางศิลปิน Tidal สตรีมมิ่งเพลงแบบนิชมาร์เก็ต ก่อตั้งในปี 2014 จากฝีมือบริษัทนอร์เวย์ชื่อ Aspiro ก่อนที่ในปี 2015 Aspiro จะถูกเทกโอเวอร์โดย Project Panther Bidco บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Jay-Z ศิลปินแรพชื่อดัง Tidal กลายเป็นโครงการที่ Jay-Z ประกาศว่าจะ “ฟื้นฟูคุณค่าให้ดนตรีด้วยบริการที่ศิลปินเป็นเจ้าของ” Tidal จึงเก็บค่าสมาชิกสูงกว่าเพื่อจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ศิลปินได้สูงกว่าบริการสตรีมมิ่งอื่นๆ และราคาที่จ่ายจะมาพร้อมกับคุณภาพเพลงที่ยอดเยี่ยมเทียบเท่ากับซีดี ซึ่งทำให้ Tidal ไม่มีบริการฟรีและไม่มีโฆษณา นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้น Tidal ไม่ได้มีเพียงแต่ Jay-Z แต่ยังมีศิลปินอื่นๆ รวม 16 คน เช่น Beyonce, Madonna, Kanye West, Rihanna, Nicki Minaj, Arcade Fire ฯลฯ ทำให้ Tidal สามารถสร้างดีลพิเศษให้ศิลปินหลายรายเปิดตัวเพลงบน Tidal เป็นแห่งแรกหรือเป็นเพลงที่ฟังได้ที่ Tidal เท่านั้น Spotify Spotify, สวีเดน ราคา 129 บาท/คน/เดือน ระบบฟังฟรี มีโฆษณาคั่น จำนวนเพลง 30 ล้านเพลง จุดเด่น Playlists แนะนำเฉพาะบุคคล บริการสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์ที่มีผู้ลงทะเบียน 140 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก SoundCloud ก่อตั้งในปี 2008 โดย Daniel Ek และ Martin Lorentzon แน่นอนว่า Spotify มีจุดเด่นเรื่องเพลงสากลจำนวนมาก ส่วนการเปิดบริการในไทยจะสามารถดีลเพลงไทยเข้าสู่คลังเพลงได้มากแค่ไหนยังต้องติดตามต่อไป จุดเด่นของ Spotify ที่ทำให้กลายเป็นที่นิยม มาจากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมฟังเพลง เพื่อวิเคราะห์มานำเสนอเพลงและ Playlists เพลงที่เราน่าจะสนใจทุกสัปดาห์ ส่วนระบบการฟังฟรีของ Spotify ผู้ใช้จะต้องอดทนกับโฆษณาที่แทรกขึ้นมาทุกๆ 30 นาที   นอกจากบริการสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์ทั้ง  5 แบรนด์ ยังมีแอพพลิเคชั่นเฉพาะกลุ่มอีกจำนวนหนึ่ง เช่น Melon ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิ่งของเกาหลี ที่คนไทยเข้าไปใช้เพื่อที่จะสนับสนุนศิลปินเกาหลีด้วยยอดคลิกฟังเพลงในแอพฯ หรือแอพฯ ของคนไทยอย่าง “ฟังใจ” ซึ่งเปิดให้ฟังเพลงจากศิลปินอินดี้กันได้ฟรีๆ